เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สหกรณ์ดิ้นไม่หลุด จับโยกซุกปีกคลัง

          ก้าวแรกการเริ่มดึงสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้จัดตั้ง "ธนาคารสหกรณ์" ต่อไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสั่งการให้ตั้งให้เสร็จภายใน 9 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผ่านมากว่า 3 เดือนแล้วยังไม่คืบ ซึ่งการจะเริ่มตั้งธนาคารสหกรณ์จะต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลกระทรวงการคลัง เพื่อที่จะเห็นไส้ใน และลงมือสะสางปัญหา ผ่าตัดปัญหาสหกรณ์ให้สะอาดเสียก่อน

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการทางการเงิน โดยสาระสำคัญคือ จะมีการจัดตั้งองค์การกลางพิเศษภายใต้ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการทางการเงิน (คกง.) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คล้ายๆ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีการดูแลธุรกิจประกันวินาศภัยและธุรกิจประกันชีวิต ที่แยกตัวมาจากกระทรวงพาณิชย์

          ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องร่างกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน โดยตัวแทนหลักของกลุ่มสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (ชสค.) สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (ชสค.) ได้รวมตัวคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะโยกสหกรณ์ไปอยู่ภายใต้องค์กรใหม่ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจสอบสหกรณ์ ทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่แล้ว หากต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานสหกรณ์ก็สามารถที่จะออกกฎระเบียบใหม่ได้ พร้อมทั้งประกาศชัดว่า หากกระทรวงการคลังยังคงผลักดันกฎหมายนี้ จะมีการนัดระดมพลสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อคัดค้านกฎหมายดังกล่าว

          แต่ทว่ากลุ่มสหกรณ์จะคัดค้านอย่างไรก็ตาม แต่กระทรวงการคลังก็ประกาศชัดที่จะเดินหน้าผลักดันกฎหมายนี้

          กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อนำเป็นข้อมูลในการดำเนินการที่จะเข้ามากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยจะสรุปความเห็นเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป และการมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น เพื่อให้ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจ รวมถึงนักลงทุนด้วย

          "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องยอมรับในหลักการก่อนว่า การกำกับดูแลสหกรณ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบ และประชาชนผู้ฝากเงิน ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะอยู่ภายใต้การกำกับของใครเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไม่ควรออกมาคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย" กฤษฎา กล่าว

          ย้อนไปดูสาเหตุที่ต้องการให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมาอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานที่ดูแลระบบสถาบันการเงินโดยตรงนั้น ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ว่าอดีตผู้ว่าการ ธปท. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ต่างก็มีความเห็นตรงกันที่เป็น "ห่วง" สหกรณ์ออมทรัพย์

          ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งเป็นแหล่งระดมเงินฝากและปล่อยกู้ให้กับสมาชิกรายย่อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งหากเกิดปัญหาจะเป็นจุดระเบิดความเสี่ยงระบบเศรษฐกิจไทยได้

          จุดชนวนสำคัญที่มีการหยิบยกการปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์ใหม่ขึ้นมา ก็ต้องยกให้กรณีจากความเสียหายที่เกิดขึ้นใน "สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น" ผู้บริหารฉ้อโกงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลสะเทือนกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งระบบ ความบิดเบี้ยวของโครงสร้าง และการบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาล ถึงเวลาที่จะต้องเข้ามาสะสางสหกรณ์ทั้งระบบ

          โดยที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับในประสิทธิภาพการกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจสอบสหกรณ์  ไม่มีความชำนาญตามไม่ทันกับธุรกิจการเงิน อีกทั้งกรมทั้งสองมีหน้าที่ดูแลสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท ซึ่งอาจจะทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง

          จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ ที่มี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธาน นำเสนอรายงานพิจารณาศึกษาเรื่อง "การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน" โดยระบุว่าปัญหาสำคัญของสหกรณ์ฯ เกิดจากขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงิน ขณะที่บางแห่งมุ่งขยายกิจการเชิงพาณิชย์โดยขาดความเชี่ยวชาญความชำนาญทำให้ประสบปัญหาการดำเนินงาน มีการทำธุรกรรมระหว่างกัน ทั้งในรูปของการรับฝากจากสหกรณ์อื่นและการให้กู้ระหว่างกัน รวมถึงการนำเงินไปลงทุนภายนอก

          รายงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประจำปี 2558 ให้ข้อมูลว่า มีสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่จดทะเบียน 2,036 แห่ง แบ่งเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,448 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 588 แห่ง มีสินทรัพย์รวม 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินลงทุนระยะยาว 0.22 ล้านล้านบาท ลูกหนี้ระยะยาว 1.51 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 82% ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียน 0.39 ล้านล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเสี่ยงอันเกิดจากการขาดสภาพคล่องได้

          สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 สหกรณ์ออมทรัพย์มีผลกำไรสุทธิ 65,293 ล้านบาท ขณะที่มีผลขาดทุนสะสม 1,243 ล้านบาท สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีผลขาดทุนสุทธิ 1,882 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสม 15,424 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ มีสมาชิกจำนวนมาก ที่สำคัญเกิดการทุจริตโดยกรรมการและผู้บริหาร

          ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการปฏิรูปสหกรณ์ โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมากำกับดูแลโดยเฉพาะ รวมทั้งเสนอให้นำระบบไอทีมาใช้บริหารภายใน และใช้ทำธุรกรรมของสมาชิก สร้างความเชื่อมโยงระบบของสหกรณ์เข้ากับเครือข่ายของธนาคาร เพื่อนำระบบสหกรณ์เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการชำระเงินของประเทศผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนฐานรากในพื้นที่ห่างไกลสามารถโอนเงินและชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงบริการภาครัฐและสวัสดิการต่างๆ ได้สะดวกขึ้น พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงิน อาทิ จัดตั้งกองทุนการออมเพื่อการศึกษาของบุตร กองทุนการออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพตลอดชีพ

          อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วแรงต้านกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่จะดื้อดึงไม่ยอมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ก็คง "ยิ่งดิ้น ยิ่งเจ็บตัว" ขู่มาประท้วงก็คงยาก ต้องถูกจับไปปรับทัศนคติกันใหม่ เพราะยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาทุบโต๊ะ และเปิดไฟเขียวสั่งการด้วยตัวเองอย่างนี้แล้ว อย่างไรไม่ช้าก็คงได้เห็นกฎหมายดึงสหกรณ์เข้าอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังเสร็จภายใน 3 เดือนนี้อย่างแน่นอน

          หากรัฐบาลชุดนี้ไม่เดินหน้าที่จะปฏิรูปสหกรณ์อย่างจริงจังแล้ว ในที่สุดก็คงรอวันระเบิดเท่านั้น เพราะทุกวันนี้แค่ปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นล้ม ก็ยังลากสหกรณ์ทั้งระบบล้มลุกคลุกคลานกันตามไป และนั่นหมายถึงการเดิมพันด้วยเงินออมทั้งชีวิตของสมาชิกสหกรณ์กว่า 4 ล้านคนด้วย และยิ่งจะยืดเยื้อรอรัฐบาลใหม่มาผลักดันกฎหมายนี้ต่อก็คงอาจจะมีสิทธิ "ล้มกระดาน" กันใหม่แน่

 

ขอขอขคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 สิงหาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง