'ปีติพงศ์'วางกรอบสางปัญหาสหกรณ์
ข่าววันที่ : 27 ก.พ. 2558
Share

tmp_20152702102800_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 27 ก.พ. 2558

          "ปีติพงศ์"เตรียมถก"ปรีดียาธร"วาง 3 ประเด็นหลัก สางปัญหาสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็ง หวังบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ชัดเจน

          นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินการส่งเสริมสหกรณ์ในรอบ 99 ปีที่ผ่านมา  จากที่มีสมาชิกเพียง 16 คน ปัจจุบันมีถึง 11.27 ล้านคน จำนวน  8,161 สหกรณ์ ธุรกิจมีมูลค่า 2.25 ล้านล้านบาท สมาชิกที่ เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องปรับปรุงการบริหารงาน ทุกด้าน เพื่อส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร โดยจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ 1.แก้ไขกฎหมายสหกรณ์  ประเด็นหลักคือให้สหกรณ์ช่วยเหลือกันได้มากขึ้น โดยจะตั้งเงินจำนวนหนึ่งที่มาจากกระบวนการสหกรณ์ที่มีเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก เป็นเงินกองกลาง เพื่อใช้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิในการตรวจสอบจัดการสหกรณ์ที่มีข้อบ่งชี้ว่าจะมีปัญหา

          ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ปัญหาสหกรณ์ลุกลามอย่างที่เป็นมาในอดีต และพยายามให้การบริหารจัดการของสหกรณ์ มีความคล่องตัว รวดเร็วขึ้นเช่นระเบียบปลีกย่อยในการประชุม แก้ให้ทันสถานการณ์มากขึ้น  ถ้าไม่ให้อิสระเลย บางครั้ง การจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งต้องเรียกประชุมสมาชิกครบถ้วนหมดทำให้ล่าช้าไม่สามารถสู้บริษัทได้

          2.ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์แก้ไขปรับปรุงสหกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพการแข่งขันขึ้น   โดยเฉพาะการช่วยเหลือสมาชิกในการค้าขายผลผลิต  ปีนี้มี 2 โครงการหลักคือโครงการปรับ โครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร ระยะ 5 ปี โดยเริ่มที่ปาล์มน้ำมันเพราะสหกรณ์มีโรงงานปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่พอ มีขีดความสามารถพอสมควรคือเพิ่มผลผลิตจาก 3.3 ตันต่อไร่เป็น 3.8 ตันต่อไร่ เพื่อให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพิ่มคุณภาพการให้น้ำมัน ให้เพิ่มจาก 17% เป็น 20% ใกล้เคียงกับเพื่อนบ้าน เพิ่มความเข้มแข็งแก่สหกรณ์ ให้สมาชิกที่มีพื้นที่รวม 3.9 แสนไร่ ทำปาล์ม ได้ประโยชน์จากการซื้อขายน้ำมันของโรงงานสหกรณ์

          "ค่าใช้จ่ายทั้ง 5 ปีอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท ใน จำนวนนี้ 50 % จะเป็นกู้ยืมในระบบธนาคาร เบื้องต้นได้หารือไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) แล้ว เพื่อให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมทั้งการกู้ระยะสั้น ระยะปานกลาง คาดว่าจะแล้วเสร็จใน  2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน เป็นการปรับโครงสร้างระยะยาว ไม่ใช่ การแก้ระยะสั้นเหมือนการนำเข้าน้ำมัน" นายปีติพงศ์ กล่าว

          โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร ขณะนี้มีสถาบันเกษตรกร 3,000 แห่ง ที่เป็นสมาชิกปลูกข้าว จากทั้งหมด 8,000 แห่ง ผลผลิตข้าวเปลือกของสมาชิกประมาณ 11.3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 39.7% ของผลผลิตทั้งประเทศ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสหกรณ์ต่างๆ เพื่อรวบรวมผลผลิตสมาชิกให้มากขึ้น  ส่งผลให้สหกรณ์เป็นแหล่งรวบรวมและเป็นหน่วยค้าขาย เพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกรมากขึ้น นอกเหนือจากพวกพ่อค้าที่โรงสี คาดว่าจะรวบรวมข้าวจากเดิม 4.5 แสนตัน ไปเป็น 9.48 แสนตัน

          ส่วนกรณีข้าวสาร จะเพิ่มเป็น 1.34 แสนตันหรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพื่อรองรับข้าวเปลือกจากสมาชิกได้มากขึ้น สหกรณ์ก็จะเป็นหน่วยหนึ่งในการแก้ปัญหาตลาดข้าว  คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 5 ปี อยู่ที่ 6,500 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ กว่า 1,000 ล้านบาทโดย 50 % จะกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร หรือ ธกส.เรื่องนี้จะหรือรายละเอียดอีกครั้ง โดยจะประชุมร่วมกับม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 มี.ค.นี้  จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและครม.ต่อไป

          3.กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันให้บรรจุในรัฐธรรมนูญ เรื่องสหกรณ์ ให้มีความเข้มข้น มากขึ้น โดยจะเสนอให้มีความชัดเจนในถ้อยคำ ทางกฎหมาย เพราะเดิมใช้คำว่า"พึง"แต่อีกฉบับบอกว่า "ต้อง" ความหมายมันต่างกัน เราจะ ผลักดันให้ใช้คำว่า "ต้อง" ให้อยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใครจะต้องสนับสนุนสหกรณ์อย่างยั่งยืน เรื่องนี้ได้สั่งให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณาเรื่องกฎกระทรวงต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบบัญชีว่า ต้องออกกฎกระทรวงหรือระเบียบใดๆ สร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า

          นอกจากนี้อยากให้พิจารณาถึงการหัก ค่าเสื่อมของสหกรณ์ หลังจากที่มีการลงทุนไปแล้วถ้าหักค่าเสื่อมการลงทุนก่อสร้างอาคารใดๆ แล้วรายได้สหกรณ์จะหายไปมากในช่วงปีแรก ของการลงทุน ทำให้สมาชิกไม่อยากจะลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เพราะกลัวไม่ได้เงินปันผล  เรื่องนี้จะหารือในวันที่ 9 มี.ค.นี้เช่นกัน

          หวังบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.พ. 58