เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ชูปลูกพืชผสมผสานแก้ราคายางตก

          ปัญหาราคายางพาราตกต่ำยังคงเป็นปัญหาที่เกษตรกร ภาคใต้ยังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีสัญญาณดีขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังเร่งแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน เช่น การนำยางพาราไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นใช้ซ่อมแซ่มถนน สนามกีฬา เป็นต้น รวมถึงแนวทางการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ แซมสวนยาง หรือการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต

          จังหวัดกระบี่ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกษตรกรได้รับ ผลกระทบจากราคายางพาราตก เพราะอาชีพหลักของกระบี่ คือการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน วันนี้สถานการณ์พืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิดนี้ มีแนวโน้มไม่ดีนัก จึงทำให้มีการ ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นพืชระยะสั้นแบบ ผสมผสาน สร้างรายได้เสริม ให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่มีความยั่งยืน ผ่านพ้นวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ

          นายพงษ์มานิตย์  ไทยแท้  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า  โครงการศูนย์เรียนรู้เกษตรแบบผสมผสาน ตั้งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดกระบี่ บนเนื้อที่ 8 ไร่  อำเภอเมือง เพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปี 2558 เป็นโครงการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่แบบผสมผสาน แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          ทั้งนี้ภายในสวนจะเน้นการปลูกไม้ผลขนาดใหญ่ เช่น จำปาดะ ทุเรียน ลองกอง ผสมผสานกับพืชแซมในสวนขนาดเล็กที่เป็นพืชในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น ถั่วหรั่ง มันขี้หนู ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดภาคใต้มีความต้องการสูงมาก เบื้องต้น ได้วางแผน การตลาด จะนำจำหน่ายหน้าศูนย์ฯก่อน จากนั้นจะขยายตลาดไปในพื้นที่อื่นๆ นอกจากจะเป็นแปลงสาธิตให้กับเกษตรกรที่สนใจเข้ามาเรียนรู้แล้ว ยังเปิดให้นิสิต นักศึกษา และทัวร์เกษตร เข้ามาศึกษาดูงานได้อีกด้วย

          "ต้องการให้เกษตรกรพี่น้องชาวสวนยางพาราในจังหวัดกระบี่ เข้ามาเรียนรู้ผ่านโครงการให้มากขึ้น และนำไปปฏิบัติจริง จะเป็นการช่วยให้มีรายได้เสริมมากขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบ จากราคายางพารา ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดชะลอตัวไปด้วย หากมีรายได้เสริมก็จะช่วยให้เกษตรลืมตาอ้าปาก ได้บ้างและยังมีเมล็ดพันธุ์ไปแจกให้เกษตรกรอีกด้วย"  นายพงษ์มานิตย์กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ระบบการบริหารจัดการภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจะเน้นการลดค่าใช้จ่าย จากต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในการสูบน้ำมารดไม้ผล และพืชที่ปลูกแซม จะเป็นการลดต้นทุน ด้านพลังงาน ได้จำนวนมหาศาล อีกทั้งยังมีการลดต้นทุนการผลิตด้วยการผลิตปุ๋ยหมัก ด้วยวิธีเติมอากาศ วิธีนี้มีข้อดี   ประหยัดเวลา และใช้วัสดุ อุปกรณ์น้อย ได้น้ำหมักปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพ กว่าวิธีแบบธรรมชาติที่ใช้กันทั่วไป เพราะปกติการทำปุ๋ยหมักทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน แต่ถ้าใช้วิธี แบบเติมอากาศจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน และการกรองน้ำปุ๋ยหมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

          นายพงษ์มานิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกษตรที่มาเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ จะลดค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยลงกว่า 50% ช่วยให้เกษตรกรมีกำไรจากการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดกระบี่ จะเดินหน้าเชิญชวนให้เกษตรกรในจังหวัด กระบี่เข้ามาเรียนรู้การปลูกพืชแบบผสมผสาน สร้างรายได้ เพิ่มในช่วงพืชเศรษฐกิจอื่นอยู่ในช่วงขาลง สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดกระบี่ เตรียมเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2559 และจะเร่งปลูกพืชให้เต็มพื้นที่ 100% เต็ม ซึ่งขณะนี้ปลูกพืชไปแล้ว 50%

          นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เกษตรกรในจังหวัดกระบี่ อยู่รอดในภาวะที่ราคายางพารา และปาล์มน้ำ ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนครั้งในอดีต


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 27 เมษายน 2559  หน้า 13

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง