เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

ธรรมะ Delivery ธรรมะวัยทำงาน

   
ผู้เรียบเรียง : พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต 
สำนักพิมพ์ : Phisit Thaioffset .co.Ltd.Part
จำนวนหน้า : 245 หน้า
ราคา : 175 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์ กธฝ. ฝรธ.  
   
   
บทสรุป :

 

คงคุ้นหูคุ้นตากับพระมหาสมปอง พระผู้มีผลงานผ่านสื่อหลายรายการทางโทรทัศน์ รวมไปถึงการเป็นวิทยากรบรรยายหลายแห่ง จนเป็นที่ฮือฮาในสไตล์การพูดแบบสนุกสนานกันทั่วไป

หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาที่นำไปปฏิบัติได้ง่ายเพราะใช้หลักธรรมพื้นฐานที่เคยรู้กันอยู่แล้ว อ่านแล้ววางไม่ลงเพราะน่าติดตามในทุกคำเขียน กอปรกับใช้กระดาษถนอมสายตามาพิมพ์ด้วย ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. เข้าใจวัยทำงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามเรายังคงต้องตื่นเช้าเพื่อมาทำงาน ผู้เขียนให้คติว่า หน้าที่ของคนวัยทำงานเปลี่ยนไปจากวัยเรียน จึงต้องทำความเข้าใจในบทบาทของตนเอง โดยจะต้องมีธรรมประยุกต์ใช้ในการทำงาน คือ อริยมรรค 8 ความหมายชัดเจน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

1.1 เบื่องาน เหตุผลเพราะไม่รักในงานและมักจะคิดถึงแต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง สิ่งที่กระตุ้นให้รักงานก็คือ การนึกถึงผู้อื่น และการปรับนิสัยใหม่ให้มองผลงานมวลรวม สร้างความภูมิใจในผลงาน และทำด้วยความสุข ดังนั้น กำลังใจและความปลาบปลื้มใจก็จะสลายความเบื่องานได้เอง

1.2 ทำอย่างไรถึงจะก้าวหน้า ผู้เขียนแนะนำให้ท่องสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ด้วยการนำเสนอความสามารถอย่างเต็มที่ อย่าเกียจคร้าน มีความตั้งใจและอย่ายอมแพ้

1.3 บ้างาน ไม่ควรปฏิบัติเพราะการทุ่มเทและหมั่นเพียรเกินกำลัง ส่งผลให้สุขภาพไม่ดี และเสียความสัมพันธ์อันดีของสังคมรอบตัว จึงขอให้ประมาณกำลังและประมาณเวลาให้เหมาะสม

1.4 เมื่องานมาถึงทางตันจะลาออกหรือทนอยู่ดี?

หลายท่านที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพียงเพราะความใจเร็วและเพราะอารมณ์ร้อน จะทำให้เกิดผลเสียตามมา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จะพอใช้หรือไม่ถ้าลาออก ทางแก้ให้ใช้หลักธรรมที่ว่า “อับปามานะ” หรือความไม่ประมาท หมายถึง การมีแผนสำรองหลังลาออก และใช้เหตุผลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ

2. รู้จักเลี่ยงปัญหาเรื่องคน

2.1 สมาชิกใหม่ วางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม การปรับตัวด้วยการวางตัวเป็นกลางและทำตัวให้เป็นที่รัก โดยใช้หลักธรรมที่ว่า “สังคหวัตถุ” คือ (1) ทาน = มีข้อมูลดี ๆ ควรบอกต่อ และมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน (2) ปิยวาจา = พูดไพเราะ สุภาพ รู้จักขอบคุณเมื่อได้รับและรู้จักขอโทษเมื่อทำพลาด (3) อัตถจริยา หมายถึง การมีน้ำใจช่วยเหลือกัน (4) สมานัตตา หมายถึง ไม่เหยียดหยาม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

2.2 แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ควรใช้หลักธรรมที่ว่า “อุเบกขา” ซึ่งหมายถึง การวางเฉย ไม่หันเหไปทางใดทางหนึ่ง วางตัวเป็นกลาง อยู่บนศีลธรรม และควรเปิดใจต่อกันเพื่อนำไปสู่ทางออกที่ดีด้วยการเอาใจใส่ต่อกัน การเข้าใจกัน และไว้ใจกัน

2.3 ความขี้อิจฉาของเพื่อนร่วมงาน ต้องใช้ธรรมในหัวข้อดังนี้

(1) เมตตา... ด้วยการให้ความรู้ ความช่วยเหลือ สอนการทำงาน เพื่อให้ทำงานเองได้โดยไม่ต้องลอกเลียน (2) มุทิตา.... มีความยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี เป็นกำลังใจให้กัน ซึ่งจะช่วยให้ค่อย ๆ คลายความขี้อิจฉาลง

2.4 เบียดบังเวลางาน ควรใช้หลักธรรมที่ว่า “ กาลัญญุตา” คือ การรู้จักเวลา รู้ค่าของเวลา รู้วิธีการใช้เวลาอย่างถูกต้อง บวกกับการรู้หน้าที่ของตนเอง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนคุณภาพ

2.5 รู้จักใช้เงินอย่างมีศีลมีวินัย หลักธรรมง่าย ๆ ที่จะใช้กับข้อนี้ คือ “ความมัธยัสถ์” หมายถึง รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักประมาณ ใช้อย่างพอดี ไม่เกินตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อ และใช้อย่างพอเพียง

2.6 รู้จักจัดการรายรับ – รายจ่าย การพูดว่าเงินเดือนน้อยทำให้เงินไม่พอใช้

อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะมือของเราที่หยิบเงินออกจากกระเป๋านั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ การแก้ปัญหานี้ คือ การตัดใจ และอย่าใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยยึดถือคำสอนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสอนให้ประชาชนรู้จักกินอยู่อย่างพอเพียงนั่นเอง

3. รู้วิธีการทำงานกับเจ้านาย

3.1 ธรรมสำหรับเจ้าคนนายคน ผู้เป็นหัวหน้ามีหน้าที่ไม่เพียงแต่ในเรื่องงานเท่านั้น หากรวมไปถึงการบริหารคน การมองคน การปกครองคน และการสร้างความสามัคคีภายในองค์กรด้วย สิ่งสำคัญ คือ การมีหลักจิตวิทยาในการจูงใจผู้ร่วมงาน และเพื่อให้มีการยอมรับในการเป็นผู้นำ ควรใช้หลักธรรมหัวข้อ “ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ” ดังนี้ (1) ทาน คือ การให้ การเสียสละ (2) ศีล คือ ความประพฤติดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจ (3) บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อ ประโยชน์ความสุขส่วนรวม (4) ความซื่อตรง คือ การดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต (5) ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลอันควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส (6) ความเพียร คือ มีความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร (7) ความไม่โกรธ คือ ไม่มุ่งร้ายต่อผู้ร่วมงาน รวมทั้งผู้อื่นด้วย (8) ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่ก่อทุกข์เบียดเบียนผู้อื่น รวมถึงการไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน (9) ความอดทน คือ อดทน อดกลั้นต่อสิ่งที่มากระทบต่อจิตใจ และอารมณ์ของเรา รวมถึงการอดทนต่อการทำงานในทุกสภาพของงานที่เราเป็นผู้รับผิดชอบ (10) ความยุติธรรม คือ มีความหนักแน่น และเที่ยงธรรม

3.2 ทำอย่างไรเมื่อต้องเจอกับเจ้านายจู้จี้ขี้บ่น?

สาเหตุที่เจ้านายบ่น มี 2 เรื่อง คือ (1) อยากบ่นเพราะตัวเองเป็นหัวหน้า บ่นเพื่อแสดงอำนาจ (2) บ่นเพราะสั่งสอน ตำหนิ หรืออยากแนะนำ ซึ่งพระมหาสมปองแนะนำว่า หากเจ้านาย

ขี้บ่นให้ใช้ธรรมที่ว่า “อุเบกขา” คือ การวางเฉย ไม่ต้องหงุดหงิด แต่ถ้าบ่นเพราะสั่งสอน ก็ควรรับแล้วนำมาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

3.3 เจ้านายประเภทใช้งานเกินกำลัง ให้ใช้ทศพิธราชธรรมในหัวข้อ “ความไม่เบียดเบียน” ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลัง ความสามารถ ความคิด และความสุขของลูกน้อง เพราะการทำงานที่เกินกำลังย่อมเกิดการอ่อนล้าและอ่อนเพลีย จึงส่งผลให้คุณภาพงานออกมาไม่ดีอย่างที่ต้องการ

3.4 อนาคตชักไม่สดใสเมื่อเจอเจ้านายแบบเลือกที่รักมักที่ชัง

ความยุติธรรมเป็นสัญลักษณ์สำคัญของผู้นำ เมื่อใดที่ตาชั่งเอียงก็เท่ากับว่า เรากำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือ จึงควรใช้หลักทศพิธราชธรรม ในหัวข้อที่ว่า “ความยุติธรรม” หมายถึง ความเป็นกลาง มองคุณธรรมในตัวบุคคล ต้องไม่โกรธ เพราะความโกรธจะเป็นตัวอคติที่ทำให้เกิดความลำเอียง

3.5 ทำงานแล้ว พาลอ่อนใจ เมื่อเจอเจ้านายประเภทอ่อนหัด

การทำงานต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝน จึงควรทำตัวเป็นเสมือนพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา ตามความเหมาะสมเป็นบางเวลา สำหรับเจ้านายก็ควรใช้ทศพิธราชธรรม ในหัวข้อ ดังนี้ (1) “ความเพียร” เพื่อหมั่นฝึกฝนให้เป็นผู้รู้อย่างแท้จริง (2) “ความอดทน” เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตข้างหน้า

อ่านจบแล้ว แบ่งปันสาระและหลักธรรม ให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย แล้วตัวท่านจะได้บุญไงล่ะ ขอบอก !!!

   
สารบัญ