เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

ชีวิตใสวัยเกษียณ

   
ผู้เรียบเรียง : ประทุมพร วัชรเสถียร 
สำนักพิมพ์ : บริษัท พิมพ์ดี จำกัด
จำนวนหน้า : 198 หน้า
ราคา : 165 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์  
   
   
บทสรุป :

                        

               ความชื่นชอบในผู้เขียนเป็นการส่วนตัวและมีมานานแล้ว  จึงดีใจที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้  เพราะผู้สรุปติดตามผลงานนวนิยายที่ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่น ปี 2543 เรื่อง “ดวงใจ” นอกจากนี้ยังได้ชมเธอจากรายการทางวิทยุและโทรทัศน์  ศรัทธาเธอมากตอนที่วิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศ

                                หนังสือเล่มนี้  อ่านง่าย  ทุกตัวอักษรมีความหมายอย่างชัดเจน  ตรงประเด็น  ไม่เยิ่นเย้อ  ใช้สำนวน
ภาษาที่อ่านสนุก  พร้อมได้สาระชนิดที่วางมือไม่ลง

                                สรุปได้ดังนี้

                                v   ผู้เขียนอายุ 60 ปี เมื่อ พ.ศ. 2546  บอกว่าหลังเกษียณได้รู้ได้เห็นจากการศึกษาตัวเอง และคนอื่น ๆ จึงเก็บ
บางแง่บางมุมมาเล่าสู่กันฟัง  แบ่งปันด้วยความหวังดีและจริงใจ

                                v   คนที่เหลือเวลาอีก 5 ปี 10 ปี กว่าจะเกษียณจะต้องมีแผน สติและปัญญาไว้เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้วัยเกษียณเป็นวันเกษมในชีวิตที่เหลือ

                                v   จัดงบประมาณรายรับรายจ่ายประจำเดือนอย่างเป็นรูปธรรม  ควรทำบัญชีค่าใช้จ่ายประจำเดือนด้วย

                                v   วิธีเพิ่มเงินก้อนเล็กให้เป็นก้อนใหญ่  ก็คือลงทุนในเรื่องอสังหาริมทรัพย์  เช่น  ซื้อที่ดิน  คอนโดมิเมนียม
หรือบ้านไว้ทำกำไร

                                v   คนที่ไม่เคยอยู่บ้านเพราะใช้เวลาทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง  พอเกษียณก็ขอให้สำรวจในครัวก่อนว่ามีอะไรที่จะใช้ได้  แม้กระทั่งอาหารที่ใกล้หมดอายุ  เตรียมการทำของทานเอง

                                v   มองดูบริเวณบ้าน  จัดสวนไว้นั่งส่วนตัวเพื่อมีเวลาทบทวนว่าจะทำอะไรได้บ้าง  เพื่อผ่อนคลายและไว้
ต้อนรับเพื่อน ๆ

                                v   บริหารห้องให้เข้ารูปและใช้ประโยชน์ให้ได้ทุกมุมโดยใช้หลักง่าย ๆ คือ  ใช้  ให้  ขาย  ทิ้ง

                                ใช้  หมายถึง  ของเก่าเก็บที่หมกอยู่ในลิ้นชัก ใต้เตียง  หรือในห้องเก็บของ  นำออกมาใช้ของใหม่

                                ให้  ตั้งแต่หนังสือ  เสื้อผ้า  ข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่มีซ้ำซ้อน  เช่น  ถ้วยชาม  ขวดเปล่า  เครื่องเล่นวิทยุ  รูปเก่า  เป็นต้น    

                                ขาย  ของเก่าขายให้  “ซาเล้ง”  ของรกพิเศษ  คือหนังสือน่าอ่าน  ก็ขายได้เป็นกอบเป็นกำ  เพราะราคาดีหรือเก็บให้ห้องสมุดก็ได้ประโยชน์

                                ทิ้ง  คือ  ทิ้งอย่างมีระบบ  โดยการแยกกระดาษ  โลหะ  บรรจุใส่ถุงกองไว้ให้ขยะ

                                v   เทคนิคการจัดบ้านที่ไม่เหนื่อย  คือ  จัดของใหญ่และหยาบเข้าที่เข้าทางเสียก่อน  แล้วจึงค่อยหาเวลาจัดของละเอียด  โดยถือคำพังเพยที่ไม่มีวันล้าสมัย “หยิบก็ง่าย  หายก็รู้ ดูก็งาม”

                                v   ชีวิตวัยเกษียณอยู่ในห้องที่สวยงาม  สะอาด  มีระเบียบจะช่วยให้คุณมีอารมณ์สดชื่น  ลืมความแก่

                                v   ขุดดินยกร่องปลูกพริก  ปลูกตะไคร้  ใบระหา  ผักพื้น ๆ เพื่อประหยัดเงิน

                                v   เดือนแรกหลังเกษียณ  เมื่อคุณจัดของให้น่าดูทิ้งของรก ๆ ไปแล้ว  ควรพักให้หายเหนื่อยสักสัปดาห์หนึ่งแล้วหันบริหารของชิ้นเล็ก

                                v    “อย่าเจ็บ  อย่าจน”  วลีสั้น ๆ ได้ยินเกินกว่า 1 ครั้ง  ระหว่างงานเลี้ยง  “อำลา  อาลัย”  แสดงมุทิตาจิตให้แก่ผู้เกษียณอายุ  ทำนองอวยชัยให้พรให้มีชีวิตอย่างมีความสุข

                                v   คุณจะต้องลงมือปฏิบัติจริง ๆ ตั้งแต่วันนี้อาจเป็นภาระ  ต่อไปก็จะเคยชิน  โดยเฉพาะเมื่อคุณ “เห็น”  หรือ “รู้สึก”  ถึงผลดีที่ตามมาอย่างรวดเร็วและชัดเจน  คือ

                                (1)  ตื่นเช้าให้นอนนิ่ง ๆ สักครู่  แล้วยกแข้งยกขาพอให้เลือดเดิน  แล้วบ้วนปาก  อมเกลือป่นไว้สักครู่แล้วบ้วนน้ำ  กลั้วคอจนปากหายเค็ม  ซึ่งเกลือจะช่วยชำระล้างปากที่หมักหมมค้างคืนให้สะอาด

                                (2)  ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 แก้ว  ดื่มช้า ๆ จนหมดรวดเดียว  ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายท้องได้เร็วขึ้น

                                (3)  คุณต้องถ่ายอจจาระทุกวัน  เวลาเช้าเป็นเวลาดีที่สุด  หากเป็นคนท้องผูก  ทดลองทำดังนี้

                                     -  ทานกล้วยน้ำหว้า  แอปเปิ้ล  ฝรั่ง  หรือผลไม้อื่น ๆ หลังอาหารมื้อเย็น

                                     -  ทานผักทุกมื้อหรือบางมื้อ

                                     -  ดื่มน้ำสะอาดในช่วงเวลาตั้งแต่ตื่นนอนหรือเข้านอน  ประมาณ 8-10 แก้ว

                                     -  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  ฝึกโยคะหรือเดินวันละครึ่งชั่วโมง  จะช่วยทุเลาอาการท้องผูกได้

                                (4)  อย่ายกเว้นอาหารเช้า

                                (5)  อาหาร 5 หมู่ ทุกมื้อ  อย่ารับประทานอาหารรสเผ็ด  เค็มจัด  หวานจัด  ติดต่อกันหลายมื้อ

                                (6)  อาหารมื้อเย็นไม่ควรเกินเวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น.  หากเป็นไปได้ควรทานผักหรือผลไม้

                                (7)  ใช้ครีมทำความสะอาดใบหน้า  โดยเฉพาะน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จะช่วยได้อย่างดี เพราะให้ความชุ่มชื้นสูง

                                (8)  ก่อนสระผม  ให้หมักผมด้วยน้ำมันมะพร้าว  น้ำมัน  หรืน้ำมันมะกอก  ไว้ราว 5-10 นาที  แล้วล้างให้หมดคราบมัน  ผมจะมีน้ำหนักมาก

                                (9)  ตื่นนอนเช้าตรู่  เช่น 05.00 น. หรือ 6.00 น. เป็นเวลาที่ดีที่สุด

                                (10)  การได้รับแสงแดดอ่อน ๆ  การเดินบนกรวดหยาบ ๆ วันละนิดละหน่อย  จะให้ผลดีต่อสุขภาพ

                                (11)  ควรหลับช่วงบ่าย ๆ สัก 20-30 นาที

                                (12)  ในแต่ละสัปดาห์  หากทำได้ควรนวดตัวนวดหน้า  นวดเท้า สักครั้ง  และหากเข้าอบสมุนไพรสัก 30 นาที  จะทำให้สดชื่น

                                v   ความลับที่ไม่ลับ  คือ การดื่มโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวเป็นอาหารเทวดา  ช่วยบำรุงสุขภาพ  แก้ท้องผูกและการนอนไม่หลับและสิ่งสำคัญ  คือ  ชะลอความแก่และยังช่วยให้อายุยืนอีกด้วย  นอกจากนี้ผลการวิจัยยังมีอีกว่า  แบคทีเรียในโยเกิร์ต  ทำให้เกิดวิตามินบี  จะออกฤทธิ์ช่วยแก้เหน็บชา  แก้ปลายประสาทอักเสบ

                                v   บอกตัวคุณเองทุกขณะจิตว่า  ต้องคิดบวก-ทำบวก  โดยขอให้หยิบคำว่า  “เอาคืน” หรือ  “ฝากเอาไว้ก่อนเถอะ”  ออกไปจากชีวิต  และฝึกจิตให้แข็งแรง  มิให้ตกเป็นทาสของทุกข์จริง

                                v   ชีวิต  “เกษียณสุข”   ที่น่าจะสมบูรณ์ที่สุด  คือ

                                (1)  คู่สมรสที่เกษียณพร้อมกัน  และมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่าง  “เนื้อคู่” .....มิใช่  “คู่กัด”

                                (2)  คู่เกษียณมีปัจจัยเลี้ยงตัวได้พอเพียงแก่ความต้องการและความจำเป็นของตนตลอดชีวิต

                                (3)  คู่เกษียณมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัยและไม่มีโรคประจำตัวที่  “เกินแก้”

                                (4)  คู่เกษียณไม่ต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาใหม่ของตนหรือของญาติ

                                v   ต้องเตือนตัวเองให้มี  ความอดทนสูง

                                v   ไม่หมกหมุ่นอยู่กับปัญหาตลอดวัน  ตลอดคืน

                                สุดท้าย  ผู้เขียนเสนอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้เพื่อให้ชีวิตวัยเกษียณอยู่เย็นเป็นสุข  คือ                      

      “6 ต้อง ”

                   “11 ควร”

                                “ 8 อย่า”

    “6  ต้อง”  คือ   1. ต้อง  ออกกำลังกาย  ดื่มน้ำสะอาด

                              2.  ต้อง  ไปหาแพทย์  เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด

                              3.  ต้อง  ติดต่อสังคมกับโลกแห่งข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ

                              4.  ต้อง  นำตัวออกจากบ้านไปพบปะเป็นครั้งเป็นคราว

                              5.  ต้อง  ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว

                              6.  ต้อง  ทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย  ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากน้อยเพียงใด

 

“11  ควร”   1.  ควร  ทำงานบ้าน 2-3 รายการ  เป็นประจำ

                                                    2.  ควร  มีกิจกรรมที่ช่วยฆ่าเวลาและสร้างสมาธิไปในตัว

                                                       3.  ควร  เป็นสมาชิกในสมาคมหรือชมรมที่ถูกอัธยาศัย

                                                       4.  ควร  จัดสรรรายได้เพื่อทำบุญ  หรือช่วยค่าเล่าเรียน

                                                       5.  ควร  อ่านหนังสือธรรมะหรือฟังเทศน์

                                                       6.  ควร  มีกิจกรรมใกล้ชิดกับเด็กเล็กหรือเลี้ยงสัตว์

                                                       7.  ควร  ฟังดนตรี  ร้องเพลง  หรือเล่นดนตรี

                                                     8.  ควร  มีข้าวของติดมือฝากญาติ

                                                       9.  ควร  ระบายปัญหาด้วยการเขียนใส่อนุทินส่วนตัวหรือคุยให้คนสนิท

                                                      10. ควร  ปรึกษาแพทย์

                                                      11. ควร  หาความรู้และสร้างทักษะ  เช่น  ฝึกการใช้คอมพิวเตอร์  เป็นต้น

 

“8 อย่า”      1.  อย่า  เคียดแค้น  คิดร้าย

                                                     2.   อย่า  โกรธ  ทำจิตใจให้นิ่ง

                                                     3.   อย่า  นำรายได้ทั้งหมดลงทุนทำธุรกิจใหญ่

                                                     4.   อย่า  ทำเป็นอุปสรรคในชีวิตครอบครัว

                                                     5.   อย่า  ให้คำแนะนำต่อผู้ใดในเรื่องใดเป็นอันขาด

                                                     6.   อย่า  ผิดศีลธรรม

                                                     7.   อย่า  เห็นการหย่าร้างเป็นทางออกในวัยเกษียณ

                                                     8.   อย่า  ผูกขาดการสนทนา  หรือพูดโทรศัพท์ฝ่ายเดียวเกิน 5 นาที

                               

รายละเอียดหาอ่านได้จากห้องสมุด  ชั้น 8 ค่ะ

   
สารบัญ