เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
หนุนเกษตรกรไทย เคลื่อนสู่ยุค 4.0

           ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ที่ผลักดันให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งแนวทางสนับสนุนพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแล

          วินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงได้ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐ ที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ โดยเน้นส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของภาคเกษตรกร ผลักดัน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี โดยเริ่มนำร่องสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ เช่น ปาล์มน้ำมันและผักผลไม้

          อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการศึกษายุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตรไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า ไทยไม่ได้มีปัญหาทางด้านการผลิต แต่มีปัญหาทางด้านการตลาด โดยทางออกสินค้าเกษตรกรไทยต้องแปรรูปเท่านั้น พร้อมเสนอ 3 สินค้าเกษตรแปรรูปต้นแบบ คือ มะพร้าว ข้าว และทุเรียน เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

          โดยจากข้อมูลในปี 2557 มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรมีมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท และมูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท โดยในปี 2558 การส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปมีมูลค่า 3.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า หากสามารถ เพิ่มสัดส่วนสินค้าเกษตรแปรรูปใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ขึ้นอีก 10% จะส่งผลให้มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปมีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 40% ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมประเทศ (จีดีพี) ไทยโตขึ้น 1.32%

          พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 2 สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เช่นเดียวกันกับการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับใช้ในนโยบายหลายด้าน ใช้อี-กัฟเวอร์เมนต์ การให้บริการผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำข้อมูลให้ถึงมือเกษตรกรได้ง่ายขึ้น โดยจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม ผลักดันสินค้าเกษตรที่มีนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าในเศรษฐกิจได้

          จันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลักได้แก่ 1.พัฒนาบุคลากรทางการเกษตร และสถาบันทางการเกษตร ผลักดันสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ สมาร์ทกรุ๊ป และสมาร์ทออฟฟิศ 2.พัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน ให้เหมาะสมในการพัฒนา เน้นสร้างมาตรฐานสินค้า 3.พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้งานวิจัยและพัฒนาเกษตรนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม 4.พัฒนานวัตกรรม

          พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การผลักดันสินค้าเกษตรในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้ดำเนินผ่านศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือเอบีซี ภายใต้การดูแลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยเน้นสนับสนุนเกษตรกรที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกที่จำกัดด้วยดิจิทัลฟาร์มมิ่ง รวมถึงสนับสนุนกลุ่มนักธุรกิจการเกษตร เน้นการสนับสนุน ไบโอ เทคโนโลยี พัฒนาฟาร์ม รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมกิจการของสังคม ซึ่งทางสำนักงานได้มีการสนับสนุนเงินทุนการพัฒนาใน 2 รูปแบบ คือ 1.เงินทุนแบบให้เปล่า แก่อาจารย์และมหาวิทยาลัย สร้างงานวิจัยเพื่อการพัฒนา 2.การแมตชิ่งฟาร์มมิ่ง จับคู่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อการพัฒนาทางธุรกิจ

          ทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ภาคเกษตรของไทยเคลื่อนไปสู่การพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพภายใต้ยุคไทยแลนด 4.0


ที่มา  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 13 ต.ค. 59  หน้า B3