แบงก์รัฐไม่ห่วงหนี้ครัวเรือนมั่นใจ'สินเชื่อใหม่'ตามเป้า
ข่าววันที่ : 27 ก.พ. 2558
Share

tmp_20152702095706_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 27 ก.พ. 2558

          นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคาร ไม่ได้เป็นห่วงภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ว่า จะมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่ ของธนาคารปีนี้  โดยธนาคารได้ตั้งเป้า สินเชื่อใหม่ในปีนี้ไว้ที่ 1.07 แสนล้านบาท เพราะสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารใส่เงินเข้าไปเพื่อให้โอกาสคนที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะมีภาระจากหนี้นอกระบบอยู่

          "แม้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่ต้องไปดูว่าหนี้นอกระบบปรับลดลงหรือไม่ ถ้าหนี้นอกระบบลดลงก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะสิ่งที่ออมสินทำอยู่ก็คือทำให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบ จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง ดีกว่าต้องเสียดอกเบี้ยแพงๆ ก็ให้มาอยู่กับเรา มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น" นายสมชัยกล่าว

          นายสมชัย กล่าวถึงกระแสการควบรวมธนาคารออมสินกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณใดในเรื่องนี้จากฝ่ายนโยบาย

          "การควบรวมออมสินกับเอสเอ็มอีแบงก์ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ได้เคยศึกษาเรื่องนี้ไว้กับทางธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ในช่วงที่กิจการเอสเอ็มอีแบงก์ย่ำแย่ ผลการศึกษายังกล่าวยังเป็นแค่เบื้องต้นไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดคือการบริหารจัดการเรื่องคน"

          นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจากเข้าไปดูรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว พบว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากภาคเกษตรกร ส่วนใหญ่มาจากการอุปโภคบริโภค และหนี้บัตรเครดิตที่มีแนวโน้มการชำระหนี้ที่แย่ลง ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจึงไม่มาจากภาคเกษตรกรเป็นหลัก

          "ไม่ได้กังวลว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น จะกระทบกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยในปีบัญชีใหม่ ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นเป้าสินเชื่อที่ เติบโตน้อยลงจากปีที่ผ่านมา เพราะธนาคาร จะเน้นการเติบโตแบบยั่งยืนมากขึ้นและเป็น สินเชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมการ เกษตร ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค" นายสมศักดิ์ กล่าว

          สำหรับสถานการณ์ชำระหนี้ของลูกค้า ธ.ก.ส.ล่าสุด ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ธนาคารมีการติดตามและบริหารจัดการ จนทำให้มีสัดส่วนการชำระหนี้เฉลี่ยที่ 92-93% โดยหนี้ที่มีการค้างชำระตั้งแต่ 1-3 เดือนนั้น ก็มีการติดตาม เจรจาจนกลับมาชำระหนี้ได้

          ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยข้อมูลมูลหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน หรือสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงินทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พบว่าข้อมูลล่า สุด ณ สิ้นเดือนธ.ค.2557 มูลหนี้ในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.12 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 9.44 หมื่นล้านบาท

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ก.พ. 58