เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » สรุปหนังสือ » รายละเอียด

พ่อรวยสอนปลุกอัจฉริยภาพทางการเงิน

   
ผู้เรียบเรียง : Robert T. Kirosaki (โรเบิร์ต ที คิโยซากิ) จักรพงษ์ เมษพันธุ์, เกียรติศักดิ์ ลีลาวโรภาส 
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.
จำนวนหน้า : 328 หน้า
ราคา : 220 บาท
ผู้สรุป : เย็นจิตร ศรีณะพรม กธร.  
   
   
บทสรุป :

 

             ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปคนอยากรวยทุกคนต้องมีความฉลาดทางการเงินมากขึ้นมี IQ ทางการเงินที่สูงขึ้นจะทำให้คุณปรับตัวรับมือกับทุกสถานการณ์ได้  แม้ว่าปัญหาทางการเงินจะเป็นตัวปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน พวกมันก็คือ ทางออก ของตัวมันเองด้วยเช่นกัน เพราะถ้าใครลงมือแก้ปัญหาทางการเงินของตัวเองได้ พวกเขาก็จะฉลาดขึ้น มี IQ ทางการเงินที่สูงขึ้น และความฉลาดทางการเงินนี่แหละจะทำให้คุณรวย ไม่ใช่ “เงิน”

                ระดับความฉลาดทางการเงิน (financial IQ)  วัดได้จากความสามารถใน 5 หัวข้อสำคัญ ดังนี้

1.  ความฉลาดทางการเงิน # 1: การทำเงินให้มากขึ้น โดยปกติแล้วคนเราทุกคนมีความฉลาดทางการเงิน# 1 นี้กันทุกคน อยู่ที่ว่าจะมีอยู่มากหรือน้อยเท่านั้นเอง การวัดความฉลาดในข้อนี้ วัดได้โดยตรงจากปริมาณเงิน(รายได้) ที่คนคนนั้นหาได้

2.  ความฉลาดทางการเงิน # 2: การปกป้องเงินที่หามาได้  ในทุกๆวันโลกพร้อมที่จะฉกฉวยเงินและความมั่งคั่งจากเราตลอดเวลา โดยโลกฉกฉวยจากเราแบบถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมเสียด้วย ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ล่าความมั่งคั่งของพวกเราทุกคนก็คือ “ภาษี”  สำหรับความฉลาดทางการเงิน# 2

จะวัดกันที่เปอร์เซ็นต์ ของเงินที่คุณปกป้องไม่ให้ตกอยู่กับคนอื่นได้

3.  ความฉลาดทางการเงิน # 3:  การจัดทำงบประมาณให้เงินของคุณ  การจัดทำงบประมาณเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความฉลาดทางการเงินขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปมักจะกำหนดงบประมาณของตัวเองแบบคนจน(งบประมาณขาดดุล)แทนที่จะทำให้เหมือนคนรวย(งบประมาณเกินดุล)  หลายคนมีรายได้ต่อปีสูง แต่ก็ใช้จ่ายจนหมดไม่มีเหลือ ดังนั้น หากคุณต้องการประสบความสำเร็จทางการเงิน การกำหนดงบประมาณให้มี “เงินเหลือ”  คือสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

4.  ความฉลาดทางการเงิน # 4:  การสร้างพลังทวีให้เงินของคุณ  หลังจากที่คุณมีเงินเหลือใช้ ความท้าทาย

ลำดับต่อไปก็คือ การสร้างพลังทวีให้กับเงินคงเหลือก้อนนั้น ซึ่งวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันก็คือ การฝากเงินและการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่ได้ใช้ความฉลาดหรือทักษะทางการเงินใดๆเลย จึงเป็นเหตุผลที่ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการลงทุนแบบอื่นๆ สำหรับความฉลาดทางการเงิน# 4 นี้ จะวัดเปรียบเทียบกันด้วยอัตราผลตอบแทนการลงทุน(Return On Investment; ROI) คนส่วนมากคิดว่าการลงทุนคือความเสี่ยงและการที่จะได้รับผลตอบแทนสูงๆ นั้นหมายถึงคุณต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย แต่ถ้าผู้ลงทุนมีความรู้ทางการเงินที่จะควบคุมการลงทุนเองได้ การใช้พลังทวีจะยิ่งลดความเสี่ยงเป็นอย่างมาก  ดังนั้น หัวใจของ การใช้พลังทวี ก็คือ การควบคุม และหัวใจของการควบคุมก็คือความฉลาดทางการเงิน

5.  ความฉลาดทางการเงิน # 5:  การจัดการข้อมูลข่าวสารทางการเงิน  เราต้องแยกแยะให้ได้ว่าข้อมูลข่าวสารไหนคือข้อเท็จจริง และอะไรคือความคิดเห็น เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจ  เพราะการแก้ปัญหาแบบไร้เหตุผลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเอาข้อมูลข่าวสารที่เป็นความคิดเห็นมาใช้เป็นข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ  ซึ่งเราจะสามารถควบคุมธุรกิจและการลงทุนของตัวเองได้ และที่สำคัญต้องรู้กฎระเบียบกติกา กฎหมาย เพื่อจะได้ศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าหากคนเราขาดบูรณภาพ(หรือความกลมกลืน) ของความฉลาดทางการเงินทั้ง 5 ประการแล้วก็คงเป็นไปได้ยากที่คนนั้นจะเป็นคนรวย  เมื่อใดก็ตามที่คนเราประสบปัญหาทางการเงิน จงรู้ไว้เลยว่าคุณกำลังขาดความฉลาดทางการเงินข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดไป ซึ่งนั่นส่งผลทำให้บูรณภาพทางการเงินของคุณหายไปด้วย  อย่างไรก็ดี ความฉลาดทุกด้านล้วนมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราทั้งสิ้น  และความฉลาดทางการเงินเป็นเพียงความฉลาดด้านหนึ่งที่คนเราจำเป็นต้องมี ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในโลกที่มีเงินเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน   

คุณสามารถค้นหาอัจฉริยภาพทางการเงินในตัวเอง ด้วยการใช้ประโยชน์จากสมองทั้งสามส่วนของคุณให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยสมองทั้งสามส่วนของคนเรานั้นประกอบด้วย สมองซีกซ้าย  สมองซีกขวา และส่วนของจิตใต้สำนึก เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถกลายเป็นคนรวยได้ เพราะเรามองข้ามพลังของสมองส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีพลังมากที่สุดในสมองทั้งสามส่วนดังนั้น ในการเดินทางสู่ความร่ำรวย จึงมีความจำเป็นที่คุณจะต้องฝึกฝนการสื่อสารให้สมองทั้งสามส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน