เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

EQ ดีใน 7 วัน

   
ผู้เรียบเรียง : ธนะ เอี่ยมอนันต์ 
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ บิสคิต
จำนวนหน้า : 147 หน้า
ราคา : 160 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์ กธฝ. ฝรธ.  
   
   
บทสรุป :

 

หนังสือเล่มนี้ ชวนให้น่าอ่านตรงที่ปริศนาเลข 7 ซึ่งไม่พ้นแต่ละวันว่าต้องทำอะไรบ้างนั่นเอง แต่เนื้อหาหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจที่ผู้แปลหนังสือเล่มนี้กำหนดให้ศึกษาด้วยตนเองว่า วิธีไหนที่สามารถเพิ่มพูนความฉลาดทางอารมณ์สนองตนเองได้ และให้ปฏิบัติตามขั้นตอนโดยวันเริ่มต้นสัปดาห์เป็นวันอาทิตย์ สรุปได้ดังนี้

                  

ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการรับรู้ ความรู้สึกของตนเองและคนรอบข้าง เพื่อนำมาใช้กระตุ้นผลักดันตนเองและเพื่อบริหารจัดการอารมณ์ อันจะส่งผลดีต่อตนเองและความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง

อาการที่แสดงว่า คุณมีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ มีดังนี้ (1) วิตกกังวล และไม่สามารถลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ (2) ถูกกดดันด้วยเวลา ขาดประสิทธิภาพและปฏิบัติงานได้ไม่ดี (3) อ่อนล้า เจ็บป่วย และลังเล (4) เสียสมดุลในการแบ่งเวลาระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต (5) ความดันโลหิตสูง และ (6) แก่เร็ว

ผู้แปลหนังสือเล่มนี้แนะนำให้ปฏิบัติ ดังนี้

วันอาทิตย์ ให้จดบันทึก พฤติกรรม ความรู้สึก ความคิด และความคาดหวังเมื่อประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีสมาธิอย่างต่อเนื่องกับการรับรู้และข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ใช้ต่อไป

วันจันทร์ สิ่งที่ควรเรียนรู้เป็นลำดับแรก คือ ความพยายามแยกแยะความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง โดยจำแนกอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเข้าใจว่าอารมณ์จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ ยังต้องรับรู้จุดแข็ง จุดอ่อน และขอบเขตทางอารมณ์ของตนเอง รวมถึงเปิดใจยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น สิ่งสำคัญคือ ต้องมีความมั่นใจในตนเอง โดยมีความกล้าในการตัดสินใจภายใต้ข้อมูลที่ได้รับ ความสามารถในการแยกแยะอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้ว่า เรามีความรู้สึกอย่างไรในขณะที่อารมณ์นั้น ๆ เกิดขึ้นกับเราเป็นครั้งแรก

วันอังคาร วิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยใช้แบบจำลอง ABC ซึ่ง A ย่อมาจาก Affect หมายถึง การมีผลต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด B ย่อมาจาก Behaviour หมายถึง พฤติกรรม และ C ย่อมาจาก Cognition หมายถึง การเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการนี้ เป็นการแปลงสิ่งกระตุ้นที่รับมาให้กลายเป็นอารมณ์ ส่งต่อไปยังพฤติกรรมและมีแนวความคิดที่ก่อให้เกิดการรับรู้ สรุปก็คือ อารมณ์ของมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดและท้ายที่สุดจะมีผลไปถึงพฤติกรรม

วันพุธ จัดการ กับความเครียด ด้วยการแบ่งเวลาเพื่อการพักผ่อน แล้วใช้ความฉลาดทางอารมณ์ที่ได้ถูกบันทึกไว้มาตรวจสอบดูว่าระดับความเครียด เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในขณะที่คุณอยู่กับคนรอบข้าง ใครหรืออะไรที่ทำให้เกิดความเครียด และจะจัดการกับสิ่งนั้นได้อย่างไร จึงควรปรับรูปแบบการใช้ชีวิตโดยกำจัดสาเหตุของความเครียดออกไป ดังนี้ (1) การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิผล (2) ออกกำลังกายอย่างจริงจัง (3) หยุดพักในระหว่างวัน เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับความเมื่อยล้าและปัญหาในทางสายตา (4) รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และ (5) พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

วันพฤหัสบดี การมองโลกในแง่บวก เป็นเสมือนหลักชัยในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความฉลาดทางอารมณ์ จึงควรปลูกฝัง ซึ่งมีเหตุผลดังต่อไปนี้ (1) เพื่อค้นพบศักยภาพใหม่ ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร (2) จะทำให้สมาชิกในทีมทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข (3) จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสาร

วันศุกร์ เราสามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนี้ (1) สื่อสาร 2 ทาง กับคนในองค์กร (2) ออกแบบแผนการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ต้องการให้เกิดขึ้น (3) ทดสอบขั้นตอนต่าง ๆ ในการสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าทุกขั้นตอนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

วันเสาร์ หลังจากที่ได้เรียนรู้ความฉลาดทางอารมณ์มาเกือบสัปดาห์ วันนี้ต้องสำรวจดูว่ามีการพัฒนาอย่างไรในหัวข้อดังต่อไปนี้ (1) ประโยชน์ของการจดบันทึกประจำวันตามที่ได้เริ่มปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่วันเริ่มต้นของสัปดาห์ คือ ในวันอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้คุณมีสมาธิอย่างต่อเนื่อง (2) แผนการพัฒนาตนเอง ควรเริ่มต้นจากการนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม (3) แนวทางสู่ความสำเร็จในการวิเคราะห์และพัฒนาตนเองอย่างมืออาชีพ ควรเริ่มต้นจากการประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (4) การประเมินทักษะความสามารถ คือ การระบุทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผู้สรุป ประทับใจกับข้อเขียนในเรื่องของทักษะการควบคุมตนเอง ที่น่าสนใจมีดังนี้ (1) หยุดยั้งการตอบสนองตามแรงกระตุ้น (2) มีสติ มองโลกในแง่ดี และไม่วิตกกังวล (3) สามารถจัดการกับความทุกข์ และลดความวิตกกังวลอันเกิดจากทุกข์นั้นลงได้ (4) มีเหตุผลและมีสมาธิ แม้ขณะอยู่ภายใต้ความกดดัน

ในช่วงวันปีใหม่ไทย ปี 2551 ผู้สรุป ใช้เวลาช่วงวันหยุดอ่านหนังสือใหม่ที่ห้องสมุดจัดหาให้ และรับปากว่าจะทยอยสรุปให้อ่านกันต่อไปจนถึงวันเกษียณอายุปีนี้ค่ะ

   
สารบัญ