เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

ดั่งดวงแก้วส่องสว่างทางสายงาม

   
ผู้แต่ง : มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
ผู้เรียบเรียง : มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 
สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊ค
จำนวนหน้า : 304
ราคา : 300 บาท
ผู้สรุป : นานมีบุ๊ค  
   
   
บทสรุป :

            60 พระอัจฉริยภาพสมเด็จพระเทพ 4 แบบอย่างชีวิตที่ เก่ง ดี มีสุข

            
‘ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม’ คือหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 โดยรวบรวม 60 พระอัจฉริยะภาพและพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเทพฯ แบบอย่างชีวิตที่ เก่ง ดี มีสุข เพื่อให้ผู้อ่านได้รับแรงบันดาลใจให้พากเพียรเรียนรู้และขยันอดทนทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

            หนังสือเล่มนี้จัดทำโดย มูลนิธิศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในพระราชูปถัมถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้เวลาเตรียมตัวตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว และค่อยๆ เก็บรวบรวมข้อมูล เขียน เรียบเรียง จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายปีก่อน โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ซึ่งได้จัดงานเปิดตัวแนะนำหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว

            เนื้อหาของหนังสือ ‘ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม’ แบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกคือ พระราชประวัติในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 แสดงถึงความเป็นนักปราชญ์ ความเป็นผู้มีวิชาแตกฉาน ความเป็นผู้รอบรู้ของพระองค์ ซึ่งเป็นทั้งนักอักษรศาสตร์ นักการศึกษา นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักภูมิศาสตร์ นักดนตรี ฯลฯ ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องของพระนิสัยส่วนพระองค์ อาทิ การเป็นนักอ่าน นักจดบันทึก ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ทรงมานะในการเรียนรู้ ส่วนมี่ 4 คือพระจริยวัตรอันงดงาม อาทิ ทรงมีความกตัญญูเป็นเลิศ ทรงมีน้ำใจนักกีฬา ทรงเปี่ยมด้วยคุณธรรม ฯลฯ และส่วนที่ 5 คือเรื่องราวความประทับใจในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากพระอาจารย์และพระสหาย

            รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ผู้ที่ทำงานอย่างใกล้ชิด และเป็นหนึ่งในผู้รวบรวม เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ และผศ.ดร.สุกัญญา บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระสหายของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในสมัยที่ทรงศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมเสวนา ซึ่งได้มาถ่ายทอดความทรงจำเมื่อเมื่อครั้งมีโอกาสได้เรียนหนังสือร่วมชั้นปีเดียวกันกับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่าง พ.ศ.2516-2520

            ตอนนั้นทุกคนเป็นนิสิตใหม่กันหมด ต่างคนต่างตื่นเต้น เด็กโรงเรียนเตรียมอุดมฯเข้ามาเยอะ ครึ่งหนึ่งของคณะเป็นเด็กเตรียมฯ แต่พระองค์ท่านมาจากโรงเรียนจิตรลดา มีแค่พระองค์ท่านและพระสหายอีก 2 คน เพราะฉะนั้น พระองค์ท่านก็คงเก้อเขินเป็นธรรมดา แต่พวกเราทั้งหลายตื่นเต้นมาก เพราะมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มาเรียนด้วย เราก็เกร็งและเกรงไม่กล้าคุยด้วย กลัวจะใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ด้วย มาส่งเสด็จ และบอกพวกเราว่า ไม่ต้องกลัว ให้ไปคุยกับท่านเถอะ คุยธรรมดาก็ได้ พอท่านผู้หญิงมณีรัตน์บอกให้ใช้ภาษาลำลองได้ เราก็ใช้กัน มีชื่อเล่นอะไรก็ใช้ชื่อเล่นของตัวเองไป ไม่จำเป็นต้องใช้ข้าพระพุทธเจ้า หรือราชาศัพท์ครบถ้วนตามราชประเพณี ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ทรงวางพระองค์เป็นกันเอง และโปรดให้ปฏิบัติต่อพระองค์เหมือนนิสิตนักศึกษาทั่วไป

            หน้าปกของหนังสือ ‘ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม’ เป็นพระฉายาลักษณ์ของ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในชุดนิสิต ทรงถือกระเป๋าสีน้ำเงินขลิบขาว สายสะพายขาว ในความทรงจำของผศ.ดร.สุกัญญานั่นคือกระเป๋าที่ทรงถือเมื่อทรงเป็นนิสิตมีอยู่ใบเดียว นอกนั้นทรงถือถุงผ้าปักรูปช้างอีก 2-3 ใบ แสดงถึงพระอุปนิสัยประการหนึ่งที่โดดเด่นคือ ทรงมัธยัสถ์ ไม่ใช่จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ได้เล่าอีกว่า ผู้ที่ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสตามเสด็จบ่อยๆ จะสังเกตว่าโครงการหรืองานที่ทรงทำอยู่นั้น นอกจากจะทรงเริ่มจากเล็กๆก่อนแล้ว ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การประหยัด ไม่ใช้เงินมากมายเกินความจำเป็น อะไรที่ควรทำก่อน ทำหลัง หรืออะไรควรทำขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก หรือจะลดขนาดใหญ่มาเป็นขนาดเล็กแต่ประโยชน์พอๆกัน หรือใกล้เคียงกัน จะทรงเลือกขนาดที่ประหยัดและเกิดประโยชน์มากที่สุด แม้ว่าเงินนั้นจะเป็นเงินงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน แต่พระองค์ท่านทรงถือว่าต้องประหยัด เพราะเงินนั้นคือเงินภาษีของประชาชนที่ควรจะใช้อย่างระมัดระวังเพื่อให้คุ้มค่าและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

            “ในถุงผ้าของพระองค์ท่านเหมือนกระเป๋าโดราเอมอนเลย มีทุกอย่างในถุงนั้น ซึ่งหนักไม่ใช่เล่น แต่ทรงแบกมาเสมอ ทุกอย่างมีพร้อมสรรพ เพื่อนขอกาว มีค่ะ เพื่อนขอแม็ก มีค่ะ เพื่อนจะเป็นลม ยาดมยังมาเลยค่ะ พระองค์ท่านทรงมีทุกอย่าง หนักก็หนัก แต่พระองค์ท่านชอบหิ้ว แล้วจะมีดิกชันนารีด้วย สมัยก่อนเราไม่มีมือถือพิเศษแบบสมัยนี้ ดิกชันนารีเล่มหนาปึกพระองค์ท่านก็ทรงแบกเสมอ เพื่อนๆก็ชอบสิคะ เพราะสะดวก มีอะไรขอใช้ประจำ รู้สึกว่าพระองค์ท่านโอบอ้อมอารีกับเพื่อน กับรุ่นพี่ กับรุ่นน้อง พวกสมาชิกสมทบในคณะอักษรศาสตร์ พระองค์ท่านก็ทรงมีพระเมตตาไปด้วย อย่างเช่น มีเด็ก 3 คนพี่น้องมาขายขนมเป็นประจำ เล็กๆน้อยๆ พระองค์ท่านทรงแวะซื้อ และทรงซักจนรู้ว่า เขามีพี่น้องทั้งหมด 4 คน แต่มาขายช่วยแม่ทั้งหมด 3 คน นอกจากนั้นยังมีสมาชิกในห้องเรียนประจำของเราคือสุนัข จะมีสุนัขเข้ามาเรียนด้วย มีเจ้าหมีที่ตัวดำ ตัวใหญ่มาก เป็นสุนัขเจ้าถิ่น เขามีมุ้งนอน พระองค์ท่านทรงทราบขนาดนี้ ตัวนี้มันอภิสิทธิ์นะ มีมุ้งนอน ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับสมเด็จพระเทพฯมาก ชื่อแม่มาร์กาเร็ต เป็นหมาลูกครึ่ง ขนออกขาวแต่มอมหน่อย กลิ่นมาทีไรเราทุกคนจะรู้เลยว่ามาร์กาเร็ตมาแล้ว มันจะรักสมเด็จพระเทพฯมาก เรียนวิชาปรัชญากรีก บาลี จะเข้ามานั่งทับพระบาทเฉยเลย หมอบตรงพระองค์ท่าน และจะอยู่จนกระทั่งอาจารย์สอนเสร็จ พระองค์ท่านก็เมตตาให้มันนั่งอยู่”

            พระนิสัยส่วนพระองค์ประการสำคัญอีกอย่างที่เราทราบกันดีคือ ทรงโปรดการอ่านเป็นอย่างยิ่ง ทรงอ่านหนังสืออกตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ทรงเพลิดเพลินกับเรื่องราวหลากหลายที่ได้รับจากการอ่าน โปรดการศึกษาวรรณคดีทั้งของไทยและต่างประเทศ โปรดที่จะใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการซื้อหาหนังสือมากกว่าสิ่งอื่น ความรักการอ่านทำให้ทรงเรียนรู้เรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ ทรงสนพระราชหฤทัยอ่านหนังสือหลากหลายประเภท จึงทรงมีความรอบรู้ สามารถเชื่อมโยงความรู้ศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากโปรดการอ่านแล้ว พระองค์ท่านยังเป็นนักจดบันทึก ในการเสด็จไปที่ต่างๆ สิ่งที่มักจะเห็นจนชินตาคือ ทรงถือสมุดจดบันทึก กระเป๋าหรือย่าม ปากกาและกล้องถ่ายรูปประจำพระวรกายเสมอ ซึ่งพระองค์ท่านได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นนักจดบันทึกที่หาผู้ใดเทียบได้ยาก ทรงจดบันทึกอย่างเป็นระบบมาก การที่ทรงทำเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ประจำพระองค์นั้น เท่ากับทรงมีวิธีการย่อความ สรุปความรู้และจัดการกับความรู้ให้เป็นหมวดหมู่ เพิ่มความจำในสมองและสามารถนำความจำเหล่านั้นมาใช้เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์

            รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กล่าวว่าพระจริยวัตรหลายอย่างของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ล้วนเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไป เนื่องจากพระองค์ทรงมีพื้นฐานที่ดี ความรู้ที่ดี นอกจากนั้นแล้ว ทรงมีปรัชญาและอุดมการณ์อยู่หลังพระราชกรณียกิจทุกเรื่อง เช่นเรื่องการศึกษา ซึ่งโครงการแรกที่ทรงริเริ่มใน พ.ศ.2523 หลังจากสำเร็จการศึกษา คือโครงการอาหารกลางวัน ผักสวนครัวที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 3 แห่ง ตอนแรกพระองค์ทรงรับสั่งว่าต้องไปทำเงียบๆ แล้วเลือกโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่พอจะเดินทางเข้าไปถึง ไม่ทุรกันดารเกินไป อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าเราให้เด็กมีสุขภาพที่ดี เด็กจะได้เรียนหนังสือได้ดี การมีสุขถาพที่ดีต้องมีโภชนาการที่ดี

            “โครงการแรกที่ริเริ่มคือโครงการอาหารกลางวัน ผักสวนครัว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันหลักการก็เหมือนกับที่ฝรั่งพูดกันว่า ถ้าเอาปลาไปให้เขา เมื่อเขาทานปลาหมด ก็ต้องเอาปลาตัวใหม่ไปให้ แต่ถ้าสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลารับประทานไปตลอดชีวิต โครงการของพระองค์ท่านก็เช่นเดียวกัน ถ้าเอาอาหารไปบริจาค ก็ต้องบริจาคกันอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นให้ผลิตอาหารเอง และวิธีทรงงานของท่านก็ไม่ได้ประกาศตูมตามใหญ่โต พระองค์ท่านจะเริ่มเล็กๆและค่อยๆทำไปหาความรู้ ทดลองแก้ไข และค่อยๆเชื้อเชิญคนเข้ามา พระองค์ท่านจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างคน”

            อีกหน้าที่หนึ่งของสมเด็จพระเทพฯ คือ ทรงเป็นทูลกระหม่อมอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) วิชาที่ทรงสอนคือวิชาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล พระองค์ท่านทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทูลกระหม่อมอาจารย์อย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงเวลาที่ต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดห่างไกล แต่เมื่อถึงวันที่พระองค์จะต้องทรงสอนจะเสด็จกลับมาสอน ถึงปัจจุบันนี้พระงอค์ทรงสอนมาเป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว และเนื่อมงจากเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันกับ ผศ.ดร.สุกัญญา บำรุงสุข จึงมีความสนใจเป็นพิเศษว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีหลักการสอนอย่างไร

            พระอัจฉริยภาพและพระจริยวัตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังมีอีกมากมายหลายประการที่ปรากฎอยู่ใน ‘ดั่งดวงแก้ว ส่องสว่าง ทางสายงาม’ หนังสืออันทรงคุณค่า ที่นอกจากน่าหามาอ่านแล้ว ยังเป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจอีกด้วย

 

 

   
สารบัญ

ดาวน์โหลดเอกสาร