เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
กรมพัฒนาที่ดินเตรียมพร้อมฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ปรับปรุงดินเปรี้ยว ดินเค็มและพื้นที่นาร้างทั่วประเทศ

          คนเกษตร/รายงาน

          กรมพัฒนาที่ดิน นับเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตร เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการผลิตพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น แก้ไขป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและแก้ไขปัญหาดินเพื่อการเกษตรทุกชนิด โดยขณะนี้ได้เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559/60 ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ธนาคารปุ๋ย การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน แก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม ของพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ รวมถึงการพลิกฟื้นพื้นที่นาร้างในเขตภาคใต้ตอนล่าง

          นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินดำเนินงานภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559/60 โดยให้ทุกภาคส่วนทำงานกันเป็นทีม ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินต้องเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรทั่วประเทศ คือ 1.ทำอย่างไรให้เกษตรกรรู้ว่าความเหมาะสมของดินในแต่ละภูมิภาคเป็นเขตความเหมาะเพาะปลูกพืชอะไร 2.ต้องให้เกษตรกรทราบว่าในสภาพพื้นที่ของแต่ละภาคมีความเหมาะสมสำหรับทำการเกษตรหรือไม่ โดยการนำดินมาตรวจวิเคราะห์เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ทราบว่าพื้นที่ทำเกษตรจุดนั้นมีค่าวิเคราะห์ดินเป็นอย่างไร เพื่อจะได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในสภาพพื้นที่นั้นๆ ซึ่ง ณ วันนี้ เกษตรกรมักทำการเกษตรโดยใช้ความรู้สึก ซื้อปุ๋ยมาใช้โดยขาดความเข้าใจจึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินจะต้องทำความเข้าใจให้เกษตรกรทั่วประเทศเลือกใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของแต่ละราย เพื่อสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิต ดังนั้น หากเกษตรกรนำดินมาวิเคราะห์กับกรมพัฒนาที่ดินก็จะสามารถเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และจะนำไปสู่การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

          นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังเตรียมในแต่ละภูมิภาคในเรื่องของการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลุ่มที่ดอนที่จะต้องเตรียมการ เพราะมีปัญหาของการชะล้างพังทลายของหน้าดินมาก กรมพัฒนาที่ดินจึงต้องเข้าไปวางระบบให้เกษตรกรในพื้นที่ ตามหลักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งวิธีการป้องกันแก้ปัญหาจากระบบพืชด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ ที่มีความลาดชันน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากหญ้าแฝกถือเป็นพืชมหัศจรรย์ที่สามารถป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินในสภาพพื้นที่ลาดชันน้อยได้เป็นอย่างดี

          "เนื่องจากสภาพดินของแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างสภาพดินในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นาร้าง ซึ่งปัญหานาร้างในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เกิดจากปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ดินเปรี้ยวจัด ดินกรด ประกอบกับเกษตรกรขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาที่ดิน ส่งผลให้ทำนาไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรปล่อยทิ้งร้างและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน กรมพัฒนาที่ดินได้ทำโครงการพัฒนาพื้นที่นาร้างในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา เพื่อพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่นาร้างให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยเข้าไปตรวจวิเคราะห์ดินว่า เป็นกลุ่มชุดดินอะไร และดินเกิดปัญหาด้านใดบ้าง เพื่อจะได้สนับสนุนในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การทำปุ๋ยพืชสด การใช้ สาร พด. การใช้วัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น"

          นายสุรเดช กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ทั่วประเทศ เช่น การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน แก้ปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว แก้ปัญหานาร้างในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้กิจกรรมของกรมพัฒนาที่ดินเข้าพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมกับเตรียมแหล่งน้ำให้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการขุดลอกห้วยหนอง คลองบึงให้กับเกษตรกร ซึ่งงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดินในปีนี้มีทั้งหมด 166 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และยังอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 45 แห่ง ดังนั้น ในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรทั้งสิ้น 211 แห่งทั่วประเทศ ส่วนโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปี 2559 อีกประมาณ 20,000 แห่ง กรมพัฒนาที่ดินก็ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมดแล้ว และยังมีงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อไปดำเนินการเสริมให้กับเกษตรกรที่มีความต้องการได้อีก 1,800 กว่าแห่ง นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำชุมชนอีก 7 แห่ง พร้อมกันนี้ ยังดำเนินการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ โดยไปส่งเสริมธนาคารปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ธนาคารปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยพืชสด เป็นต้น

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 23 มิถุนายน 2559 หน้า 8



เอกสารที่เกี่ยวข้อง