เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
รายงานพิเศษ: บ้านหัวอ่างพัฒนา ต้นแบบเทคโนโลยีผลิตมันสำปะหลังบนพื้นที่แปลงใหญ่

          นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร เล่าว่าปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังบ้านหัวอ่างพัฒนา ที่อาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก ผลผลิตที่ได้จะไม่สูงมากนัก จนกระทั่งเมื่อปี 2557 ภาครัฐโดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกรสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อปลูกมันสำปะหลังครอบคลุมพื้นที่ 400 ไร่เกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 24 ราย ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่พบว่าเกษตรกรได้ทำระบบน้ำหยดใช้ในแปลงมันสำปะหลัง แต่ยังขาดความรู้การควบคุมปัจจัยการผลิตด้านต่างๆ ที่จะช่วยเสริมให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ดังนั้น ด้วยความพร้อมของพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเป็นปัจจัยหลักอยู่แล้ว ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังแปลงใหญ่ขึ้นที่บ้านหัวอ่างพัฒนา เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังให้กับเกษตรกร นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ภายใต้แนวคิดศูนย์แห่งการเรียนรู้ “Center of Knowledge” โดยบูรณาการผลงานวิจัยด้านการผลิตมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนได้แก่ โรงแป้ง โรงงานเอทานอล สหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตปัจจัยการผลิตในนามคลัสเตอร์มันโคราช ตอบสนองนโยบายประชารัฐ เพื่อเป็นต้นแบบการทำงานแบบบูรณาการตลอดห่วงโซ่การผลิต และเพื่อพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระบบการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อพัฒนาสู่เกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ

          การดำเนินงานมี 2 กิจกรรม ได้แก่ จัดทำแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง โดยคัดเลือกเทคโนโลยีจากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร กิจกรรมที่สองคือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ประกอบด้วย 5 เทคโนโลยี คือ การจัดการพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การจัดการระบบน้ำหยด การจัดการดิน การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการอารักขาพืชทั้งด้านทฤษฎีและฝึกปฏิบัติจริง ผ่านการดูงานจากแปลงเรียนรู้ต้นแบบ รวมถึงการฝึกอบรมด้วย โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2559-2561 ในปีแรกดำเนินการในพื้นที่นำร่องของเกษตรกรจำนวน 10 ราย รายละ 5 ไร่ รวม 50 ไร่ ปีต่อไปขยายผลสู่เกษตรกรครบทั้ง 24 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 400 ไร่

          ในส่วนของเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังแปลงใหญ่ ที่กรมวิชาการเกษตรนำมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะเน้นไปที่เทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะเมื่อมีระบบน้ำก็ส่งเสริมให้ทำระบบน้ำหยดที่เป็นการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า สามารถควบคุมปริมาณการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการให้น้ำในช่วงที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยผสมไปในระบบน้ำหยด ลดการใช้ปุ๋ยได้ครึ่งหนึ่งไม่เพียงแต่ลดต้นทุนค่าปุ๋ย ยังลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานในการหว่านปุ๋ยด้วยที่สำคัญการใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมไม่มากเกินความจำเป็น ช่วยลดปริมาณสารตกค้างในดิน ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

          ขณะนี้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ได้ติดตั้งระบบท่อส่งน้ำ การให้ปุ๋ยร่วมกับระบบน้ำหยด การวัดปริมาณการใช้น้ำและประสิทธิภาพการใช้น้ำในระบบการผลิตมันสำปะหลังแปลงใหญ่ รวมถึงจัดทำโปรแกรมการถ่ายทอดความรู้ผ่านแปลงเรียนรู้ โดยคาดหวังว่าอย่างน้อยต้องช่วยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 20-30% สร้างรายได้ที่ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังแปลงใหญ่ที่บ้านหัวอ่างพัฒนา จะสามารถพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังแบบบูรณาการเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามนโยบายประชารัฐ

          คุณธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานคลัสเตอร์มันโคราช กล่าวเสริมว่า มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งขณะนี้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร ให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรที่จะมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเองก็จะได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อไปขายแข่งขันในตลาดโลกได้

          การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานควบคู่กันไป สำหรับกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตรมีทั้งฝึกอบรม ให้ปฏิบัติจริงและจัดทำแปลงเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ร่วมกับเกษตรกร โดยหลังจากเก็บเกี่ยวก็จะมาสรุปผลว่าการใช้เทคโนโลยีกับวิธีดั้งเดิมของเกษตรกร แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลต่อไป อย่างไรก็ดีอยากให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เช่น มีพื้นที่ 15 ไร่ ก็แบ่งมา 2 ไร่ทำตามแปลงต้นแบบ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ถ้าดีก็ขยายให้ครบทั้งแปลง ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตนี้ขยายไปสู่มือชาวไร่มันสำปะหลังได้มากขึ้น

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ธิดารัตน์ รอดอนันต์

          สุกิจ รัตนศรีวงษ์

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 มิถุนายน 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง