เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
นับถอยหลัง หมดยุคล้วงเงินแบงก์รัฐ

          กนกวรรณ บุญประเสริฐ

          สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) มักตกเป็นเหยื่อของโครงการประชานิยม เพราะแทบทุกรัฐบาลได้หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจโดยหลีกเลี่ยงวินัยการคลังด้วยการใช้นโยบายกึ่งการคลัง เพื่อซ่อนตัวเลขหนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายของรัฐผ่านทางโครงการที่ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) ที่เห็นชัดๆ ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก่อนที่อยู่ระหว่างการสรุปตัวเลขผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท ต้องกลายเป็นภาระต่องบประมาณในการสะสางความเสียหายส่วนที่เหลือ

          แต่ในอนาคตปัญหานี้จะน้อยลง เมื่อร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.… ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้การใช้แบงก์รัฐเป็นเครื่องมือซ่อนหนี้สาธารณะลดลง

          ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้พยายามสร้างมาตรฐานทางการคลัง ด้วยการผลักดันร่างฉบับดังกล่าวที่เสนอให้มีการรายงานตัวเลขสินเชื่อตามนโยบายรัฐที่มีการแยกเป็นบัญชีพิเศษ (พีเอสเอ) รายงานต่อ ครม. และสาธารณะ

          ทั้งนี้ ยอดหนี้พีเอสเอ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 มียอดรวมทั้งสิ้นกว่า 7.89 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดก่อนรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2552 มีวงเงินรวมกันกว่า 6.91 แสนล้านบาท และหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารรัฐบาล คสช. อีก 9.84 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาพรวมเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล กว่า 1.04 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.33% ของหนี้ทั้งหมด

          หากให้แยกรายธนาคาร พบว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีหนี้พีเอสเอมากที่สุดกว่า 7 แสนล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท มีภาระดอกเบี้ยและเงินต้นที่ต้องชดใช้อยู่ราวปีละ 6-8 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นหนี้ของธนาคารออมสินกว่า 4.38 หมื่นล้านบาท  หนี้ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กว่า 2.25 หมื่นล้านบาท

          หนี้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กว่า 8,162 ล้านบาท หนี้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ในโครงการพาณิชยนาวีกว่า 6,325 ล้านบาท และหนี้ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ กว่า 2,183 ล้านบาท

          ขณะที่ยอดการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. กว่า 2.23 แสนล้านบาท โดยมีเอ็นพีแอลกว่า 2.92 หมื่นล้านบาท

          อย่างไรก็ดี หากดูเป็นรายโครงการสินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พบว่าส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ดี เช่น โครงการบ้านหลังแรก บ้านประชารัฐ โครงการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โครงการซอฟต์โลน

          โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการสินเชื่อต่าเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง หรือในช่วงเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ มีการออกสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง สินเชื่อช่วยผู้ได้รับ ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ต่างๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกรณีการทุจริในการปล่อยสินเชื่อของเจ้าหน้าที่เองและจากยอดพีเอสเอ ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องตั้งงบชดเชยทั้งหมด

          มีเพียงโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่จะเป็นภาระต่องบประมาณ เพราะเข้าไปรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจนทำให้กลไกการตลาดเสียหาย และไม่มีแผนระบายข้าวที่ชัดเจน ทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำไปด้วย

          ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลังดังกล่าวจะกำหนดเรื่องใช้เงินนอกงบประมาณทำได้ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.เพื่อการฟื้นฟูจากการก่อการร้ายหรือวินาศกรรม 2.เพื่อการฟื้นฟูจากสาธารณภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ และ 3.เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะกำหนดกรอบการใช้ได้ไม่เกิน 1% ของงบประมาณรายจ่าย คิดเป็นวงเงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท/ปี หรือมากกว่านั้น และมีเงื่อนไขว่าเงินที่ใช้ในปีนี้จะต้องตั้งงบทยอยชำระคืนภายใน 2 ปี หมายถึงถ้ารัฐบาลใหม่ต้องการมาทำโครงการใหม่ก็ต้องใช้หนี้เก่าให้หมดเสียก่อน ซึ่งจะทำให้คิดทำโครงการต่างๆ ต้องมีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น

          ขณะที่ทิศทางการทำโครงการต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลในหลายโครงการ แบงก์รัฐขอรับภาระเองตามนโยบายที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ส่งสัญญาณให้แบงก์รัฐเลิกตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดที่กำไร แต่ให้เอากำไรที่ได้คืนกลับสู่สังคม ซึ่งจะทำให้แบงก์รัฐออกมาตรการต่างๆ โดยที่ไม่ต้องขอเงินชดเชยจากรัฐบาลมากขึ้น จึงน่าจะสอดรับกับเรื่องการตีกรอบเพื่อจำกัดการใช้เงินในแต่ละปีที่ลดลงแบบพอเหมาะพอดี

          จากนี้เชื่อว่า พ.ร.บ.การเงินการคลังจะทำให้เกิดมาตรฐานการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ การใช้นโยบายกึ่งการคลังที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เป็นการซุกหนี้ไว้ใต้พรมเช่นที่ผ่านมา

 

ที่มาจาก :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 18 มีนาคม 2559  หน้า A16