เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
แพคเกจแก้หนี้นอกระบบยื่นกู้ผ่าน2แบงก์รัฐ-ดบ.ต่ำ

          สมคิดถกแบงก์รัฐ-แก้หนี้ครัวเรือน

          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางประชุมร่วมกับนาย หนังสือพิมพ์มติชนรายวันอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)

          ภายหลังการหารือ นายสมคิดกล่าวว่า ที่ประชุมมีการรายงานผลดำเนินงานของธนาคารรัฐช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีและสถานะมีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งสั่งการกระทรวงการคลังจัดเก็บข้อมูลหนี้ครัวเรือน โดยให้จำแนกว่าเป็นหนี้เพื่อธุรกิจหรือเพื่อการประกอบอาชีพสัดส่วนเท่าไร หนี้ที่เกิดจากการบริโภคสัดส่วนเท่าไร หากเป็นหนี้เพื่อธุรกิจหรือประกอบอาชีพ ทำให้ประชาชนมีรายได้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น ข้อมูลดังกล่าวจะนำวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และป้องกันการก่อหนี้เกินตัว

          ดึงปลูกพืชน้ำน้อยยังไม่เข้าเป้า

          นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี เกษตร วงเงินรวม 72,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยทั่วประเทศเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร และมีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรแล้วกว่า 9 พันล้านบาท ในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และได้ย้ำ ธ.ก.ส.ต้องกระจายสินเชื่อให้ทั่วถึง และอาจจะจัดตั้งสถาบันเกษตรกรไทยขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรพัฒนาความสามารถสูงขึ้น

          ด้านโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท นายสมคิดกล่าวว่า ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก จากเป้าหมายต้องการให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ยังมียอดการขอสินเชื่อต่ำ เนื่องจากเกษตรกรกังวลว่าหากลงทุนไปแล้วขายไม่ได้จะทำอย่างไร จึงแนะนำให้ ธ.ก.ส.มีการเชื่อมโยงและเจรจากับธุรกิจเอกชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้ ปลูกแล้วต้องขายได้ จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้มีความหลากหลาย

          สั่งออมสินแก้หนี้นอกระบบ

          นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ติดตามและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 1-2 เดือน ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็รับปากและมีมาตรการรองรับไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลว่าภาวะภัยแล้งจะรุนแรงและลากยาว หลังสิ้นเดือนเมษายนเป็นต้นไปสถานการณ์น่าจะค่อยๆ คลี่คลาย

          ในส่วนธนาคารออมสิน ได้มอบหมายนโยบายให้ดำเนินงานในรูปแบบธนาคารเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เน้นดูแลกลุ่มลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้น ขณะที่ ธ.ก.ส.เป็นที่พึ่งเกษตรกร ธนาคารออมสินต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนฐานราก รวมทั้งดูแลเรื่องหนี้สินนอกระบบ ซึ่งที่ผ่านธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ดูแลปัญหานี้อยู่แล้ว เพื่อนำหนี้ที่อยู่นอกระเข้ามาในระบบ ขณะนี้กระทรวงการคลังและธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกัน คาดว่าจะเสนอรัฐบาลออกมาเป็นนโยบายพิเศษ อัตราดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป และจะครอบคลุมสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายและบริโภคมากขึ้น ต่อไปหากประชาชนต้องการสินเชื่ออยากให้นึกถึงธนาคารออมสินแทนการกู้นอกระบบ

          นายสมคิดยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อล็อตที่ 2 ออกไปอีกหรือไม่ ส่วนเอ็กซิมแบงก์จะเริ่มรุกปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการด้านการนำเข้าและส่งออก ที่ทำตลาดในกลุ่มกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) มากขึ้น

          กำชับกู้บ้านประชารัฐต้องเร็ว

          นายสมคิดกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการบ้านประชารัฐที่ดำเนินงานโดย ธอส.และธนาคารออมสิน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความต้องการสินเชื่อเข้ามาสูงมาก จึงกำชับว่ากระบวนการต่างๆ จะต้องรวดเร็วให้ทันรองรับความต้องการ ขณะนี้มียอดขอสินเชื่อธนาคารออมสินและ ธอส.เข้ามาแห่งละ 2 หมื่นล้านบาท

          สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุคคลธรรมดา และร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นายสมคิดกล่าวว่า ได้ลงนามเอกสารเพื่อบรรจุในวาระการประชุมของ ครม.แล้ว อยู่ที่ว่าเลขาธิการ ครม.จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้หรือไม่

          นายอภิศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดทำเอกสารเรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้น่าจะอยู่ระหว่างการทำหนังสือเวียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุม ครม.

          แย้มแพคเกจสางหนี้นอกระบบ

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้จัดการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะจับกลุ่มทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนฐานราก และกลุ่มเอสเอ็มอี รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังทำแพคเกจสินเชื่อหนี้นอกระบบใหม่ เพื่อส่งให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.พิจารณาเพิ่มเติม ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยที่ผ่านมาประชาชนยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อของออมสิน เนื่องจากการกู้นอกระบบสะดวกกว่า ทางออมสินก็อยากให้ประชาชนกลุ่มนี้เลือกเดินมาหาออมสินแทน ซึ่งในระยะต่อไปน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบได้

          ภาษีที่ดิน-บุคคลธรรมดาเข้าครม.

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 19 เมษายน จะมีการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในส่วนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะช่วยลดภาระของมนุษย์เงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลางลงมา และรวมถึงคนที่มีรายได้สูงก็จะได้รับประโยชน์ด้วย จากปัจจุบันจัดเก็บจากรายได้สุทธิมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ 35% นั้น จะขยับจากปัจจุบันผู้มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 35% จะขยายเป็น 5 ล้านบาทขึ้นไป

          แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับมนุษย์เงินได้ทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนบุคคลเพิ่มเติม โดยค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลที่นำมาหักลดหย่อนภาษีในปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ 40% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท การปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้จะกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนค่าลดหย่อนส่วนตัว ปัจจุบันกรมสรรพากรให้หักค่าลดหย่อนได้คนละ 3 หมื่นบาท การปรับปรุงใหม่ จะเพิ่มเป็น 6 หมื่นบาท ขณะที่การหักค่าลดหย่อนบุตร ปัจจุบันกำหนดให้นำค่าใช้จ่ายบุตรมาหักลดหย่อนได้ 15,000 บาทต่อบุตร 1 คน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 3 คน การแก้ไขใหม่จะไม่กำหนดจำนวนบุตร

          บิ๊กตู่หัวโต๊ะ'พลังประชารัฐ'

          ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ (นัดพิเศษ) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานจากคณะทำงาน 12 ชุด อาทิ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการและประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรูคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) (อ่านรายละเอียด น.2)

          ชง4ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

          นายชาติศิริระบุถึงความก้าวหน้าของคณะทำงานการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ว่า ได้เสนอมาตรการ 4 ด้าน คือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วยโครงการเมืองวิทยาศาสตร์ ยกระดับอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น พัฒนาโครงการพื้นฐานลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย ขอให้ทำโครงการบ้านประชารัฐระยะที่ 2 เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัย เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการพื้นฐานโดยดึงภาคเอกชนร่วมทุนหรือบริหารโครงการ โครงการพัฒนาเมืองคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และคุณภาพสังคม (Smart City) รวมถึงดึงดูดการลงทุนต่างชาติ

          ดันไทย1ใน20ปท.ทำธุรกิจง่าย

          นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการและประธานที่ปรึกษาฝ่ายจัดการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ประธานคณะทำงานการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า กฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจ ในหลายประเทศมีการแก้กฎหมายเป็นกลุ่มๆ สำหรับไทยตั้งเป้าหมายแก้กฎหมายภายในระยะ 2 ปี โดยระยะแรกเฟสแรกดำเนินการเสร็จแล้ว โดยมีเป้าหมายในระยะสั้นจะต้องปรับแก้กฎหมาย 5,000 ฉบับภายในเดือนสิงหาคม 2560

          "การจัดตั้งบริษัทในกลุ่มประเทศที่มีการปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้แล้ว สามารถตั้งบริษัทได้ภายใน 1 วัน ขณะที่ไทยต้องใช้เวลา 6-7 เดือน ดังนั้นการปรับปรุงกฎหมายในเบื้องต้นจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นหลัก โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าไทยจะยกอันดับ (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) จากลำดับที่ 49 เป็นอันดับ 1 ใน 20 ของโลกให้ได้ ซึ่งมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ จากการตั้งคณะทำงานควิก วินส์ และการประสานงานกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากภาครัฐที่ดูแลเรื่องกฎหมาย จึงเรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่าการปฏิรูปกฎระเบียบ กระบวนการที่พิจารณาทบทวนกฎหมาย ยกเลิกหรือปรับแก้กฎหมายที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ ลดความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย" นายกานต์กล่าว

          เพิ่มรายได้-ยกระดับฐานราก

          นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความก้าวหน้าคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า เป้าหมายของกลุ่มคือการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ระดับฐานราก และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีผ่าน 3 กลุ่มการพัฒนา คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวชุมชน ที่มีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางสินค้า ยันปลายทาง โดยมีการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี ที่เปิดตัวไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ จ.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นบริษัทกิจการเพื่อสังคม ทั้งนี้จะจัดตั้งบริษัทระยะเริ่มต้น 5 จังหวัดภายในเดือนเมษายน และเพิ่มเป็น 6 จังหวัดในเดือนมิถุนายน และขยายอีก 7 จังหวัดในเดือนกันยายน รวมทั้งสิ้น 18 กลุ่มบริษัท ครอบคลุม 76 จังหวัด เพื่อพัฒนาบริหารจัดการ องค์ความรู้ สร้างตราสินค้า มาตรฐานรองรับสินค้า บริหารทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับตลาด แต่ละจังหวัดจะมีกรรมการผู้จัดการมาจากภาคประชาชน โดยจะเชื่อมโยงกับบริษัทประชารัฐฯระดับประเทศ ที่ทำหน้าที่นำสินค้าไปจำหน่ายข้ามจังหวัด โดยมีดัชนีชี้วัดผลทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ในการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

          ยางบึงกาฬเพิ่มช่องจีนลงทุนไทย

          ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน นำนายจาง เส้า จวิน ประธานสภาที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองแห่งเมืองชิงเต่า มณฑลซานตุง ประเทศจีน พร้อมด้วยนายจาง เหยียน ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการใหญ่ บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด คณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านยางพาราจากประเทศจีน พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมหารือถึงความสำเร็จของการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ และการจัดงานครั้งต่อไป โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

          นายจาง เส้า จวิน กล่าวว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากประเทศจีนเข้ามาทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ และการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนมากขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลจีนและเมืองชิงเต่ามีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของจีนเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

          เจรจาบ.จีนซื้อยางไทยเพิ่ม

          นายจาง เหยียนกล่าวว่า การจัดงาน วันยางพาราบึงกาฬมีพัฒนาการดีต่อเนื่องมาตลอด 4 ปี หลังจากนี้บริษัทจะนำผู้ประกอบการด้านยางพารามาร่วมงานมากขึ้น ส่วนรูปแบบการจัดงานต่อจากนี้จะนำรูปแบบออนไลน์เข้ามา ทำให้งานน่าสนใจมากขึ้นด้วย

          นายพินิจกล่าวว่า ความร่วมมือเพื่อจัดงานวันยางพาราบึงกาฬดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ซึ่งความร่วมมือระหว่างเมืองชิงเต่าและประเทศไทยเป็นการเพิ่มพูนมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศ ทั้งทางด้านวัฒนธรรม กีฬา การศึกษา และเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างกัน 3-4 โรงงาน เช่น บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท สามารถผลิตยางเส้น 12 ล้านเส้นต่อปี เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และมีเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในโลก หลังจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นสนใจจะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้เจรจาขอให้บริษัท เซ็นจูรี่ ไทร์ซื้อยางโดยตรงจากสหกรณ์ที่ประกอบธุรกิจยางพาราให้ได้อย่างน้อย 20-30% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด และยังเตรียมส่งเสริมให้เกิดถนนยางพาราในพื้นที่ต่างๆ เช่น จังหวัดบึงกาฬ เป็นต้น

          เล็งดึงซีแอลเอ็มวีร่วมงาน

          พล.อ.วิชิตกล่าวว่า สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีนถือเป็นสมาคมที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ไทยจีนได้ดีเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากการนำสินค้าที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย เช่น ยางพารามาจับคู่ธุรกิจ โดยได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และหลังจากนี้จะใช้กลไกของสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ขอความร่วมมือจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับประเทศเวียดนาม ลาว และพม่า หรือกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ในการเชิญชวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราของประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานวันยางพาราบึงกาฬในครั้งต่อไปด้วย

          นายนิพนธ์เปิดเผยว่า การจัดงานยางพาราและการร่วมประชาสัมพันธ์ของสื่อที่อยู่ในเครือมติชนทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เช่น หมอนยางพาราได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างมาก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 เม.ย. 2559 หน้า5



เอกสารที่เกี่ยวข้อง