เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ทึ่งผลงานเด่น นวัตกรรมรักษาผลไม้สดเพื่อส่งออก

          ในงานแถลงข่าว "10 นวัตกรรมสำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก สู่เป้าหมายเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร" เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เห็นแนวทางส่งเสริมและยกระดับการส่งออกผลไม้สดไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

          รศ.ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ทางคณะมีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติผสมผสานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด SCI+BUSINESS หรือนักวิทย์คิดประกอบการ มุ่งสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการประกอบการอย่างชาญฉลาด

          ที่ผ่านมาทางคณะพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์จำนวนมาก อาทิ ปลาส้มแผ่นปรุงรสสำเร็จรูป, วัสดุกักน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารา, ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์, จมูกอิเล็ก ทรอนิกส์สำหรับควบคุมคุณภาพอาหาร, เครื่องพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว, สารย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว และระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้นด้าน รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยา ศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า นวัตกรรมที่นำมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลไม้ไทยที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ

          ในปี 2559 มีการส่งออกผลไม้สดไทยรวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท มีตลาดหลักในประเทศจีน ฮ่องกง เวียดนาม ในขณะเดียวกันเกษตรกรไทยกลับสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงดิน และปรับคุณภาพผลไม้ เพื่อลดการเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ตลอดจนส่งเสริมให้ผลไม้ไทยแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ทางภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้พัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและรักษาความสดใหม่ของผลไม้สด เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร ได้รับรางวัลนวัตกรรมเหรียญทองจากต่างประเทศหลายรายการ

          ยกตัวอย่าง นวัตกรรม Active Packaging สำหรับลำไยสดไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อการส่งออก ใช้เทคโนโลยีการบรรจุแบบดัดแปลงบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging) และ Active and Intelligent Packing ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับลำไยสด เก็บรักษาลำไยได้นานถึง 4 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน G MP  และ HACCPs ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

          นวัตกรรม Active Packaging สำหรับทุเรียนสด พร้อมบริโภค ผ่านการใช้เทคโนโลยี Active ที่ดูดซับกลิ่นทุเรียนได้ 100% ตัวดูดซับจะมีการดูดซับกลิ่นทุเรียนตลอดเวลา โดยพัฒนาเป็น Active carbon ไม่ปล่อยกลิ่นทุเรียนออกมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิการเก็บรักษาและจัดจำหน่าย

          นอกจากนี้ยังมี ฉลากบ่งชี้ความสด (Freshness Indicator) ให้ผู้บริโภครู้ระดับความสดใหม่ของทุเรียนที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมสำหรับทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ มีการใช้ฟิล์มที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา จนเก็บรักษาความสดใหม่ของทุเรียนได้นานถึง 2 เดือน

          ส่วนนวัตกรรมสภาพบรรยากาศและฟิล์มที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษามะพร้าวน้ำหอมควั่น ผ่านกรรมวิธีลวกด้วยไอน้ำร้อน ก่อนแช่ด้วยสารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ ในปริมาณเข้มข้น 0.9% และบรรจุลงถุงฟิล์มที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้นานถึง 60 วัน ทำให้มะพร้าวมีผิวขาวสะอาด สวยสดกว่ามะพร้าวที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC ซึ่งวางจำหน่ายได้เพียง 30-45 วันเท่านั้น

          สำหรับเกษตรกร ชาวสวน และผู้ประกอบการที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 0-2564-4491

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 12 กรกฏาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง