เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สศก.เปิดตัวแอพพลิเคชั่นOAE RCMOกระดานเศรษฐี-ชี้ช่องรวยให้เกษตรกร

          นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลข้อมูลทางเศรษฐกิจการเกษตร ได้พัฒนาข้อมูลสารสนเทศการเกษตรและการให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรสู่เกษตรกร ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น OAE RCMO (โอเออี อาร์ซีโม) หรือ "กระดานเศรษฐี" ซึ่งเป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ ที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน ทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยเกษตรกรสามารถคำนวณต้นทุนการผลิตพืช ปศุสัตว์และประมงได้เอง เช่น ค่าแรง/ค่าจ้าง ค่าวัสดุ ค่าเช่าที่ดินต่อฤดูกาล ค่าเสียโอกาส เมื่อนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับรายได้จากราคาที่เกษตรกรขายผลผลิต จะทำให้ทราบถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ถ้าผลตอบแทนเป็นบวกหมายถึงเกษตรกรจะเป็นเศรษฐีเพราะมีกำไร แต่ถ้าผลตอบแทนเป็นลบคือใกล้จะจนเพราะขาดทุน หรือผลตอบแทนคงที่หมายถึงพออยู่ได้เสมอตัว เมื่อทราบเช่นนั้นเกษตรกรก็สามารถที่จะปรับลดต้นทุนหรือวิธีการผลิตบางด้านลงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นแทน

          นอกจากนี้ ในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ยังมีข้อมูลแนะนำว่าพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกพืช ปศุสัตว์ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยแบ่งเป็นเขตการทำเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม หรือ โซนนิ่ง (Zoning) ตั้งแต่เหมาะสมระดับสูง (S1) ไปจนถึงไม่เหมาะสม (N) เบื้องต้นได้จัดทำข้อมูลพืชรวม 37 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 4 ชนิด แต่หากเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมก็มีข้อแนะนำสำหรับปลูกพืชทำการเกษตรชนิดอื่นที่เหมาะสมแทน ที่สำคัญยังมีข้อมูลของแหล่งรับซื้อและราคารับซื้อผลผลิต เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ก่อนเริ่มต้นการผลิตในแต่ละฤดูกาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนนโยบายของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน พัฒนาเกษตรกรสู่เกษตรกรสมัยใหม่ ที่มีการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

          อย่างไรก็ตาม นอกจากการพัฒนาการให้บริการข้อมูลผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่น OAE RCMO ในสมาร์ทโฟน แล้ว สศก.ยังได้จัดทำข้อมูลผ่านช่องทางปกติเพื่อให้ง่ายต่อ ความเข้าใจและเข้าถึงเกษตรกรทุกระดับมากขึ้น คือ กระดานเศรษฐี ในรูปแบบโปสเตอร์บรรยายขั้นตอนและวิธีการคำนวณต้นทุนการผลิตอย่างละเอียด โดยขณะนี้ได้นำไปติดตั้งไว้ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นำร่อง 100 ศูนย์ และจะทยอย ติดตั้งให้ครบทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งจะมี เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ที่ประจำแต่ละ ศพก. เป็นผู้ให้คำแนะนำเกษตรกร ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบว่าต้นทุนการผลิตของตนเองสูงเกินไปในด้านใด เช่น ต้นทุนปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ยเคมีสูงก็สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ก็สามารถหาคำแนะนำหรือวิธีการทำปุ๋ยใช้เองได้จากที่ ศพก.ได้ทันที เนื่องจาก ศพก.เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้จากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรสามารถไปขอรับบริการและเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ณ จุดเดียว

          "จากการทดลองนำกระดานเศรษฐี ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ 4 อำเภอ ของ 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี และอุดรธานี พบว่าเกษตรกรให้การยอมรับเป็นอย่างดี อีกทั้งมีข้อเสนอแนะให้ขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ สศก.จะเร่งขยายผลให้ครบทุกจังหวัดเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างต่อไป เนื่องจากวิธีการคำนวณต้นทุนการผลิตในกระดานเศรษฐีจะถูกนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลค่าเฉลี่ยของ สศก.ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ส่งผลให้เกษตรกรทราบถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริง เกษตรกรจะได้เรียนรู้หรือตัดสินใจปรับลดหรือเพิ่มเติมด้านใด เพื่อให้มีกำไรได้เป็นเศรษฐี เพราะเราต้องการให้เกษตรกรไทยทุกคนร่ำรวยนั่นเอง เกษตรกรที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น OAE RCMO ได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป" นายคมสัน กล่าวย้ำ

          ทั้งนี้ สศก. ยังเปิดตัวอีกแอพพลิเคชั่นคือ โอเอซี โอไอซี (OAE OIC) ให้บริการข้อมูลด้านการผลิต การตลาด และด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์ต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตร รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร เกษตรกรจะทราบว่าช่วงเวลาใดมีผลผลิตสินค้าเกษตรชนิดใดออกมาจำหน่าย และสามารถวางแผนการผลิตได้ ช่วยลดการกระจุกตัวและแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำได้ ที่สำคัญเกษตรกรยังสามารถคำนวณระยะทางจากไร่นาไปยังแหล่งรับซื้อได้ และสามารถรู้ราคาที่จุดรับซื้อต่างๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและตัดสินใจในการนำผลผลิตไปจำหน่ายต่อไป

          บรรยายใต้ภาพ

          คมสัน จำรูญพงษ์

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 กันยายน 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง