เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
การประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (1)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

          หลักปรัชญาของ "เศรษฐกิจพอเพียง" หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) เป็นหลักปรัชญา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับคนไทยเพื่อเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิต ที่สำคัญหลักคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ กับคนทุกระดับ ทุกบทบาทในสังคม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจมีความเข้าใจ ผิดว่า หลักการนี้เหมาะสำหรับประชาชนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น หรือไม่เหมาะกับโลกธุรกิจ

          ในการประชุม G-77 ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นโอกาสดีที่หยิบยกหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง นัยต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นมิติที่มีการกล่าวถึงค่อนข้างจำกัด ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการประชุม เพื่อยกระดับความเข้าใจและขยายมุมมองต่อหลักปรัชญานี้ในระดับสากล

          หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและการดำเนินธุรกิจนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.วิกฤตเศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศทำให้เราเห็นและกระตุ้นให้เราคิดถึงอะไร ? 2.หลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเศรษฐกิจมหภาคของ ไทยอย่างไร ? 3.เราสามารถนำหลักปรัชญานี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิมได้อย่างไร ?

          วิกฤตเศรษฐกิจ

          ทั้งในและต่างประเทศ

          หากมองย้อนประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ หลายเหตุการณ์ รวมถึงวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้ฉุกคิดถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือวิกฤตที่เกิดขึ้น และทำให้เราได้หันมาทบทวนถึงวิถีการใช้ชีวิต การดำเนินธุรกิจ หรือการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นบทเรียนในการวางแผนในระยะต่อไป

          ผมอยากกล่าวถึงตัวอย่างบางตอนของภาพยนตร์เรื่อง "The Big Short" บทประพันธ์ของ Michael Lewis ที่เขียนจากเรื่องจริงในปี 2548 (ค.ศ. 2005) ของชาย 4 คน ที่เชื่อว่า มีฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐ และคาดว่า ฟองสบู่นี้จะแตกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสื่อต่าง ๆ ยังมองไม่เห็น พวกเขาจึงพยายามหาทางทำกำไรจากสินทรัพย์ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก (ขาย Short หรือซื้อ Credit Default Swap) ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาลจากราคาสินทรัพย์ที่จะตกลงในอนาคต

          และก็เป็นอย่างที่พวกเขาคาด อีก 2 ปีต่อมาฟองสบู่ในตลาดบ้านของสหรัฐแตก ตามด้วยปัญหาสินเชื่อตึงตัว ซึ่งส่งผล กระทบในวงกว้าง จนเป็นเหตุสำคัญนำไปสู่วิกฤตการเงินโลก

          ผมไม่แน่ใจในความรู้สึกของคนเมื่อได้ ชมภาพยนตร์ดังกล่าว แต่สิ่งที่ประธานาธิบดี โอบามากล่าวกับประชาชนสหรัฐ ในปี 2551 (ค.ศ. 2008) คือสาเหตุที่เกิดวิกฤตครั้งนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนใช้จ่ายเงินเกินฐานะและความสามารถในการหารายได้จริง ผู้บริหารของบริษัทมีความโลภ นักการเมือง ใช้จ่ายเงินทั้งที่รัฐบาลไม่ได้มีเงิน คนปล่อยกู้ หลอกให้คนซื้อบ้าน ทั้งที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ และแย่ไปกว่านั้น คนซื้อบ้าน บางคนรู้ตัวว่าไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ แต่ก็ยังจะซื้อ

          ก่อนวิกฤตพวกเราอยู่ในยุคที่เงินทองเป็นของหาง่าย ถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แทนที่จะเก็บออม แต่ยุคนี้เราต้องวางแผนการใช้เงิน โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของรายจ่าย และมีวินัยในการใช้จ่ายตามแผนที่ วางไว้ การรักษาวินัยเช่นนี้จึงเท่ากับเป็น การส่งเสริมจริยธรรมใหม่ในเรื่อง "ความรับผิดชอบ"

          กลับมาที่ประเทศไทยปี 2540 ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจไทยมีความเจริญรุ่งเรือง จนได้รับการยกย่องเป็น "ตัวอย่างของความสำเร็จ"แต่ทว่า "ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเปราะบาง" เพราะตั้งอยู่บนยอดของ "บันไดเมฆ" เพียงไม่กี่เดือนที่เราถูกโจมตีจากนักเก็งกำไร เงินบาทอ่อนค่าจนต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว มีผลให้ไทยก้าวสู่วิกฤตทางการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ธนาคารและสถาบันการเงินหลายสิบแห่ง ถูกปิด บริษัทหลายร้อยแห่งเผชิญกับภาวะล้มละลาย ประชาชนและชุมชนต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อนทั่วหน้า โดยเฉพาะในยุคนั้นเราแทบไม่มีกลไกทางสังคมที่ช่วยปกป้องหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนนัก

          ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมอบแนวทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

          "...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตนเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง ..."

          "...การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำ รายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่า ถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์..."

          แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมีพระราชดำรัสเตือนพวกเรามา ก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่พวกเรากลับ ไม่เข้าใจ จนกระทั่งปี 2540 พวกเราถึงเข้าใจ ในพระราชดำรัสเตือนของท่านอย่าง ลึกซึ้ง พระราชดำรัสของท่านเสมือน "เสียงระฆัง" ที่ปลุกสติคนไทยให้ตื่น ขึ้น และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้เข้ามาอยู่ใน ความสนใจของสาธารณชนอย่าง จริงจัง จนทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็น ก้าวสำคัญของการแสวงหาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตอย่างสมดุลให้กับประเทศ

          เศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร

          ตั้งแต่ปี 2540 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ แม้แต่การประยุกต์ ใช้หลักปรัชญานี้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทย ซึ่งภายใต้ กรอบของหลักปรัชญานี้มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ความพอประมาณ (Moderation) 2.ความมีเหตุมีผล (Reasonableness) 3.ความมีภูมิคุ้มกันในตน (Prudence)

          ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทย ให้ความสำคัญใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก-การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจจริง(Strengthening Resilience of Domestic Real Sectors) ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คนไทยใช้เงินเกินกว่าฐานะ และศักยภาพที่จะหาได้จริง มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นเกินกว่าที่ควร และมองโลกแง่ดีด้านเดียวจนขาดสมดุล บริษัทหลายแห่งลงทุนมากเกินตัวและก่อหนี้ต่างประเทศมาก แต่โชคดีที่พวกเราเจ็บแล้วจำ

          หลังวิกฤต ภาคธุรกิจและสถาบัน การเงินปฏิรูปและปรับตัวเองอย่างมาก เพื่อให้ฐานะการเงินกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง กล่าวคือข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ลดลงจากร้อยละ 43 ในปี 2540 เหลือประมาณร้อยละ 2 ในปี 2558 และสัดส่วนหนี้ต่อทุนของภาคธุรกิจลดลงจาก 5.1 เท่า ในปี 2540 เป็น 1.3 เท่า ในปี 2558

          สิ่งที่อยากเน้น คือ หนึ่ง-หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้อง ประหยัดรัดเข็มขัด อยู่ตลอดเวลา แต่ที่จริงแล้วคุณสามารถซื้อสินค้าที่ชอบได้ ตราบใดที่มีรายได้ สุทธิมากพอ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เราต้องมีความพอประมาณ ไม่ใช้จ่ายเงิน เกินกว่าฐานะที่แท้จริง สอง-แม้ว่า หลักปรัชญานี้จะมีต้นกำเนิดจากภาคเกษตร และภาคชนบท แต่หลักปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การค้าระหว่างประเทศ

          ส่วนที่สอง-การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial System Development for Sustainable Growth) ประเทศไทยมีเส้นทางการ พัฒนาระบบการเงินที่ยาวนาน และมี ความคืบหน้าในการพัฒนาที่สำคัญใน 5 มิติ คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) ธรรมาภิบาล (Governance) การกระจายตัว (Diversification) การเข้าถึง (Access) และการเชื่อมโยง (Connectivity)

          ขอขยายความในเรื่อง "การเชื่อมโยง" หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการปิดประเทศ จากเวทีโลก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกใน ปัจจุบัน ระบบต่าง ๆ มีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันมาก เราควรจะมองหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากพัฒนาการนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ของระบบการเงินของโลก เพราะรู้ว่า ประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าต้นทุน ที่อาจจะเกิดขึ้น แน่นอนว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) เป็นความจริงของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่มีประโยชน์ที่จะ ไปฝืน หรือทวนกระแส

          ส่วนที่สาม-การสร้าง "สถาบัน" ที่แข็งแกร่งขึ้น (Building up Strong Institutions) บทเรียนอันเจ็บปวดอีกอันที่เราได้เรียนรู้จากวิกฤต คือเราเปิดเสรีระบบการเงินโดยไม่มีการเตรียมเครื่องมือที่จะดูแลระบบการเงินเพียงพอ และไม่มีกรอบนโยบายที่เหมาะสม

          ความล้มเหลวนี้ทำให้นึกถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไว้ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า "...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน...เมื่อได้พื้นฐาน มั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและ ฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ ต่อไป..."

          ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีความพยายามอย่างมากในการทุ่มเทเพื่อพัฒนาและวางรากฐานระบบการเงินให้มีความ เข้มแข็ง สามารถรองรับต่อแรงกระแทก หรือแรงเสียดทานจาก Shocks ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่สำคัญ คือการนำกรอบนโยบายการเงินที่มี เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาใช้ในปี 2543 ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น และทำให้ประชาชนมั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง มีกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจ ที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

          ส่วนที่สี่-การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความเท่าเทียม และ ความยั่งยืน (Pursuing Growth with Macro-stability, Equity and Sustainability) การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาช่วยยกระดับประเทศไทย จากประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กล่าวคือในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 14 เท่า ความยากจน ลดลงอย่างมาก และมาตรฐานการ ดำรงชีวิตของคนไทยในภาพรวมดีขึ้นอย่างชัดเจน

          อย่างไรก็ดี การพัฒนาก็ใช่ว่าจะไม่มีต้นทุนเลย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประมาณการว่า ระหว่างปี 2516 ถึงปี 2552 ป่าไม้ของไทยลดลงถึงร้อยละ 43 ขณะเดียวกันปี 2556 Credit Suisse จัดอันดับให้ไทยอยู่อันดับ 6 ของประเทศ ที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากที่สุด

          ซึ่งประเมินว่า คนรวยสูงสุด 10% แรกของประเทศถือสินทรัพย์มากถึงร้อยละ 75 นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจ

          ที่สำคัญ จากประวัติศาสตร์แสดงให้ เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก โอกาสที่คนในสังคมจะแตกความสามัคคีก็จะมีมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขและให้ความสำคัญ

          (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 - 26 มิ.ย. 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง