เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

พูดให้น้อยเข้าไว้ โต้แย้งกับใครก็ชนะ

   
ผู้แต่ง : โจนาทาน เฮอร์ริ่ง 
ผู้เรียบเรียง : โจนาทาน เฮอร์ริ่ง 
ผู้แปล : - 
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น
จำนวนหน้า : 256
ราคา : 240 บาท
ผู้สรุป : หอสมุด ธ.ก.ส.  
   
   
บทสรุป :

          ในแต่ละวัน เราต้องพบเจอและพูดคุยกับคนมากมาย หลายครั้งความคิดเห็นที่แตกต่างก็นำไปสู่การโต้แย้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะหาเหตุผลสารพัดมาเกลี้ยกล่อมให้อีกฝ่ายคล้อยตาม

          หารู้ไม่ว่าวิธีที่ดีกว่าคือการพูดให้น้อยลงต่างหาก

          เพราะบางครั้งการอธิบายเหตุผลและชักแม่น้ำทั้งห้า ใช่ว่าจะให้ผลดีอย่างที่คิด หนังสือเล่มนี้จึงแนะนำเทคนิคง่ายๆที่ช่วยให้คุณโต้แย้งโดยใช้คำพูดเพียงไม่กี่คำ...แต่หนักแน่นจนทำให้แม้แต่คนที่ค้านหัวชนฝาหันมาคล้อยตามคุณได้ทันที พร้อมตัวอย่างประโยคสนทนาที่คุณสามารถนำมาปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์

          มันจะช่วยให้คุณมองการโต้แย้งในแง่บวกมากขึ้นหลังจากอ่านจบ คุณจะพบว่าแค่พูดให้น้อยลงและรอจังหวะให้ดี คุณก็สามารถพลิกกลับมาเป็นต่อได้ในทุกการโต้แย้ง รวมทั้งสามารถเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายให้หันมาคล้อยตามคุณได้...ด้วยคำพูดแค่ไม่กี่คำ

          และที่สำคัญ คุณสามารถทำทั้งหมดนั้นได้โดยไม่ต้องขึ้นเสียงหรือตะคอกใส่ใครเลย
 

          ดังนั้นแล้วเรามาดูกันดีกว่าว่า “กฎแห่งการโต้แย้ง” นั้นมีอะไรบ้าง

          กฎข้อที่ 1 จงเตรียมพร้อม   ก่อนการโต้แย้งทุกครั้ง คุณต้องไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่าคุณกำลังโต้แย้งในเรื่องใด สิ่งที่คุณต้องการอย่างแท้จริงคืออะไร คุณแค่อยากให้อีกฝ่ายเข้าใจหรือต้องการผลลัพธ์ที่จับต้องได้มากกว่านั้น ต้องตีกรอบให้กับข้อโต้แย้ง อีกทั้งควรนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือ

          กฎข้อที่ 2 อ่านเกมให้ขาดว่าควรเดินหน้าหรือถอยหลัง  จงจำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องโต้แย้งในทุกเรื่องที่คุณไม่เห็นด้วย เพราะบางครั้งการปล่อยมันไปอาจจะเป็นวธีที่ดีกว่า แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ คุณก็ต้องแน่ใจว่าเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี รวมทั้งพิจารณาจังหวะเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม

          กฎข้อที่ 3 แค่รู้ว่าพูดอย่างไรก็ชนะไป 90% แล้ว  ใช้เวลาเตรียมพร้อมให้แน่ใจว่าคุณจะนำเสนอข้อโต้แย้งได้อย่างเรียบง่ายและน่าดึงดูดใจ อย่พูดถึงแต่มุมมองของคุณเท่านั้น แต่ให้กล่าวถึงมุมมองของอีกฝ่ายด้วย จงใช้ภาษาที่มีสีสันและดูน่าตื่นเต้นเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นตัวและคล้อยตามข้อโต้แย้งของคุณยิ่งขึ้น

          กฎข้อที่ 4 ใช้หูให้มากกว่าใช้ปาก   การฟังให้มากกว่าพูดนั้นสร้างข้อได้เปรียบให้คุณในหลายๆทาง คุณจะรู้ได้ถึงสาเหตุที่ทำให้อีกฝ่ายเห็นไม่ตรงกับคุณ เข้าใจมุมมองของเขา และรู้ว่าวิธีใดจะสามารถชักจูงให้เขาคล้อยตามคุณได้ ไม่แน่ว่าหากคุณปล่อยให้เขาพูดอยู่เพียงฝ่ายเดียว เขาอาจจะกำลังขุดหลุมพรางที่ทำให้ตัวเองพลัดตกลงไปในภายหลังก็เป็นได้ ดังนั้น จงฟัง ฟัง และฟัง เพราะมันมีความสำคัญมาก ผมจึงต้องย้ำกับคุณถึงสามครั้ง

          กฎข้อที่ 5 ตั้งรับอย่างมีชั้นเชิง    ในระหว่างการโต้แย้ง คุณสามารถยอมรับข้อเท็จจริงและข้อสรุปเบื้องต้นของอีกฝ่ายได้ แต่ก็ควรพยายามหาประเด็นที่มีน้ำหนักมากกว่ามาทำให้ข้อสรุปของคุณฟังดูน่าดึงดูดใจ การนำเสนอวิธีอื่นๆ ในการมองสถานการณ์หรือการหยิบยกประเด็นที่ไม่เคยถูกพิจารณามาก่อนจะช่วยให้คุณควบคุมการสนทนาไปในทิศทางที่ต้องการได้ จงรู้จักคิดนอกกรอบ อย่าจำกัดตัวเองให้มองสถานการณ์จากแค่มุมเดียว ถ้าคุณใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเหมาะสม ข้อโต้แย้งของคุณจะมีน้ำหนักเหนือกว่าข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายได้อย่างแน่นอน

          กฎข้อที่ 6 ระวังหลุมพรางที่อีกฝ่ายขุดไว้    คุณควรระวังข้อโต้แย้งที่ฟังดูน่าเชื่อถือในตอนแรก แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างเจาะลึกแล้วกลับพบว่ามันไม่ใช่ข้อโต้แย้งที่เหมาะสมแม้แต่น้อย คุณต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมาเป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ลองถามตัวเองดูว่าเขาปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาเองและสรุปผลไปตามนั้นหรือเปล่า

          กฎข้อที่ 7 เมื่อต้องโต้แย้งในที่สาธารณะ ให้เลียนแบบนักพูดเดี่ยวไมโครโฟน   สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ความชัดเจนและความกระชับ ถ้าคุณไม่ได้ถูกฝึกมาให้เป็นนักเทศน์หรือนักแสดงตลกเดี่ยวไมโครโฟน คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำให้ผู้ฟังหัวเราะหรือซาบซึ้งใจ แค่เสนอประเด็นให้ชัดเจนและน่าเชื่อถือพอ แต่ถ้าคุณบังเอิญมองเห็นโอกาสที่จะสร้างเสียงหัวเราะได้ ก็อย่าลังเลที่จะคว้ามันเอาไว้

          กฎข้อที่ 8 การโต้แย้งด้วยการพูดว่ายากแล้ว การโต้แย้งด้วยการเขียนยิ่งต้องระวังกว่า    คุณต้องเขียนให้ชัดเจนและตรงไปตรงมา อย่าพยามยามเขียนให้ดูฉลาดหรือซับซ้อนโดยไม่จำเป็น คุณควรจะเลือกใช้ประโยคสั้นๆ และเฉียบคม เพื่อให้ข้อความของคุณมีความกระชับและตรงประเด็นมากที่สุด

          กฎข้อที่ 9 ยิ้มให้กับทางตัน   อย่าบีบให้อีกฝ่ายตอบตกลงทันทีถ้าไม่จำเป็น เพราะคุณควรให้เวลาเขาได้คิดทบทวนถึงสิ่งที่คุณพูดก่อน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ คุณก็ควรคิดให้รอบคอบว่าในท้ายที่สุดแล้วคุณต้องการอะไรจากข้อโต้แย้งกันแน่ ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังเจอกับทางตัน ก็ให้ลองคิดนอกกรอบและมองหาวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่คุณต้องการ

          กฎข้อที่ 10 ความสัมพันธ์สำคัญที่สุด   พึงระลึกไว้เสมอว่าการรักาความสัมพันธ์อันดีกับคนที่คุณพูดด้วยมีความสำคัญกว่าชัยชนะในการโต้แย้ง คุณอาจจะชักจูงเขาไม่สำเร็จในครั้งนี้แต่ก็ยังมีโอกาสอื่นๆรออยู่อีก ในทางเดียวกัน ต่อให้คุณชักจูงเขาได้ในครั้งนี้ ก็ไม่แน่ว่าคุณอาจจะต้องถกประเด็นอื่นๆกับเขาอีก อย่างไรก็ตาม การโต้แย้งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณถึงจุดแตกหัก อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณ จงโต้แย้งด้วยความระมัดระวังเพราะมันจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณแน่นแฟ้นขึ้น ไม่ใช่ย่ำแย่ลง
 

          หลังจากเรารู้จัก กฎ10ข้อ ของการโต้แย้งที่ดีไปแล้ว เราจะพิจารณาสถานการณ์ที่มักจะนำไปสู่การโต้แย้ง รวมทั้งนำกฏ 10 ข้อ มาประยุกต์ใช้ไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์ไหนก็ตาม 

 

   
สารบัญ

สารบัญ

สารบัญ