เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
6 ความล้มเหลว สตาร์ทอัพ

          ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า Startup ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ธุรกิจ Startup คือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากการเริ่มต้นทำธุรกิจอื่นๆ ตรงที่ Startup จะมีลักษณะของธุรกิจที่สำคัญคือ การเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดด โดย Paul Graham นักลงทุนเจ้าของบริษัท YCombinator กำหนดเกณฑ์เลือกจะลงทุนกับ Startup ที่สามารถเติบโตได้ในระดับ 5-7% ต่อสัปดาห์ ซึ่งหากเติบโตน้อยกว่านั้นถือว่าธุรกิจยังไม่โตหรืออาจจะไปไม่รอด

          และ Startup มักใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรม โดยมี Business Model ใหม่ๆ เช่น Facebook, Airbnb, Uber/Grab Taxi, OOKBEE เป็นต้น

          นอกจากนี้ Startup ยังมีกลยุทธ์การถอนตัวจากธุรกิจ (Exit Strategy) เมื่อพอใจในผลตอบแทนที่ได้จากธุรกิจ เช่น Ensogo เริ่มต้นด้วยเงินทุนเพียง 10 ล้านบาทแต่มูลค่าหลังจากการทำ Exit มีมูลค่าก้าวกระโดดสูงถึง 1.8 พันล้านบาท

          และ Startup หาเงินลงทุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) เช่น OOKBEE มีการระดมเงินจากนักลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ ซึ่งมีการขายหุ้นออกเป็นระยะหรือที่เรียกว่า Series A ไปสู่ Series B และ C ตามลำดับ โดยการขายในแต่ละระยะมูลค่าของธุรกิจจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

          ผศ.ดร.ลัดดาวัลย์ เลขมาศ ผู้อำนวยการศูนย์ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจ Startup ในประเทศไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดด ข้อมูลสถิติ Tech Startup ในประเทศไทยจากรายงาน Thailand Tech Startup Ecosystem Q2 Report 2016 โดย Techsauce พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการเติบโตของธุรกิจ Startup มีอัตราการเติบโตของจำนวน Startup ในไทยที่ได้รับเงินทุนเพิ่มขึ้นถึง 29 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากจำนวนเพียง 3 รายในปี 2555 มาเป็นมากกว่า 71 ราย ในเดือนมิถุนายน 2559 และตัวเลขเงินลงทุนที่ Startup ไทยสามารถระดมทุนได้สูงถึง 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจากจำนวนเพียง 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

          อีกทั้งในปี 2555 ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญและสนับสนุนส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Start Up Committee) และจัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนกับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยมีวงเงินลงทุนเริ่มแรก 3,000 ล้านบาท โดยมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับวิสาหกิจเริ่มต้น เช่น การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจเริ่มต้น การจัดหาแหล่งเงินทุน การบ่มเพาะให้คำปรึกษา การจัดอบรมให้ความรู้ การจัดเวทีประกวดวิสาหกิจเริ่มต้นระดับชาติเป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการขยายตัวของ Startup แบบก้าวกระโดด แต่ก็มี Startup เป็นจำนวนมากที่ล้มเหลว ซึ่งจากการสำรวจ Startup จากหลายสำนัก อาทิ CB Insights, ArcticStartup and CoFounder magazine, Forbes เป็นต้น ต่างพบว่า อัตราความล้มเหลวของ Startup มีมากถึง 90% ซึ่งล้วนมีปัจจัยที่เหมือนกันที่ทำให้ Startup ล้มเหลว

          ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ Startup ควรพิจารณาถึงความผิดพลาดที่พบจาก Startup ที่เคยล้มเหลวมาก่อนแล้วนำมาปรับใช้เป็นบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจ

          1. การขาด Teamwork ที่ดีสิ่งท้าทายที่สุดของ Startup คือการมีทีมที่ดี

          การที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จนั้น Startup จำเป็นต้องมีทีมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่นอกจากจะมีทักษะความสามารถที่หลากหลายแล้ว ยังต้องมีกระบวนการทางความคิด หรือ Mindset ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ การใช้แนวทางการทำการตลาดใหม่ๆ การเปลี่ยนไปทำธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆ การ Rebrand ธุรกิจ หรือเลิกทำธุรกิจเดิมและเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่

          นอกจากนี้ การไว้วางใจกัน การมีอิสระในการตัดสินใจในการทำงานที่ตนเองรับผิดชอบ และการนำจุดแข็งของแต่ละคนมาช่วยลดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน ก็ช่วยให้ธุรกิจสามารถแก้ไขปัญหาและเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อต้องเจอกับสภาวะการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นไปดังคาดหวัง

          2. ผลิตภัณฑ์และบริการไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

          บางครั้ง Startup นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยังไม่เห็นความต้องการในตลาดที่ชัดเจน เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คนจะยอมจ่ายเงิน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ Startup พบกับความล้มเหลว เพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ กลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

          สาเหตุของความผิดพลาดก็คือ ไม่ได้พูดคุยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ถึงสิ่งกำลังจะทำ แล้วถามพวกเขาว่าจะใช้หรือไม่ รวมถึงไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าและความต้องการในผลิตภัณฑ์/บริการให้มากพอก่อนที่จะลงมือทำ จึงทำให้ไม่เข้าใจความต้องการของตลาดที่แท้จริง  3. ขาดเงินทุนที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ธุรกิจจำนวนมากล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจได้ ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาหมุนเวียนให้ธุรกิจดำเนินอยู่ต่อไปได้

          การเริ่มต้นธุรกิจด้วยการมี Business Model ที่ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ความสามารถในการบริหารจัดการกระแสเงินสดก็เป็นสิ่งสำคัญที่ Startup จะต้องมีเช่นเดียวกัน การระดมทุนเป็นขั้นตอนที่ยากและ Startup ส่วนมากมักพลาดในขั้นตอนนี้ เพราะเมื่อ Startup สามารถระดมทุนมาได้ แต่กลับไม่สามารถสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้ ก็เป็นอุปสรรคต่อการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดได้

          นอกจากนั้น ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดของ Startup คือ การใช้เงินมากเกินไปขาดการควบคุมค่าใช้จ่าย และยังไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนก้อนใหม่ได้เมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่สามารถที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าได้ตามเป้าหมาย ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่เพิ่มเงินลงทุนในธุรกิจอันจะส่งผลให้ Startup ต้องปิดกิจการลงเพราะไม่มีเงินทุนที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

          4. ไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ Startup อาจจะประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ แต่กลับพบกับความล้มเหลวเมื่อไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ซึ่งเกิดจากการที่ Startup มี Business Model สำหรับตลาดที่มีขนาดใหญ่ไม่พอที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ก็จะส่งผลให้ธุรกิจอาจไปไม่รอด ดังนั้น Startup จะประสบความสำเร็จได้นั้น ขนาดของตลาดต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่จำเป็นคือ Startup ต้องมีความยืดหยุ่น อย่ายึดติดกับเป้าหมายเดิมมากเกินไปจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ปรับเปลี่ยนทิศทางและความคิดเกี่ยวกับธุรกิจให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของตลาด

          5. ไม่เข้าใจถึงสภาพการแข่งขันที่แท้จริงของธุรกิจ

          สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจ Startup ล้มเหลวคือ การเชื่อว่าแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองดีที่สุดแล้วจึงลงมือทำ โดยขาดการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาวิเคราะห์คู่แข่งและสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม

          Peter Thiel เจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนักลงทุนในธุรกิจ Startup ได้เสนอแนะว่า Startup ควรพิจารณาให้ลึกซึ้งว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่มีคนอื่นทำจริงหรือไม่ หรือถ้ามีคนอื่นทำอยู่แล้วหากยังไม่ดีพอ จะสามารถทำสิ่งไหนที่แตกต่างและเหนือกว่าคนอื่นในตลาดได้หรือไม่ 6. การเพิกเฉยต่อความต้องการของลูกค้า การไม่ได้ทดสอบตลาดอย่างจริงจังที่มากพอก็จะไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีได้ ซึ่งการขาดการประเมิน ติดตาม และตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากลูกค้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของตลาดและเกิดการซื้อในปริมาณที่สูงได้

          Startup ที่ดีมักเริ่มจากสิ่งที่ผู้ก่อตั้งมี Passion ที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ดังนั้น ควรนำความคิดเกี่ยวกับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์/บริการที่ต้องการสร้างขึ้นมา ไปทดสอบกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและมุ่งทำให้สิ่งเหล่านั้นออกมาให้ดีเยี่ยมที่สุด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในความล้มเหลวของธุรกิจลงได้

          "ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดของ Startup คือ การใช้เงินมากเกินไป ขาดการควบคุมค่าใช้จ่าย และยังไม่รู้ว่าจะหาเงินทุนก้อนใหม่ได้เมื่อไร"

          แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ แต่กลับพบกับความล้มเหลวเมื่อไม่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้


ที่มา  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 13 ต.ค. 59  หน้า 26

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง