เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ใช้หญ้าแฝกเป็นพืชคลุมดิน แปลงปลูกมะม่วงหิมพานต์เพื่อเก็บยอด

          นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมเครือข่ายคนรักษ์แฝกจังหวัดสุราษฎร์ธานี” ภายใต้แนวคิด “รักษ์หญ้าแฝก เทิดไท้องค์ภูมินทร์” จัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนาฯ สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันก่อน

          โดยมีเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างยั่งยืน

          สำหรับโครงการเครือข่ายคนรักษ์แฝก เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เพื่อขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศประมาณ 2,000 คน มีพื้นที่ปลูกหญ้าแฝกรวม จำนวน 1,068 ไร่ สามารถผลิตกล้าหญ้าแฝกได้ประมาณปีละ 6,997,000 กล้า

          และได้มีการขับเคลื่อนดำเนินงานผ่านคณะกรรมการระดับประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายคนรักษ์แฝก 6 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับสมาชิกของเครือข่ายคนรักษ์แฝก การรณรงค์ส่งเสริมการขยายผลการปลูกหญ้าแฝก การพัฒนาการบริหารจัดการเครือข่าย การศึกษาทดลองและจัดทำฐานข้อมูล และการพัฒนาฝีมือหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก โดยมีเป้าหมายเครือข่ายคนรักษ์แฝกสามารถพึ่งตนเองได้ภายในปี พ.ศ. 2561

          สำหรับพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีค่อนข้างมีความโดดเด่นในการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการนำมาปลูกร่วมกับพืชหลากหลายชนิด เพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน ป้องกันการถูกชะล้างของหน้าดินจากน้ำในช่วงหน้าฝน และรักษาความชื้นในช่วงหน้าแล้ง ด้วยการปลูกหญ้าแฝกระหว่างกลางของร่องพืชที่ปลูก เพื่อให้รากช่วยยึดหน้าดิน และนำใบช่วงตัดแต่งมาคลุมโคนต้นพืช ดังกรณีของ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชุมชนทุ่งรังทองของนายโกสนธ์ แจ้งสุวรรณ ที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์เพื่อเก็บยอดจำหน่าย เป็นต้น

          มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชที่ทนแล้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ดูแลง่าย ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่ระบายน้ำดี หน้าดินลึกไม่เป็นดินดาน ไม่เป็นดินด่างจัด หรือกรดจัด สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทยแม้จะเป็นพืชไม้ผลพื้นเมืองของอเมริกาใต้ โดยปลูกกันทั่วไปตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงเปรู ต่อมาได้ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้าง ขวางในทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกา ใต้ ตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตลอดจนถึงทวีปเอเชียในปัจจุบัน

          ในประเทศ ไทยนอกจากมีการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดมาจำหน่ายแล้ว ก็ยังมีการนำมาปลูกเพื่อเก็บยอดจำหน่ายเพื่อการบริโภค อย่างที่หมู่บ้านชุมชนทุ่งรังทอง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี แห่งนี้ ด้วยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้จะนิยมบริโภคยอดมะม่วงหิมพานต์เป็นผักเคียงกับอาหารจึงทำให้มีตลาดรองรับ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อเก็บยอดขายอย่างต่อเนื่องตลอดมาในทุกฤดูกาล และใบพร้อมทั้งยอดอ่อนยังนับเป็นพืชสมุนไพรไทยที่สามารถบรรเทาโรค ต่าง ๆ เช่น ท้องร่วง บิด และริดสีดวงได้อีกด้วย

          และเมื่อมีการปลูกด้วยระบบการรักษาหน้าดินที่ดีด้วยแล้วการเกิดยอดอ่อนพร้อมเก็บแบบสมบูรณ์ตรงตามความต้องการของตลาดก็จะสามารถทำได้ทุกวัน ยังมาซึ่งรายได้ที่แน่นอนของเกษตรกรที่ปลูก


ที่มา  :  http://www.dailynews.co.th

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง