เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

ปวดคอ - หลัง - เอว บำบัด Balavi Style ไม่ต้องกินยา

   
ผู้เรียบเรียง : พญ.ลลิตา ธีระสิริ 
สำนักพิมพ์ : รวมทรรศน์ จำกัด
จำนวนหน้า : 168 หน้า
ราคา : 195 บาท
ผู้สรุป : รุ่งเรือง เลิศจันทรางกูร  
   
   
บทสรุป :

 

โรคฮิตของคนทำงาน ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว บางคนมีอาการปวดร้าวไปทั้งแถบ ตั้งแต่คอ ไหล่ จนถึงหลังและเอว ในขณะที่บางคนปวดไปถึงศีรษะ เรียกว่าปวดไปทั้งตัว ซึ่งแต่ละคนก็ไปหาวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ทั้งวิธีการแบบโบราณ และวิธีการแบบไฮเทค แต่โดยทั่วไปแล้วถ้าอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนถ้ามีการดูแลตัวเองตามแนวธรรมชาติบำบัด

แต่ก่อนที่จะไปหาวิธีการรักษาแบบต่าง ๆ เราต้องหาสาเหตุของอาการปวดก่อน ว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีวิวัฒนาการในการรักษาหลากหลายรูปแบบ

สาเหตุของอาการ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว

เนื่องจากโครงสร้างร่างกายของคน เรามีกระดูกสันหลังแบบตั้งตรง ทำให้ต้องแบกรับน้ำหนักส่วนศีรษะและร่างกายท่อนบนเอาไว้ กระดูกสันหลังส่วนคอรับน้ำหนักของศีรษะ กระดูกสันหลังส่วนอกยังมีกระดูกซี่โครงเป็นโครงสร้างช่วยแบ่งรับน้ำหนักของ ลำตัวท่อนบน กระดูกสันหลังส่วนล่างหรือกระดูกส่วนเอวเป็นส่วนที่รับน้ำหนักทั้งหมดซึ่งทำ ให้เป็นจุดอ่อนที่สุดของโครงสร้างของกระดูกสันหลังทำให้อาการปวดบั้นเอวหรือ อาการปวดหลังส่วนล่าง หรืออาจลามไปปวดหลังส่วนบนด้วย ดังนั้น อาการ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว อาจมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1. เกิดจากโครงสร้างกระดูกสันหลังผิดรูป เช่น กระดูกค้อมตัวไปข้างหน้าหรือหลังค่อม ซึ่งอาจเป็นโดยกำเนิดหรือเกิดจากความเสื่อมของกระดูกทำให้กระดูกผุ กระดูกสันหลังแอ่นไปด้านหน้ามากไป มักเกิดกับกระดูกเอว ซึ่งผู้ที่ปวดหลังเพราะสาเหตุนี้ให้ระมัดระวังพฤติกรรมท่าทางที่จำเจในการทำงาน กระดูกสันหลังคองอ ทำให้กระดูกสันหลังคดไปด้านข้าง กรณีนี้ ควรระมัดระวังไม่ให้กล้ามเนื้อตึงเครียด

2.เกิดจากความผิดปกติของหมอนรองกระดูก ปกติหมอนรองกระดูกมีหน้าที่รองรับน้ำหนักที่จะกระทบกระแทกลงบนข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อ รองรับแรงบดจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ภายในหมอนรองกระดูกจะมีวุ้นเจลาตินหยุ่นๆ เพื่อทำให้ป้องกันแรงกระแทกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ อาการปวดหลังที่เกิดจากหมอนรองกระดูก ส่วนมากพบได้ 2 แบบ คือ



                            

   - หมอนรองกระดูกบวม ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุการยกของหนักเกินกำลัง หรือการนวดหลังที่ผิดวิธีเช่น เหยียบไปบนกระดูกสันหลัง หรือการดัดขาที่กระทำอย่างรุนแรงและไร้หลักวิชา อาการปวดหลังก็จะเกิดขึ้นทันทีและถ้าปวดมากขึ้น หลังจะแข็ง ขยับไม่ได้ เป็นต้น

   - หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้ปวดร้าวลงไปที่ขา เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกรับน้ำหนักกระแทกอย่างมากจนทำให้กระดูกอ่อนของหมอนรองกระดูกแตก และวุ้นเจลาตินที่อยู่ภายในปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทที่ออกจากกระดูกสันหลัง ส่วนมากมักเกิดกับกระดูกสันหลังส่วนเอว มักเกิดอาการปวดทันทีและจะปวดเพิ่มมากขึ้นหากมีการเอียงตัวหรือจะปวดแปลบทันทีที่มีการเอี้ยวตัวผิดท่า ถ้าวุ้นเจลาตินไปกดทับหรือเบียดเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา จะทำให้มีอาการปวดร้าวลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง

3. เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น กระดูกต้นคอสะบัดหงายอย่างรุนแรง การตกจากที่สูง การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดท่าอย่างรุนแรง ทำให้กล้ามเนื้อถูกกระชากและหดตัวหรือเกร็งตัวขึ้นมาในทันที และจะทำให้เกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันได้ การรักษาก็คือต้องพักและรัดส่วนที่บาดเจ็ดไว้ไม่ให้กระดูกสันหลังขยับสักระยะหนึ่ง เพื่อให้อาการบวมอักเสบของเนื้อเยื่ออ่อนทุเลาลง และอาการเจ็บก็จะหายไปเอง แต่หากมีอาการรุนแรงจะต้องใช้ยาแก้ปวดในระยะแรกประสานกับการบำบัดด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูและของผู้เชี่ยวชาญหรือนักกายภาพบำบัด

4. เกิดจากกระดูกผุ มักเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมักเกิดกับกระดูกส่วนเอว และจากการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน แรงกดลงไปที่กระดูกจะทำให้กระดูกที่ผุอยู่แล้วกร่อนลงและยุบตัว

ซึ่งหากอยากรู้ว่ากระดูกของเราผุหรือไม่ ให้ลองไปวัดส่วนสูงดูว่าเตี้ยลงหรือไม่ ซึ่งการบริหารกล้ามเนื้อ การนวดต้องทำด้วยความอ่อนโยนและผู้นวดควรมีความรู้และประสบการณ์

5. เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากไป เนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างที่ไม่สามารถเพิ่มให้มีมากขึ้นได้ หากคุณมีน้ำหนักตัวที่จนเกินกำลังที่กระดูกสันหลังจะรับไหว มันก็จะประท้วงโดยอาการปวดซึ่งมักจะเป็นบริเวณหลังส่วนเอว วิธีการบำบัดก็คือ ต้องลดน้ำหนักตัวลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับขนาดของร่างกาย และการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็คือ การออกกำลังกายในน้ำ เช่น การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิคในน้ำ หรือการเดินเร็ว ซึ่งต้องพิถีพิถันเรื่องรองเท้าที่ใส่ด้วยเพื่อรองรับแรงกระแทกของน้ำหนักตัว

6. เกิดจากกระดูกงอก บางครั้งกระดูกสันหลังก็เกิดเงี่ยหรือแง่งของกระดูกงอกเกินออกมา และส่วนที่งอกออกมาไปกีดขวางรูออกของเส้นประสาน หรือไปเบียดและกดเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังและร้าวลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง วิธีการรักษาก็คือ หากเป็นไม่มากให้ใช้ธรรมชาติบำบัดร่วมกับกายภาพบำบัด เช่น การฝังเข็ม การประคบร้อน การนวดด้วยอัลตร้าซาวนด์ การดึงหลัง เป็นต้น

7. เกิดจากการยกของหนัก จะมีอาการคล้ายกับคนอ้วนที่ปวดหลัง มีงานวิจัยว่าหากหิ้วของหนักตั้งแต่ 5 กก.ขึ้นไปและเดินเป็นเวลานาน เช่น การเดินช็อปปิ้ง หรือการเคลื่อนย้ายของหนัก 50 กก. หากทำนาน ๆ ก็จะปวดหลังได้ วิธีการแก้ไขก็คือ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้การฟื้นฟูความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อหลังด้วยวิธีธรรมชาติ

8. เกิดจากความเครียด ความเครียดหรือความกังวลที่มากไปและเป็นอยู่นาน ๆ จะทำให้ปวดต้นคอ เพราะร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลินทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัว หากเครียดเรื้อรังกล้ามเนื้อจะตื่นตัวตลอดเวลาและเกิดอาการเกร็งซึ่งทำให้เกิดอาการปวดได้ทั้งปวดคอ หลังและเอว วิธีการรักษาก็คือต้องหาทางคลายร่วมไปกับการดูและตัวเองด้วยวิธีการบำบัดทางธรรมชาติ

9. อาการปวดหลังในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุเส้นเอ็นจะแข็งตัว กล้ามเนื้อมีการใช้งานน้อยลงและกระดูกก็เริ่มบางตัว วิธีการแก้ก็คือ หาทางยืดหยุ่นเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ การฝึกโยคะเป็นวิธีที่ดีเพราะท่าของโยคะเป็นการยึดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทั่วตัว ซึ่งต้องมีครูฝึกที่มีความรู้และประสบการณ์มาดูแล นอกจากนี้ควรกินแคลเซียมวันละมากกว่า 400 มก. เป็นอาหารเสริม

10. เกิดจากสาเหตุของอวัยวะภายใน เนื่องจากไขสันหลังแต่ละข้อของกระดูกสันหลังมีรูเปิดให้เส้นประสาทลอดออกมาเลี้ยงทั่วร่างกาย แขนขาลำตัวรวมถึงอวัยวะภายใน ดังนั้น เมื่ออวัยวะภายในผิดปกติก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังร่วมด้วย เช่น กรวยไต หากมีอาการอักเสบจะทำให้มีปวดหลังร่วมกับเป็นไข้หนาวสั่น นิ่วในไต ทำให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ตับอ่อน หากตับอ่อนมีอาการอักเสบ จะทำให้ปวดหลังด้านซ้ายระดับเอวอย่างรุนแรง ถุงน้ำดี หากอักเสบ จะปวดหลังบริเวณใต้สะบักซ้ายและมีไข้หนาวสั่น ท้องน้อย หากผิดปกติจะปวดบั้นเอวหรือบริเวณกระเบนเหน็บ หรือการปวดหลังก่อนหรือหลังก่อนมีประจำเดือนเนื่องจากอวัยวะภายในช่องเชิงกรานมักมีเลือดคั่งอยู่มาก

11. เกิดจากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ทำให้สรีระของผู้หญิงเปลี่ยนแปลง เมื่อครรภ์โตขึ้นทำให้ต้องแอ่นท้องไปข้างหน้าเพื่อรับน้ำหนักเด็กในท้อง และมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังถูกรั้งไปด้านหน้าและรับน้ำหนักเพิ่ม ดังนั้น ผู้หญิงท้องจึงมีอาการปวดหลังแทบทุกราย

วิธีการรักษา ควรใช้การบำบัดแบบธรรมชาติ เช่น ปรับท่ายืน โดยยืดหลังให้ตรง แบะไหล่ออก แขม่วท้อง เพื่อลดการแอ่นตัวของกระดูกสันหลัง และการนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างนุ่มนวล

การบำบัดอาการปวดคอ หลังและเอวด้วยวิธีธรรมชาติ

การบำบัดอาการปวดคอ หลังและเอวสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งมีหลากหลายวิธีการที่

สามารถทำให้หายปวดได้โดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบที่กัดกระเพาะแต่อย่างใด เช่น

1. การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

การมีกล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรง เท่ากับเป็นการลดอัตราเสี่ยงของการปวดหลัง อาการหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือกระดูกทับเส้น และทำให้หลังไม่ค่อมเวลาสูงวัย ซึ่งในการบริหารควรยึดหลัก ดังนี้

1. ต้องตั้งใจเวลาบริหารอย่างจริงจัง 2. ใช้การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ลึกและยาว กำกับทุกท่วงท่าในขณะบริหาร 3. เวลาบริหารให้บริหารทั้งกลุ่มกล้ามเนื้อไม่ใช่เฉพาะบริเวณที่ปวด เช่น ปวดคอ ต้องบริหารกล้ามเนื้อคอ ไหล่ กล้ามเนื้อหลังส่วนบน และสะบัก ถ้าปวดหลังและเอว ต้องบริหารกล้ามเนื้อหลัง หน้าท้องและสะโพก และบริเวณเชิงกรานให้แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน 4. ให้ทำการบริหารอย่างช้า ๆ นิ่มนวล 5. ขณะบริหารควรสร้างบรรยากาศหรือทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดคอ หลังและเอวอยู่แล้ว ให้พยายามขยับตัวและเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การกระดกข้อเท้า ข้อมือ กำ-คลายมือ จิกและแผ่นิ้วเท้า ยกไหล่ และเมื่อขยับตัวได้มากขึ้นจึงเริ่มทำการบริหารกล้ามเนื้อในท่าต่าง ๆ เช่น ท่าบริหารกล้ามเนื้อหลัง เอว ก้น หน้าท้อง ท่าบริหารคอ ไหล่และสะบัก และหลังส่วนบน และก่อนออกกำลังกายควรทำการวอร์มอัพร่างกายด้วยการยืดเส้นก่อนเสมอ หรือจะรวมท่าบริหารหลัง คอ ไหล่ ควบคู่ไปด้วยก็จะดียิ่งขึ้น

2. การฝึกผ่อนคลายจิตใจ เนื่องจากอาการปวดหลัง ปวดเอว โดยเฉพาะปวดคอ มีสาเหตุมาจากความเครียดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การฝึกผ่อนคลายความเครียดเพื่อช่วยลดอัตราเสี่ยงของอาการปวดจึงมีความจำเป็น ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฝึกหายใจ เช่น การนั่งสมาธิ การฝึกคลายกล้ามเนื้อทั่วร่าง การใช้เสียงเพลง(ดนตรีบำบัด) การใช้กลิ่นหอม การใช้วิตามินและเกลือแร่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น วิตามินบี 100 วิตามินซีชีวภาพ แคลเซียม แมกเนเซียม เป็นต้น

3. การปรับเปลี่ยนท่วงท่าในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องตามสรีระของร่างกาย เช่น การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การก้ม เงย และการอยู่ในอิริยาบถเดียวเป็นเวลานาน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปวดคอ หลังและเอว ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ต้องสังเกตท่าทางของตัวเราและปฏิบัติให้ถูกต้องตามโครงสร้างสรีระของร่างกาย เช่น การนั่ง ไม่ควรนั่งหลังค่อม เก้าอี้ที่นั่งควรมีพนักพิงเพื่อช่วยพยุงถ่ายน้ำหนักของหลัง การนอน เนื่องจากเราใช้เวลาในการนอนวันหนึ่ง ๆเฉลี่ย 6-8 ชั่วโมง ดังนั้น ลักษณะของที่นอนและหมอนต้องรองรับแนวกระดูกสันหลังให้เป็นไปตามท่าธรรมชาติ ไม่ผิดรูป เช่น แหงน หรือ เงย โค้งงอไปข้างใดข้างหนึ่ง เป็นต้น

4. การใช้สมุนไพรคลายเส้น มีสมุนไพรหลายตัวที่สามารถนำมาใช้บำบัดอาการปวดได้ เป็นทั้งยาภายนอก ภายใน ทั้งชนิดกินที่มีฤทธิ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และชนิดทาที่ให้ความร้อนผ่อนคลายอาการปวด ชนิดประคบ ทั้งเป็นสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือใช้สมุนไพรหลาย ๆ ตัวประกอบกัน ตัวอย่างสมุนไพร ขมิ้นชัน ไพล เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน โกศจุฬาลำพา เป็นต้น หรือที่ขายเป็นยาสำเร็จรูป เช่น ยาหม่องหมอลิ่ม รักษ์ทอง ยาพ่นโปรสะป้าน น้ำมันนวดสุริยาจร ไพรจีซาล เจลพริก ยากล่อมอารมณ์ เป็นต้น

5. การรักษาด้วยธรรมชาติบำบัดแบบไฮเทค

เป็นการใช้ศาสตร์ความรู้สาขาธรรมชาติบำบัดที่เรียกว่า Cell-frequency Medicine ซึ่งใช้หลักทฤษฎีที่ว่า สุขภาพที่ดี คือสภาพโดยรวมของแต่ละเซลล์ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เซลล์จำเป็นต้องได้รับสารอาหารและคลื่นพลังที่ดีมาหล่อเลี้ยง มีการส่งผ่านเข้าสู่เซลล์ มีการหายใจในระดับเซลล์ที่ดีและขับสารเสียกับพลังที่ไม่ดีออกจากเซลล์ด้วย ซึ่งในการบำบัดจะมีการนำอุปกรณ์ไฮเทคมาช่วยในการรักษาอาการปวดทั้งหลาย เช่น การวินิจฉัยสภาพเลือดด้วยเครื่องตรวจแบบ dark field เครื่องให้อากาศศักดาสูงAirmergy เครื่องปรับสภาพออร่าด้วยสนามแม่เหล็ก PERTH เครื่องกระตุ้นเชิงกล BMS เครื่องกระตุ้นโครงสร้างกระดูกและสันหลัง Orthospine เครื่องให้ความร้อนระดับสูง Hyperthermia เป็นต้น

   
สารบัญ