เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

คู่มือสร้างกำลังใจ

   
ผู้เรียบเรียง : พล.ต.ต.ดร. เพ็ชร ณ ป้อมเพชร 
สำนักพิมพ์ : บีมีเดีย
ราคา : 165 บาท
ผู้สรุป : สุจินต์ ชุ่มใจหาญ  
   
   
บทสรุป :

 

                

                "ความสุขในชีวิต"  จะมีสักกี่คนที่บรรลุความสำเร็จ  แต่ผู้เขียนได้ใช้หนังสือนี้เป็นอาวุธสำหรับฟันฝ่าให้ผู้อ่านถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ

                ชีวิตในปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ไม่ธรรมดา  มันรุนแรงถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย  ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียด และความกดดันเท่ากับตายทั้งเป็น  แต่นี้ต่อไปก่อนหลับขอให้คิดถึงบุคคลที่ท่านอยากขอเป็นตัวอย่าง  บุคคลที่ท่านปรารถนาจะเป็นเช่นเดียวกับเขา และฝึกตนเองให้ได้ทุกวันเป็นเวลา 10 – 15 วัน  โดยเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติใหม่ ดังนี้

                "ทำอย่างไรให้ใจเย็น"  ความฉุนเฉียว  หุนหัน  แค้นเคือง  เป็นเสมือนกาฝากที่คอยเฝ้าดูดพลัง  ทำลายสุขภาพกายและใจ  ต้องฝึกตั้งสติให้ได้  อย่าโวยวาย  นิ่งเฉยเป็นการแสดงออกถึงกำลังใจอันแข็งแกร่ง และควบคุมตนเองได้  รักษาสุขภาพกายและจิตใจให้สมบูรณ์  อย่าลืมว่า การออกกำลังกายช่วยระบายความเครียดได้อย่างดี  สร้างนิสัยปล่อยวางเสียบ้าง  ทำใจให้กว้าง  ใช้ธรรมเป็นเครื่องแก้  ตระหนักถึงผลดีของการเป็นคนใจเย็น  ออกไปจากเหตุการณ์นั้น ๆ ชั่วคราว  เล่าเรื่องให้คนสนิทฟัง  สร้างอารมณ์ขันให้กับตัวเอง  หากิจกรรมทำหรือจดสมุดบันทึกไว้ระบาย  ฝึกตนเองรู้จักชื่นชมคนอื่นบ้าง และรักตัวเองมาก ๆ

                "เรียนรู้จิตใต้สำนึก"  บิดาแห่งจิตวิเคราะห์  ซิกมันด์  ฟรอยด์ บอกว่า  จิตมนุษย์คล้ายภูเขาน้ำแข็ง  ส่วนที่ลอย  1  ใน  10  เป็นจิตสำนึก  ส่วนที่จม  9  ใน  10   ส่วนเป็นจิตใต้สำนึก  ซึ่งเป็นแหล่งจินตนาการ หรือการวาดภาพ  ถ้าเราจินตนาการในเชิงบวกเกี่ยวกับสุขภาพ  เราก็จะแข็งแรง  คนไข้ต้องบอกตนเองว่า  "ทุกวันฉันดีขึ้นในทุก ๆ ทาง"

                "วิธีจูงใจตัวเอง"  เป็นการทำให้ความคิดที่เกิดในสมอง และให้อยู่เป็นประจำอย่างน้อย  15  วัน  จะทำให้ความคิดนั้นมีพลัง  มีผลทำให้เปลี่ยนทัศนคติและควรผูกประโยคเอง  โดยเลือกคนที่ท่านเลื่อมใสมาเป็นแบบฉบับ  แล้วบรรจุลงในสมอง  อย่าลืมว่า ตัวอย่างที่ดี  มีค่ามหาศาลต่อการดำเนินชีวิต  เช่น            ฉันต้องอดทนเหมือนนาย ข. ให้ได้

                "วิธีการแก้ไขความไม่เชื่อมั่นตนเอง"  อย่าเทิดทูนผู้อื่นสูงเกินจำเป็น  อย่าลืมสิ่งดีในตัวเราเอง  อย่าตำหนิตนเอง  ยอมรับว่าตนเองมีคุณค่า  แต่งกายให้มีบุคลิกดี  คิดว่าความรู้ที่หมั่นแสวงหาทำให้องอาจ  เอาชนะปมด้อยด้วยการให้ความรัก  อย่าปล่อยให้สิ่งอื่นมาเป็นนายความคิดของเรา  สร้างกำลังใจอยู่เสมอ  ฝึกฝนตนเองให้เป็นที่พึ่งแห่งตน  อย่าคิดถึงความผิดพลาดในอดีตของตน

                "วิธีรักษาสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์"  รับแสงอาทิตย์  สูดอากาศบริสุทธิ์  รักษาความสะอาด  ออกกำลังกาย  กินอาหารครบ  5  หมู่  นอนให้หลับ  ไม่หมกมุ่นอบายมุข  ความสุขตามแนวคิดของศาสนา คือให้ทาน  รักษาศีล  และเจริญสติสมาธิ

                "วิธีสร้างกำลังใจให้แข็งแกร่ง"  มี  3  แบบ คือ ใช้กำลังใจปฏิเสธในสิ่งไม่ดี  แบบสร้างสรรค์           สิ่งมีประโยชน์ และแบบมีมานะอดทน  ซึ่งประเภทสุดท้ายนี้เป็นยอดของกำลังใจ  ส่วนวิธีการสร้างกำลังใจต้องนึกถึงจุดมุ่งหมาย  หาคนช่วย  ให้รางวัลและสวดภาวนาชีวิต  สร้างรอยยิ้มให้ผู้อื่น  อย่ายอมแพ้             ปลุกกำลังใจเสมอ  สร้างนิสัยดี

                "วิธีกำหนดจุดมุ่งหมายในชีวิต"  จงตั้งคำถามตัวเองว่า  อยากได้อะไร  อยากเป็นอะไรมากที่สุด ในชีวิต  จะสามารถประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้หรือไม่  สุขภาพดีของเราจะประกอบอาชีพที่ต้องการหรือไม่  และทำอาชีพนั้นที่ไหน

                "ใฝ่รู้  คบบัณฑิต"  อย่ามองข้ามคุณค่าของการหามิตรไว้ประดับชีวิตของท่าน

                บริหารเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง  วางแผนที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดต่อเวลามากนักในแต่ละวัน  อย่าผัดผ่อนที่จะตัดสินใจ  รู้จักปฏิเสธบ้าง  การจัดของเข้าที่ก็เป็นการประหยัดเวลา  เพราะเวลาเป็นของมีค่า

                วิธีฝึกให้เป็นคนมีระเบียบวินัย   ทำรายการสิ่งของให้เป็นหมวดหมู่  ของเสียต้องซ่อมไม่ผลัดวัน  ไม่ตามใจตนเอง  ควบคุมตนเองได้

                ทำงานเป็นทำอย่างไร  มีสมาธิ  ตัดสินใจเร็ว  อย่าตีตนไปก่อนไข้  อย่ากระโจนใส่งานโดยปราศจากการไตร่ตรอง  อย่าทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน  อย่าให้งานเล็กกลายเป็นดินพอกหางหมู  แก้นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง

                ฝึกคิดให้ดีกับตนเอง  ผู้อ่านแนะให้อ่าน  "วิธีผ่อนทุกข์และสร้างสุข"  ของเดล  คาร์เนกี                        ซึ่งสอดคล้องกับวิธีแก้ทุกข์ตามพุทธศาสนา  ด้วยอริยสัจสี่

                ล้มแล้วลุก  ต้องคิดว่าความล้มเหลวแก้ไขได้ถือเป็นบทเรียน  อย่าโทษคนอื่น  หรืออย่ามองโลกแง่ร้าย  และสร้างแผนช่วยตรวจสอบตนเองด้วย

                วิธีฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต  เช่น หัดจำลักษณะของบุคคลที่ติดต่อด้วยเป็นอย่างดี  ชื่อนามสกุล  อายุ  ท่าทาง  รูปร่าง  หน้าตา  และน้ำเสียง  ให้ฝึกทำ  8 – 10  วัน

                วิธีพัฒนาความจำ   หัดจัดถ้อยคำให้คล้องจอง  ใช้วิธีเปรียบเทียบ  จินตนาการ  วิธีโลไซ  คือ           คิดนำสิ่งของไปวางไว้ที่คุ้นเคย  ที่สำคัญคือสุขภาพกายและใจต้องดีด้วย

                วิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์   ขจัดความคิดแง่ลบออกไป  เปิดใจกว้าง  วิจารณ์งานตนเองว่าบกพร่องจุดใด  เปลี่ยนชีวิตที่จำเจ  ฝึกให้ชอบการแก้ปัญหา  หมั่นสังเกต

                วิธีฝึกตนเองให้มีสัจจะ  ต้องมั่นใจว่าจะได้จริง  จึงตัดสินใจสัญญากับใคร

                วิธีฝึกตนเองให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ไม่เหมือนกัน  จึงต้องมีทัศนคติที่ดี  ถ้อยทีถ้อยอาศัย  แก้ไขตัวเราก่อนผู้อื่น  ควรออกสังคม  ขจัดบุคลิกเซื่องซึม  ทักทายคนที่รู้จัก  ทำตัวให้มีเสน่ห์  มารยาทดี  ทำงานทุ่มเทและมีจิตใจร่าเริง

                วิธีสร้างนิสัยประหยัด  ขจัดความอยาก  รู้สึกประมาณตน  ทำบัญชีใช้จ่าย  หารายได้เสริม                    อย่ามั่วสุมอบายมุข  และรู้จักเก็บออม

                อุปสรรคมีไว้ให้พยายามต่อสู้เพื่อทำให้เราแข็งแกร่ง และรู้จักโลกดีขึ้น  จงสร้างอนาคตด้วยกำลังใจที่อาจหาญ  จะทำให้คุณภาพชีวิตมีความสุขและดีกว่าเดิม  และมีความหวังที่สดใส