เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

CSR (CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY)

   
ผู้เรียบเรียง : PHILIP KOTLER AND NANCY LEE ม.ร.ว.รมณียฉัตร แก้วกิริยา 
สำนักพิมพ์ : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด
จำนวนหน้า : 328 หน้า
ราคา : 319 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์  
   
   
บทสรุป :

    

                           

    หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติ  เนื้อหากล่าวถึงแนวคิดเด่นๆ ในเรื่องกิจกรรมการช่วยเหลือสังคม วิธีการสร้างโครงการกุศลเพื่อภาพลักษณ์องค์กร

                ความหมายของคำว่า CSR หรือบรรษัทบริบาลคือ  การยอมรับพันธกิจความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น  อีกความหมายหนึ่ง CSR  คือ  พันธสัญญาทางธุรกิจเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยอาศัยพนักงาน  ครอบครัวพนักงาน  ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม

                ผู้เขียนเน้นการใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระในการเลือกแนวปฏิบัติทางธุรกิจและการใช้ทรัพยากรขององค์กร

                จุดหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ การระบุรวมแนวทางที่ดีที่สุดในการเลือกประเด็นปัญหาสังคมต่าง ๆ ซึ่งเหมาะกับองค์กร  การคัดสรรแนวทางความคิดที่จะส่งผลดีที่สุดต่อสังคมและตัวองค์กร  การพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพจะประสบความสำเร็จและนำไปปฏิบัติ  รวมถึงการประเมินผลลัพธ์

                องค์กรอาจให้การสนับสนุนได้ในหลายรูปแบบรวมถึงการบริจาคเป็นเงินสด  การให้ทุนการออกเงินโฆษณา  การประชาสัมพันธ์  การเป็นสปอนเซอร์  การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี  การบริจาคเป็นสินค้า  เช่น  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์  บุคลากรอาสา  และการให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางจัดจำหน่าย

                กิจกรรมหลัก 6 ประเภท ที่นำมาใช้เกี่ยวเนื่องกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม มีดังนี้

                1. การส่งเสริมประเด็นสังคม เป็นการเชิญชวนให้เสียสละเวลา  เงิน  หรือทรัพยากรอื่นที่ไม่ใช่เงินเพื่อสนองตอบกิจกรรมและลงมือปฏิบัติ  ซึ่งจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของตราสินค้า  สร้างความนิยมในสินค้า เพิ่มยอดขาย  และสร้างความซื่อสัตย์ต่อตราสินค้า  ขั้นตอนในการวางแผน  คือ  เริ่มต้นหาพันธมิตรวางแผนทีมงาน  ระบุกลุ่มเป้าหมายและสร้างข่าวสาร วางองค์ประกอบแคมเปญ  ช่องทางสื่อ  การประเมินแผน  งบประมาณและแผนปฏิบัติการ

                2. การตลาดเกี่ยวเนื่องกับประเด็นสังคม  คือ การมีส่วนช่วยสนองต่อประเด็นสังคมโดยอาศัยยอดขาย  ซึ่งจะต้องมีข้อตกลงกับฝ่ายการตลาดหรือเป็นคำสัญญาว่าจะบริจาคเงินจำนวนหนึ่งจากผลกำไรหลังเสียภาษี

                3. การตลาดเพื่อสังคม  คือ วิธีการที่องค์กรสนับสนุนการจัดทำโครงการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงสุขอนามัย  ความปลอดภัย  สภาวะแวดล้อมหรือความเป็นอยู่ของประชาชน

โดยกำหนดวัตถุประสงค์การใช้หลักการและเทคนิคการตลาด  ซึ่งต้องใช้สื่อที่มีหลากหลาย  รวมทั้งวิทยุ โทรทัศน์  สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมการตลาดเพื่อสังคม

                4. การบริจาคเพื่อการกุศล  ขอบเขตทางเลือกการบริจาคเพื่อการกุศลเปลี่ยนจากกรรมวิธีแบบดั้งเดิมที่เน้นเรื่องเงินสด  มาเป็นการบริจาคที่มีทั้งสินค้าและบริการ  การจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุญาตให้ใช้พื้นที่  ช่องทางจัดจำหน่ายและอุปกรณ์

 5. อาสาสมัครช่วยเหลือชุมชน

                    การอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนได้รับการมองว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของการช่วยเหลือที่มีความจริงใจและน่าพอใจ  เป็นการสร้างสัมพันธภาพให้กับชุมชนนับว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์องค์กร และอาสาสมัครช่วยเปิดตลาดใหม่ ๆ  รวมถึงการสนับสนุนสินค้าที่มีการพัฒนาด้วย

                6. ข้อปฏิบัติทางธุรกิจเพื่อรับผิดชอบต่อประเด็นสังคม คือ  การมุ่งเน้นที่กิจกรรมอันมีผลกระทบต่อชุมชนและปกป้องสิ่งแวดล้อม

                นอกจากนี้ยังมีแนวปฏิบัติที่จะช่วยลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำกระบวนการและการลงมือปฏิบัติสำหรับแต่ละกิจกรรม ดังนี้ คือ

                1. ตั้งทีมงานภายในที่ผสมผสานพนักงานจากหลายหน่วยงานเพื่อจัดทำแผน

                2. ให้พันธมิตรชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน

                3. กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและเป้าหมาย (ผลลัพธ์) ที่วัดได้สำหรับองค์กร

                4. กำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและเป้าหมาย (ผลลัพธ์) ที่วัดได้สำหรับประเด็นสังคม

                5. จัดทำแผนการสื่อสาร  เพื่อชี้ให้เห็นถึงการรับรู้  ความห่วงใย  การมีส่วนร่วมและพฤติกรรมจากกลุ่มผู้รับข่าวสาร

                6. กำหนดและวางแผนสำหรับองค์ประกอบเพิ่มเติมเชิงกลยุทธ์

                7. ทำให้ผู้บริหารระดับสูงเห็นด้วย  เพื่อสนับสนุนงบประมาณ

                สำหรับการตัดสินใจหลักในการปรับใช้และลงมือปฏิบัติที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมจะมุ่งเน้นที่กระบวนการคัดเลือกประเด็นสังคมที่ตัวกิจกรรมจะสนองต่ออย่างระมัดระวัง จัดทำแผนลงมือปฏิบัติการอย่างบูรณาการและมีกลยุทธ์ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายที่สามารถวัดได้และสามารถรายงานผลลัพธ์ที่ถูกต้องด้วย

                หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างจากหลายบริษัท  หลายองค์กร  มีกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจนโดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงความพยายามในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม  สิ่งแวดล้อม  และเศรษฐกิจรวมถึงมีจุดมุ่งหมายช่วยให้การลงทุนขององค์กรเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต

                ในโอกาสวันเข้าพรรษา  ขอให้น้องๆ ได้บุญกันถ้วนหน้าการทำประโยชน์ให้กับพุทธศาสนาก็นับว่าได้ปฏิบัติตามกิจกรรม CSR แล้วค่ะ ดีจัง!

                หาอ่านได้ที่ห้องสมุดชั้น 8 น้อง ๆ ยินดีบริการให้ด้วยความเต็มใจค่ะ 

   
สารบัญ