เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

ทางของเวลช์ : The Welch Way

   
ผู้เรียบเรียง : เจฟฟรี เอ. เกรมส์ 
สำนักพิมพ์ : บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
จำนวนหน้า : 115 หน้า
ราคา : 135 บาท
ผู้สรุป : พูนสุข มนัสวิวัฒน์, ผู้เกษียณอายุ  
   
   
บทสรุป :

                   

               ปีใหม่ 2552 ขอให้ผู้อ่านทุกคนมีความสุข สดใส สุขภาพแข็งแรงตลอดไปค่ะ

                หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงวิธีการเพื่อช่วยให้ผู้จัดการและพนักงานได้นำ กลยุทธ์สู่ความสำเร็จแบบผู้เขียนไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและได้กลั่น เอาสไตล์การบริหารให้เป็นสูตรสำเร็จการเป็นผู้นำอย่างรวดเร็ว

                ผู้เขียนนำ 24 กลยุทธ์ มานำเสนอเป็นคู่มือสู่ความสำเร็จ ดังนี้

                1.ทำให้เป็นทางการน้อยลง ความไร้ขอบเขต ไม่มีกฎเกณฑ์ คนจะไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็น วิธีที่ทำให้ที่ทำงานเป็นทางการน้อยลง มีดังนี้ (1) ระดมสมองกับผู้ร่วมงานและหัวหน้า (2) จัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการมากขึ้น (3) เสนอให้มีการสร้างสรรค์ร่วมกันบ้างเป็นครั้งคราว

                2.ยกเลิกการทำงานแบบราชการ ควรขจัดความซับซ้อนและใช้วิธีดังนี้ (1) ยกเลิกงานที่ไม่จำเป็น (2) ทำงานกับผู้ร่วมงานเพื่อปรับปรุงการตัดสินใจให้กระชับ (3) ทำให้ที่ทำงานเป็นกันเองมากขึ้น

                3.เผชิญความจริง วิธีที่ทำให้ไม่ “หลอกตัวเอง” และทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆอย่างเป็นจริง มีดังนี้ (1) มองสิ่งต่างๆด้วยสายตาที่แจ่มแจ้ง (2) อย่าตกเป็นเหยื่อของกับดัก “สภาวะไม่จริง” (3) ให้ทางเลือกหลายๆทาง โดยมีแผนสำรองเสมอ ถ้าสิ่งต่างๆไม่เป็นไปตามแผน

                4.ทำให้ง่ายขึ้น ผู้เขียนรู้สึกว่าความง่ายต้องการ “ความมั่นใจในตังเองอย่างมหาศาล” วิธีการในบรรยากาศที่มีความง่าย มีดังนี้ (1) ทำให้ที่ทำงานง่ายขึ้น ด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน (2) ทำให้การประชุมง่ายขึ้น โดยไม่ใช้วาระการประชุมแต่จะกระตุ้นให้ใช้ความคิดที่ดีที่สุด (3) ขจัดแบบฟอร์มหรือบันทึกที่ยุ่งยาก

                5.เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส ผู้เขียนให้คำแนะนำ ดังนี้ (1) ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา (2) คาดหวังในสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และเดินหน้าให้เร็วเพื่อเป็นต่อผู้อื่น (3) เตรียมคนรอบข้างให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

                6.นำด้วยการให้พลังกับผู้อื่น ดังนี้ (1) อย่านำด้วยการทำให้คนกลัว (2) ให้คนอื่นรู้ว่าความพยายามช่วยองค์กรได้อย่างไร (3) ส่งโน้ตขอบคุณที่เขียนด้วยลายมือแก่ผู้ร่วมงานและลูกค้า

                7.ท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติ  มีวิธีดังนี้ (1) จัดประชุมหัวข้อ “ทำไมเราจึงทำอย่างนั้น”  ด้วยการชวนเชิญส่วนงานต่างๆ “ซ่อมแซม”  วิธีปฏิบัติและกระบวบการที่ไม่ได้เรื่อง  (2) เชิญผู้ร่วมงานให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเลือกความคิดที่ดีที่สุด (3) อย่ากลัวที่จะท้าทายแนวคิดเดิมๆ

                8.ให้ความสำคัญกับความรู้  ผู้เขียนได้เปลี่ยนองค์กรให้เกิดการไหลเวียนของการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างอิสระ  จึงให้คำแนะนำในการเรียนรู้  ดังนี้  (1) ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการเรียนรู้ว่าคู่แข่งทำอะไรอยู่ (2) ให้รางวัลกับความคิดที่ดีที่สุด  (3) ส่งเสริมการเรียนรู้เน้นการอบรมอย่างสม่ำเสมอ

                9.คิดถึงค่านิยมก่อน  ค่านิยมในแนวของผู้เขียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมและพฤติกรรมที่เหมาะสม  แต่เป็นค่านิยมที่ได้รับการทบทวนทุกๆ 2 – 3 ปี  และเพื่อให้แน่ใจว่าค่านิยมได้รับความสนใจในชีวิตการทำงาน จึงควรพิจารณาในสิ่งดังต่อไปนี้ (1) อย่าสนใจในตัวเลขมากนัก (2) นำโดยการทำให้เป็นตัวอย่าง  (3) ให้ความสำคัญกับค่านิยม

                10.จัดการให้น้อยลง  การจัดการมากเกินไปจะทำให้คนสับสน  และเพื่อให้รู้ว่า เราไม่ได้จัดการมากเกินไปให้ดูคำแนะนำดังนี้ (1) อย่าสนใจรายละเอียดที่ไร้ความหมาย (2)จัดการให้น้อยลง (3) ให้อำนาจ ให้เป็นตัวแทนและไม่ขัดขวาง

                11.ให้ทุกคนมีส่วนรวม  ในความคิดของผู้เขียนเห็นว่า คนที่มีความคิดที่ดีที่สุด คือ ผู้ชนะ สมควรได้รับการชื่นชมและให้รางวัล สำหรับแนวทางสู่ความสำเร็จมีดังนี้ (1) มีส่วนร่วมให้มากขึ้น  (2) ทำให้แน่ใจว่าทุกคนมีอิสระที่จะพูด  (3) เสนอให้มีการระดมสมองอย่างเป็นทางการ

                12.เขียนวาระการประชุมใหม่  ผู้เขียนมีแนวคิดว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง  ตลาด เศรษฐกิจ  เทคโนโลยี  และอื่นๆ  สำหรับเรื่องที่จะช่วยให้เปลี่ยนแปลงวาระการประชุม มีดังนี้  (1) อย่าวางแผนล่วงหน้าเป็นปี  (2) สร้างแผนและทางเลือกสำรอง  (3) คาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดคิด

                13.ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ  ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้  (1) อย่า “นั่งทับ”  การตัดสินใจ  (2) สื่อสารให้เร็วขึ้น  (3) ใช้ความเร็วเข้าไปในทุกธุรกรรมและกระบวนการ

                14.ใส่ความมั่นใจ  การใส่ความมั่นใจและแพร่กระจายให้ทั่วองค์กรเป็น  “สิ่งสำคัญที่สุด”  สำหรับบทเรียนในการสร้างความมั่นใจ  มีดังนี้  (1) ให้คนรู้ว่าคนให้ความสำคัญกับความคิดของเรา  (2) ทำให้ที่ทำงานง่ายขึ้น      (3) เน้นการอบรม

                15.ตั้งเป้าหมายที่ขยายออกไป   ด้วยวิธีดังนี้  (1) เอื้อมคว้าสิ่งที่คว้าไม่ได้  หมายถึง อย่าพอใจกับความธรรมดาสามัญสำหรับการเอื้อมคว้ามีดังนี้  (1) ลืมตัวเลขทศนิยม  (2) อย่าลงโทษตัวเองหรือใครคนอื่นหากเขาไม่ถึงเป้าหมายที่ขยายออกไป

                16.กำจัดขอบเขต  สิ่งที่สามารถกำจัดขอบเขตมีดังนี้  (1) มองหาความคิดใหม่ๆ จากทุกๆ คน (2) จงมองออกไปนอกองค์กรเพื่อหาความคิดดีๆ  (3) อย่าหยุดกำจัดขอบเขต

17.แสดงวิสัยทัศน์  ด้วยการปฏิบัติดังนี้ (1) เขียนวิสัยทัศน์ออกมา  โดยให้เขียนอยู่เสมอและสามารถอธิบายได้  (2) หลีกเลี่ยงรายละเอียด  (3) จ้างและส่งเสริมบุคคลที่สามารถทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้

18.นำเอาความคิดดีๆ จากทุกที่  สิ่งที่สามารถทำเพื่อให้แน่ใจว่าความคิด  คือผู้ชนะในองค์กรมีดังนี้  (1) อย่าคิดว่าคุณหรือองค์กรของคุณมีคำตอบทั้งหมด  (2) ศึกษาคู่แข่ง  (3)ทำให้ทุกคนรอบข้างคุณรู้ว่าคุณสนใจความคิดทั้งหลายไม่ว่าจะมาจากที่ใด

19.จุดประกายให้คนอื่นอยากทำงาน  ด้วยวิธีดังนี้  (1) อย่าข่มขู่หรือทำให้ใครกลัว  (2) แน่ใจว่าใช้ความรู้จากทุกคน  (3) แน่ใจว่าทุกคนรู้ว่าความคิดที่ดีที่สุด  คือผู้ชนะ

20.คุณภาพคือหน้าที่ของคุณ  โดยใช้แนวคิดดังต่อไปนี้  (1) ทำงานของคุณให้ดี  (2) มองหาการอบรมด้านคุณภาพ  (3) อย่าคิดว่าคุณภาพเป็นหน้าที่ของคนอื่น

21.การเปลี่ยนแปลงไม่มีวันสิ้นสุด  วิธีหนึ่งที่ผู้เขียนได้เตรียมพนักงานสำหรับการเปลี่ยนแปลง ก็คือการนำแนวคิด “จงเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส  ไม่ใช่ปัญหา”  เข้าไปใส่ในค่านิยมองค์กร

22.ทำตัวให้สนุก  โดยมีคำแนะนำดังนี้  (1) ให้ความเป็นกันเองเป็นวิถีชีวิต  (2) หางานที่ท้าทาย  (3) อย่าอยู่ในงานเดียวกันตลอดไป

23.ข้อสังเกตและแบบฝึกหัดสำหรับผู้ฝึกอบรม หรือ ผู้จัดการด้านทรัพยากรมนุษย์  ผู้เขียนแนะนำให้มอบหนังสือเล่มนี้กับพนักงานทุกคน  และนัดแนะกำหนดเวลาให้พนักงานพบกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการของผู้เขียน

24.แหล่งข้อมูล  จะต้องมีคำอ้างและมีหมายเหตุเสมอ

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยสาระ  ความคิด การปฏิบัติ  ที่ไม่เหมือนใคร  จนประวัติศาสตร์ได้จารึกชื่อของ

 แจ็ก เวลช์  ในฐานะที่เป็นผู้นำที่เหมาะสมที่สุดในศตวรรษที่  20  ของบริษัท  GE

   
สารบัญ