เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คอลัมน์: ดิจิทัลสตาร์ทอัพ: Green Save เชื่อมข่ายเกษตรกร 4.0

          ชลณัฏฐ์ พูนชัฏกาญจน์ หัวหน้าทีมผู้พัฒนาโครงการแอพพลิเคชั่น  กรีนเซฟ หนึ่งในทีมสตาร์ทอัพที่ชนะรางวัลการประกวดในโครงการ "Thailand Startup Grand Hackathon 2016" ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เล่าถึงไอเดียธุรกิจที่เห็นพ้องต้องกันกับเพื่อนๆ ในทีมว่าต้องการเทคโนโลยีบริการที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและลดระบบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ในภาคการอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผัก ผลไม้ ภายใต้แนวคิด "กินผักได้เงิน"

          สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ยังจะเชื่อมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สามารถส่งผลผลิตทางการเกษตรตามชนิดที่มาจากเกษตรกรต่างๆ ในชุมชน เพื่อนำมารวมไว้ยังศูนย์กระจายสินค้าในแหล่งที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปได้ทั้งวัด โรงเรียน หรือศูนย์กลางของแต่ละชุมชนนั้นๆ ซึ่งในจุดนี้จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องคนกลางที่เข้ามารับซื้อสินค้าได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงยังมีตลาดรองรับพร้อมกันด้วย จากเดิมที่กลุ่มเกษตรกรอาจมีความกังวลในการเป็นผู้หาตลาดเอง จึงทำให้ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง

          ขณะที่ในระยะต่อไปได้มองไปสู่การขยายสินค้าเกษตรกลุ่มพืช ผัก  ผลไม้ อินทรีย์ (ออร์แกนิก) ที่จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าสู่วงจรซัพพลายสินค้าดังกล่าวมากขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาใส่ใจการรับประทานอาหารปลอดสารปนเปื้อนเคมีมากขึ้น หากมีตลาดรองรับสินค้ากลุ่มนี้แล้วก็เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากลด้วย

          "เมื่อสินค้าเกษตรต่างๆ นำมาพักไว้ที่ศูนย์แล้ว จากนั้นจะถูกส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงที่เข้ามารับซื้อ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบสมาชิกรายเดือน หรือสั่งซื้อได้ทั่วไปแบบรายวัน ในช่องทางเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ทีมพัฒนาขึ้น ที่ทางกรีนเซฟจะจัดทำส่วนลดราคาให้กับลูกค้าตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ที่ตรงกับ คอนเซ็ปต์ธุรกิจด้วย" ชลณัฏฐ์ เสริม

          สำหรับการขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) นั้น จะผ่านผู้ให้บริการเฉพาะด้าน เข่น สกูตเตอร์ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์เหมือนกัน ซึ่งกรีนเซฟกำหนดการจัดส่งไว้ทุกวันโดยแบ่งเป็นรอบๆ เช่น 1 สัปดาห์/ครั้ง/ราย เป็นต้น ที่สินค้าจะถูกนำส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

          พร้อมกันนี้ กรีนเซฟยังมองต่อไปถึงกลยุทธ์การกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาหาซื้อผัก ผลไม้ ภายใต้บริการ กรีนเซฟให้มากขึ้น ด้วยการอิงข้อมูลทางโภชนาการ อัตราการบริโภคผักสด/วัน/คน ควรอยู่ที่ 400 กรัม ซึ่ง เชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

          ขณะที่กลุ่มลูกค้าสามารถมาซื้อสินค้าได้โดยตรงที่ศูนย์กระจาย โดยกรีนเซฟจะมีรายได้ที่มาจากกลุ่มลูกค้าทั้งค้าปลีก/ค้าส่ง กลุ่มลูกค้าสมาชิกรายเดือน และการขนส่งสินค้า ที่อย่างไรจะมีการบวกส่วนต่างกำไรเข้าไปเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามารับสินค้าได้ด้วยตัวเองมากกว่า

          ชลณัฏฐ์ กล่าวว่า ธุรกิจดังกล่าวคาดว่าพร้อมเปิดให้บริการภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนารายละเอียดต่างๆ ด้านเว็บแอพพลิเคชั่น ซึ่งมองว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้สามารถเชื่อมสู่ซัพพลายเชนได้ด้วยตัวเอง และยังเป็นกระแสของเกษตรกรยุคใหม่ใน 3-5 ปีนับจากนี้ ที่จะหันมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นด้วย

          พร้อมวางเป้าหมายในอนาคตที่กรีนเซฟต้องการ คือ การเพิ่มเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ ทั้งวิสาหกิจชุมชน ไปจนถึงผู้ผลิตโอท็อป และเอสเอ็มอี ให้เข้ามาร่วมพัฒนา ไอเดียระบบเครือข่ายร่วมกันได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับสนับสนุนเม็ดเงินจากกองทุน  (เวนเจอร์แคปปิตอล) ต่างๆ

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ชลณัฏฐ์

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 สิงหาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง