เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

พูดอย่างเซียน

   
ผู้แต่ง : รัชเขต วีสเพ็ญ 
ผู้เรียบเรียง : รัชเขต วีสเพ็ญ 
ผู้แปล : - 
สำนักพิมพ์ : อินเทลลิเจนท์ ครีเอชั่น
จำนวนหน้า : 200
ราคา : 165 บาท
ผู้สรุป : หอสมุด ธ.ก.ส.  
   
   
บทสรุป :

          “พูดอย่างเซียน” ได้ร้อยเรียงขึ้นมาจากชีวิตของคนผู้หนึ่งที่รักการใช้วาทศิลป์ดั่งกับลมหายใจเข้าออก ที่ศรัทธาพลังแห่งวาจาและเชื่อมั่นในวิถีแห่งการพัฒนาตนเอง ด้วยประสบการณ์บนเวทีพูดกว่า 30 ปี เดินสายขึ้นพูดมาแล้วนับหมื่นเวที พูดต่อหน้าผู้ฟังแทบทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ

          ด้วยความรักในบทกวี ด้วยความเปรมปรีดิ์ในการเป็นนักพูด นักกลอน ผมจึงขอแบ่งประเภทของบทกลอนที่ผมได้นำไปพูดบนเวทีต่างๆ เป็น 3 ลักษณะ


          1. กลอนหวานหรือกลอนรัก

          การใช้บทกลอนประเภทนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างจิตใจแห่งรักให้เกิดขึ้นทั้งแก่ผู้พูดและผู้ฟัง มีตัวอย่กลอนรักที่ได้แต่งขึ้นตามวาระและโอกาสในการไปพูดตามเวทีต่างๆ

          “ผู้หญิงคืออะไรใครรู้บ้าง

          คือผู้สร้างวันที่ชื่นคืนที่เหงา

          สร้างความรักความชังขังใจเรา

          สร้างความเศร้าเฝ้ารำพึงคิดถึงเธอ”


          2. กลอนเพื่อสังคม

          บทกลอนเพื่อสังคม เป็นเรื่องราวที่มีจิตเจตนาในการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังทุกท่านได้รับรู้ข้อมูลเหล่านั้นผ่านการรังสรรค์เป็นบทกวีโดยเน้นการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่ได้สัมผัสในแต่ละช่วงของสังคม ผมได้แต่งไว้มีอยู่หลากหลายเรื่องราว บทกลอนต่อไปนี้จะเป็นพลังแห่งชีวิตให้กับทุกๆคน

          “สร้างพลังใจให้ทายท้าและกล้าแกร่ง

          สร้างพลังแรงเพื่อแข่งขันชนชั้นโลก

          สร้างพลังจิตคิดดีไม่มีโศก

          สร้างพลังแห่งโชคพิชิตชัย

          สร้างพลังผลผลิตคิดสร้างสรรค์

          สร้างพลังความมุ่งมั่นฉันทำได้

          สร้างพลังจิตสำนึกลึกในใจ

          สร้างพลังไทยพลังดีสามัคคีกัน”


          3. กลอนสนุก

          เป็นบทกลอนที่มุ่งเน้นเพื่อความเพลิดเพลินและความเบิกบานใจ บทกลอนประเภทนี้จะเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนเป็นอย่างมาก

          ผมมีบทกลอนแนวสนุกสนาน ซึ่งได้ล้อเพศที่ลังเลในความเป็นชายหญิงของตัวเอง

          “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

           เกิดเป็นชายยิ่งยากกว่าหลายเท่า

           เกิดเป็นตุ๊ดสุดลำบากมากเชียวเรา

           เกิดมาเศร้าเขาเรียกหาว่ากะเทย”

          การพูดด้วยกลอนเป็นอีกหนึ่งลีลา ที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับตนเองบนเวทีพูด ด้วยบทกวีเป็นการสื่อสารคำพูดที่สละสลวยสวยงาม สามารถสร้างอรรถรสให้แก่ผู้ฟังได้อย่างซาบซึ้ง พร้อมทั้งจะแต่งให้สนุกสนานฮาเฮก็สามารถทำได้ทุกรูปแบบ

          ถ้าจะนับตักศิลาทางการพูดของเมืองไทย ที่ได้สร้างคนกล้าคนเก่งทางวาทะออกมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ย่อมต้องนับชมรมปาฐกถาและโต้วาที มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน

          ด้วยกระบวนการทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นทำให้ผู้คนที่ผ่านการเข้าร่วมชมรมฯล้วนเติบโต พร้อมทั้งได้นำวิชาความรู้ต่างๆไปรับใช้สังคม ตามแต่วิชาชีพและความถนัดของแต่ละคน ดั่งอุดมการณ์ของชมรมฯที่มีไว้ว่า

         “คิด พูด ทำ นำสู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม”

          ด้วยสะสมประสบการณ์ในแวดวงการพูด ที่มีอย่างเข้มข้นตั้งแต่พุทธศักราช 2528 ผมจึงขอเสนอสมรภูมินักพูด หรือเวทีของนักพูด แยกย่อยออกเป็น 5 เวที
 

          1. เวทีฝึกอบรม

          งานพูดบนเวทีนี้ ถือได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้พลังทางความคิดเป็นอย่างมาก ด้วยผู้พูดหรือที่เรียกกันว่าวิทยากร นอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ยังจะต้องมีเทคนิคการยำเสนอที่แยบคายประกอบกันด้วยเสมอ พร้อมทั้งมีจิตวิทยาในการสื่อสารกับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี เพราะพวกเขาคาดหวังว่าจะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยผ่านกระบวนการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ ในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการเข้าใจ


          2. เวทีการสอน

          เวทีการสอน เป็นเวทีที่ให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเรียนอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน ขอแนะนำว่า การสอนหนังสือเป็นงานพูดที่มีภาระผูกพันอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดทั้งเทอมการศึกษา และจะต้องรับภาระในการสร้างกระบวนการประเมินผลและวัดผล ที่ได้มาตรฐานและมีความยุติธรรมเพียงพอ

          สิ่งสำคัญต่อผู้สอนคือ จะต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำเสนอและถ่ายทอดต่อผู้เรียนตลอดเวลา จงคิดเสมอว่า “คนที่กล้ายืนบนเวทีการสอน จะต้องไม่มีวันหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้”

เวทีพิธีกร

        ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานเปิดบริษัท งานแสดงสินค้าฯลฯ พูดง่ายๆคือ ถ้ามีงานก็ต้องมีพิธีกร งานเวทีทุกงานนั้น กระบวนการทั้งหมดในงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแสดง ดนตรีหรือสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่ปรากฎอยู่บนเวทีจะขาดอรรถรสขาดสีสัน และขาดอารมณืร่วมจากผู้ฟังไปทันที ถ้าขาดพิธีกรที่มีความสามารถและไม่มีความเข้าใจในงานเพียงพอ


          3. เวทีทอล์คโชว์

         หากถามว่าคนที่มีดวงมวลชนคือคนประเภทไหน ผมเสนอให้สังเกตุง่ายๆ

         เมื่อขึ้นบนเวทีพูด ผู้ฟังมองขึ้นด้วยความชื่นชอบในบุคลิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง ร่างกายหรือหน้าตา

         ประการที่สอง เมื่อเริ่มต้นพูด ผู้ฟังพร้อมที่จะหัวเราะและปรบมืออย่างมีความสุข

         ประการที่สาม ขณะที่พูดนั้น ผู้ฟังพยายามที่จะมีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลา

         ประการที่สุดท้าย เมื่อพูดจบแล้ว ผู้ฟังเกิดความรู้สึกประทับใจและปรารถนาที่จะติดตามผลงานในคราวต่อไป


         4. เวทีโทรทัศน์

         การพูดบนเวทีโทรทัศน์จะมีความแตกต่างกับเวทีการพูดที่กล่าวมาทั้งสิ้น ด้วยการพูดเหล่านั้น เป็นการพูดต่อที่ชุมนุมอย่างชัดเจน เราต้องคำนึงถึงเวลา มุมกล้อง หรือความรู้สึกของผู้ที่รับชมอยู่ว่าเราพูดอะไรไปผู้ชมทางบ้านจะเข้าใจและรับสารที่เราพูดไปได้อย่างถูกต้อง

 

          ดังนั้นแล้วหนังสือเล่มนี้ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จกับการพูดในที่สาธารณะอย่างไม่มีอาการขัดเขินหรือประหม่า