เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ฉัตรชัยจี้คลังเร่งจ่าย ชาวนารายละพันบาท

          ธกส.คาดเริ่มจ่ายเงิน ชาวนาได้ต้นก.ค.นี้

          "ฉัตรชัย"ยื่นหนังสือคลัง เร่งจ่ายเงินชาวนา รายละ 1,000 บาท หลังครม.มีมติให้ช่วยเหลือ หวั่นล่าช้าชี้เคยมีประสบการณ์จ่ายชาวสวนยาง เผยชาวนาเริ่มเพาะปลูกข้าวแล้ว

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือเร่งด่วน แจ้งไปถึงนายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ เร่งรัดการจ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนิน 4  มาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวนาปีเพาะปลูก 2559/60 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทจากประสบการณ์ที่เคยจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวสวนยางที่มีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับชาวนา ยังใช้เวลามากกว่า 5 เดือน

          ปัจจุบันชาวนาเริ่มเพาะปลูกกันบ้างแล้ว แต่ยังขาดเงินลงทุน การได้รับเงินตามมาตรการ ดังกล่าว จะช่วยลดภาระเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากให้ล่าช้า เงินดังกล่าวควรถึงมือเกษตรกรโดยตรงและเร็วที่สุด จากการขึ้นทะเบียนชาวนาของกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันมีประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน  กระทรวงการคลังสามารถใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าวได้

          แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ขณะนี้ธ.ก.ส.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางระบบการจ่ายเงิน คาดช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ จะแล้วเสร็จและเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาได้

          นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า กระทรวงการคลังจะใช้บัญชีรายชื่อชาวนาตามที่มาขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือไม่ หากกระทรวงการคลังติดต่อมา  ก็พร้อมร่วมหารือ เนื่องจากเคยมีประสบการณ์การจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรอยู่แล้ว

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตามที่ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/60 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. โดยเป็นมาตรการดูแลหนี้สินเดิมผ่านโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 เพื่อบรรเทา ภาระหนี้สินและลดต้นทุนให้เกษตรกรรายย่อย ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการผลิตข้าวไม่เกิน 500,000 บาทประมาณ 2 ล้านรายจะขยายเวลาชำระ ต้นเงินออกไป 24 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยให้ 3%

          ทั้งนี้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 1.5% ต่อปี ซึ่งธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.5% ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรคิดเป็นเงินปีละ 2,700 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาทเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีภาระดอกเบี้ยเพียง 4% มีสิทธิกู้เงินเพื่อฟื้นฟูหรือพัฒนาอาชีพของตนเองได้

          2.โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย ธ.ก.ส.จะดำเนินการร่วมกับศูนย์เรียนรู้ชุมชนต่างๆ จัดอบรม 2 ระยะ โดยระยะ 1"รู้กระแสเงินสด อนาคตมั่นคง"เน้นการวิเคราะห์กระแสเงินสด เพื่อให้เข้าใจต้นทุนและรายได้ที่แท้จริง 3 แสนราย จากนั้นจะคัดเลือกอบรมหลักสูตร ระยะ 2 "ปรับเปลี่ยนการผลิต สู่ชีวิตที่ยั่งยืน" เน้น ให้ความรู้ปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มรายได้การผลิต ที่มีตลาดรองรับชัดเจน 1.5 หมื่นราย เริ่มวันที่ 1 ก.ค.2559-31 ธ.ค.2560 ใช้งบ 258 ล้านบาท

          3.มาตรการรักษาเสถียรภาพการผลิตผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 เพื่อให้เกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บและอัคคีภัย รวมทั้ง ภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด พื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยเท่ากันทั่วประเทศ ไร่ละ 100 บาท รัฐอุดหนุนไร่ละ 60 บาท เกษตรกรชำระ ไร่ละ 40 บาท เกษตรกรที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.จะอุดหนุน ค่าเบี้ยประกันภัยส่วนของเกษตรกรให้ทั้งหมด งบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนภาครัฐ 2,071 ล้านบาท

          4.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต  2559/60 ประมาณ 3.7 ล้านรายได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย ใช้งบประมาณ 37,860 ล้านบาท

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มิถุนายน 2559 หน้า 7



เอกสารที่เกี่ยวข้อง