เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

รวยเงิน รวยสุข

   
ผู้เรียบเรียง : ผช.ศาสตราจารย์ ดร.ธนาวัฒน์ ศิริวัฒน์ธนกุล 
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด
จำนวนหน้า : 177 หน้า
ราคา : 145 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์  
   
   
บทสรุป :

                                                                                                                                                            

 

               หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมจากคอลัมน์ Money Management คุณนิตยสารSecret ซึ่งผู้เขียนได้นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์ตะวันตก ด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้จริงนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

                ผู้เขียนเน้นว่า แค่เรามีงานดี ๆ ทำมีอาหารที่มีประโยชน์ดี ๆ รับประทาน มีสุขภาพดี ๆ ที่ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีโอกาสเดินทางไปพักผ่อนที่ดี ๆ มีเวลาศึกษาความรู้ใหม่ ๆ ดี ๆ และมีคนรอบตัวที่รู้จักล้วนแต่เป็นคนดี แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับนิยามคำว่า “รวยเงิน รวยสุข”

                สรุปได้ดังนี้

                 การวางแผนทางการเงินเป็นเพียงการกำหนดค่าใช้จ่ายให้พอดีในปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนส่งผลทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขในอนาคต แต่ก็ไม่ใช่การตระหนี่ถี่เหนียวเพื่อวันข้างหน้า จนส่งผลให้ต้องเบียดเบียนการใช้ชีวิตในปัจจุบันจนผิดธรรมชาติ

                พระธรรมปิฎกได้กล่าวไว้ว่า หลักเศรษฐศาสตร์แห่งความพอดี คือ เศรษฐศาสตร์  แนวพุทธคำว่า “พอ” หมายถึง พึงพอใจ พอกับความต้องการของตนเอง คำว่า “ดี” หมายถึง ความดีงาม จริยธรรม ศีลธรรม หรือคุณธรรม

                หลักการสำคัญ คือ ทุกคนจะต้องรู้จักวิธีการบริหารเงินทองให้เพียงพอกับการใช้จ่ายที่จำเป็น ไม่มากไปน้อยไป และเน้นสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการส่วนตัวและสังคม

                การวางแผนเพื่อบรรลุอิสรภาพทางการเงินของตะวันตกสอนเป็นขั้นตอน  ดังนี้

-          กำหนดเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต

-          สำรวจเงินทอง และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีอยู่

-          เปรียบเทียบราคาของเป้าหมายที่ต้องการและเงินที่มีทั้งหมดในอนาคต แล้ววางแผนการลงทุนเพื่อให้เพียงพอกับส่วนต่างที่ยังขาดอยู่

คาถาหัวใจเศรษฐีตามบทสวดดังต่อไปนี้ อุ อา กะ สะ

อุ หมายถึง อุฏฐานสัมปทา คือ ความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพการงานที่สุจริต

อา หมายถึง อารักขสัมปทา คือ ความขยันหมั่นเพียรในการเก็บรักษาทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ ด้วยการออมเป็น 3 ส่วน ดังนี้

-          เงินสดสำรองยามฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายใบแต่ละเดือน

-          เบี้ยกรมธรรม์ประกันภัยและประกันชีวิตเพื่อบรรเทาผลเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

-          เงินลงทุนเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อมูลค่าของเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเป็นอิสระทางการเงิน ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กะ หมายถึง กัลยาณมิตตตา คือ การเลือกคบเพื่อนที่ดี

สะ หมายถึง สมุชีวิตา  คือ การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ ไม่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตในอนาคต

   ความรวยอาจต้องอาศัยผู้นำทาง โดยเฉพาะการทำความรู้จักกับคนที่มีความรู้ทางการเงิน เพื่อขอรับคำปรึกษาทางการเงินที่เหมาะสม จะได้ขึ้นบันไดเลื่อนสู่ความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว

   ผู้เขียนมีอารมณ์ขัน  แนะนำให้รู้จักซอยเลื่อมทรัพย์ ร้านแรกเจ้าของร้าน คือ เฮียเมา มีเพลงกระเป๋าแบนแฟนทิ้ง  เป็นเพลงประจำตัว  ซึ่งการเมาจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ถึง 60 โรค  เช่น  มะเร็งตับ  หัวใจ  โรคเกี่ยวกับสมอง ฯลฯ  ส่วนร้านตรงข้าม  เจ้าของร้านคือ เจ๊ราตรี เปิดตอนกลางคืน  เมื่อเข้าร้านจะจนลง  และข้างหลังร้านก็คือร้านมหรสพคอนเสิร์ต  บางทีก็มีคาราโอเกะ  เรียกว่าสูบเงินจากนักช็อป  ร้านต่อไปคือ ร้านผีพนัน เข้าร้านเล่นการพนันทุกชนิด  ความโลภทำให้เสียทรัพย์

   พุทธภาษิต :  อัตตา หิ อัตตโน  นาโถ  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ถ้าอยากบรรลุอิสรภาพทางการเงินไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ก็ควรเรียนรู้การออม  และการลงทุนจากเงินที่มีอยู่

   ตัวอย่างที่ดีที่ควรอ่าน : วางแผนการเงินอย่างเต่ากับกระต่าย เต่ากับกระต่ายเป็นเพื่อนกันเริ่มต้นทำงานเมื่อตอนอายุ 22 ปี  เหมือนกัน  แต่เต่าสัญญากับตัวเองว่าจะเก็บเงินทุกเดือน  เดือนละ  2,500 บาท หรือคิดเป็นปีละ  30,000 บาท  ไปจนถึงวันที่เกษียณ อีก  38  ปีข้างหน้า  โดยนำไปลงทุนและได้รับอัตราผลตอบแทนปีละ 10 เปอร์เซ็นต์  เมื่อถึงวันที่เกษียณเต่าจะมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายประมาณ  11 ล้านบาท  ในขณะที่กระต่ายเอาแต่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสร่ายฟุ่มเฟือยกว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่ออายุ  41  ปี  จึงพยายามเก็บออมเงินเดือนละ 5,000 บาท  หรือปีละ  60,000 บาท  โดยนำเอาไปลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนปีละ 10 เปอร์เซ็นต์  เมื่อลงทุนไปได้  19  ปี  ถึงวันที่เกษียณ  กระต่ายจะมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายเพียง  3  ล้านบาทเท่านั้น  คุณคิดว่าอยากเป็นเหมือนเต่าหรือกระต่ายคะ?

   การวางแผนชีวิตให้มั่งมีศรีสุข  มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1.       เลิกตั้งเป้าหมายเปรียบเทียบกับคนนั้น คนนี้

2.       อย่าตั้งชีวิตอยู่บนความประมาท

3.       ทำประกันสุขภาพ  ประกันชีวิต  และประกันวินาศภัย  เช่น รถยนต์ บ้านอยู่อาศัย

4.       ให้รางวัลชีวิตจากเงินที่เหลือใช้บางส่วน

  การวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ  เป็นกระบวนการที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เริ่มทำงาน  โดยกำหนด ดังนี้

1.       เก็บเงินสดในรูปของบัญชีเงินฝากให้พอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายให้ได้  6  เดือน

2.       ลองคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้หลังเกษียณโดยประมาณการค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เพราะกว่าที่จะเกษียณ  ค่าใช้จ่ายจริงอาจปรับตัวมากขึ้นหลายเท่าตัวจากอัตราเงินเฟ้อ

3.       ทำการเฉลี่ยสะสมจำนวนเงินที่ต้องการโดยตั้งเป้าหมายการออมให้ได้แต่ละเดือน เคล็ดลับของคนรวยก็คือ การกำหนดเป้าหมายของเงินออมที่ต้องการ  แล้วกันเงินส่วนนั้นออกจากเงินเดือนและใช้จ่ายเฉพาะในส่วนที่เหลือจากเงินออมนั้น

  การจดบันทึกไดอารี่การเงินใน 3 มุมมอง ดังนี้

1.       ทรัพย์สิน เริ่มด้วยการแจกแจงทรัพย์สินรายการอะไรบ้าง  และเป็นมูลค่าเท่าไร

1.1.     เงินสดและทรัพย์สินที่คล้ายเงินสด เช่น บัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ

1.2.     ทรัพย์สินลงทุน เช่น หุ้นกู้  พันธบัตร หุ้นสามัญ  อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

1.3.     ทรัพย์สินใช้ส่วนตัว  เช่น บ้าน  รถยนต์  เครื่องประดับมีค่า  และของสะสม

1.4.     ทรัพย์สินอื่นๆ  เช่น ลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งจะทำให้ได้รับรายได้หรือค่าธรรมเนียม

2.       หนี้สิน

2.1.     หนี้สินหมุนเวียน  เป็นหนี้สินที่ต้องชำระคืนภายในเวลาไม่เกิน  1  ปี  เช่น ค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าโทรศัพท์  ยอดคงค้างบัตรเครดิต  และเงินกู้ระยะสั้นที่ต้องคืนภายในเวลาที่ไม่เกิน 1 ปี

2.2.     หนี้ระยะยาว  ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเกิน 1 ปี ขึ้นไป  เช่น เงินกู้ซื้อบ้าน  รถยนต์  เป็นต้น

3.       ความมั่นคงสุทธิ  เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่เหลืออยู่หลังจากหักลบด้วยหนี้สินทั้งหมดที่กู้ยืมมา  ความมั่นคงสุทธิจะบอกถึงฐานะทางการเงินที่แท้จริง

  ขอให้รู้จักหาเงิน ใช้เงิน  และเก็บเงินอย่างมีสติ รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังทำงานอะไร  อย่างไร  ถามทุกครั้งว่าจะใช้เงินเพื่ออะไร  เหมาะสมหรือไม่

  อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก  การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก  ลูกหนี้เป็นทุกข์เพราะต้องเอ่ยปากขอยืม  ทุกข์เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย  ทุกข์เพราะถูกทวงถามเมื่อผิดนัดชำระ  ทุกข์เพราะต้องติดคุกเมื่อไม่มีเงินชำระ  ส่วนเจ้าหนี้ก็เป็นทุกข์เมื่อต้องตามทวงหนี้  เหตุแห่งทุกข์เนื่องมาจากการใช้จ่ายที่เกินตัว  หนทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนไม่เป็นทุกข์  จึงอยู่ที่การเริ่มต้นเรียนรู้คำว่า “พอเพียง”

  การซื้อบ้านคือการลงทุน  ซื้อบ้านวันนี้แล้วขายต่อในอนาคตได้กำไรมหาศาล  แต่ต้องพิจารณาทำเลที่ตั้งของที่พักอาศัยให้ดี

  คำแนะนำเพื่อชีวิตที่มีความสุขในวันนี้และวันหน้า คือ

1.       จัดสรรเงินและเวลาส่วนหนึ่งสำหรับจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุข  เช่น  อาหาร  เสื้อผ้า

นันทนาการ

2.       จัดสรรเงินและเวลาส่วนหนึ่งเพื่อจะได้ดำรงชีวิตตลอดอายุขัยโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เช่น

การพักผ่อน

3.       จัดสรรเงินและเวลาส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในทางธรรม

นอกจากบทสรุปดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเป็นผู้เข้าใจหลักคำสอนทางพุทธศาสนา  จึงประยุกต์และถ่ายทอดเนื้อหา  ความรู้  รวมถึงยกตัวอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้าและนิทานประกอบเนื้อหาทางการเงินให้เข้ากันได้อย่างดีหาอ่านได้จากห้องสมุด ชั้น 8 รับรองว่า อ่านเข้าใจง่าย ได้สาระจริงๆ

   
สารบัญ