งัดภาษีอุ้มเอสเอ็มอี คลังยอมสูญปีละ 5 พันล้าน-3 แบงก์รัฐลงขันตั้งกองทุน
ข่าววันที่ : 8 ก.ย. 2558
Share

tmp_20150809105754_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 8 ก.ย. 2558

         "สมคิด"ดันมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีระยะแรกเข้าครม.วันนี้ เน้นเสริมสภาพคล่องเข้าถึงเงินทุน จี้สมาคมธนาคารไทยให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยปล่อยกู้เพิ่มเติม คลังเสนอ 5 มาตรการช่วยเอสเอ็มอียอมสูญรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท ยกเว้นภาษีรายใหม่ 5 ปี หั่นภาษีเงินได้เหลือ 10% นาน 2 ปี ขณะที่ 3 แบงก์รัฐลงขัน 6 พันล้านตั้งกองทุนร่วมลงทุน เร่ง ธ.ก.ส.-ออมสินปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้าน

          การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (8ก.ย.) กระทรวงการคลัง ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี)ให้ที่ประชุมพิจารณา โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจงมาตรการต่างๆให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบถึงความจำเป็นของมาตรการ  เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากเท่าที่ควร

          นายสมคิด กล่าวว่าการประชุมครม.วันนี้(8ก.ย.) จะเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี  โดยระยะแรกเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสภาพคล่องเอสเอ็มอี  ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่จูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ ยอมปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ขยายวงเงินค้ำประกัน สำหรับเอสเอ็มอีให้เกิดความคล่องตัว 

          นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง ยังเสนอมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ถือเป็นการลดต้นทุนของเอสเอ็มอี  ซึ่งมาตรการต่างๆเป็นมาตรการ สนับสนุนซึ่งจะร่วมกับสถาบันการเงินที่ดูแลเอสเอ็มอีอยู่แล้ว

          สำหรับมาตรการที่จะออกมายืนยันว่า สำนักงบประมาณกำกับดูแลแล้วทั้งหมด โดยตอนนี้ใกล้จะเข้าปีงบประมาณปี 2559 แล้ว บางส่วนจึงจะใช้เงินของงบประมาณในปีต่อไป ทุกอย่างจะทำด้วยความระมัดระวัง

          "ที่ผ่านมาสภาพคล่องของเอสเอ็มอีไม่ดีเลย เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี สถาบันการเงินไม่ค่อยกล้าที่จะปล่อยกู้ เราจึงขอความร่วมมือผ่านสมาคมธนาคารไทย ให้ ปล่อยกู้มากขึ้น เป็นความร่วมมือที่ทำร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้นายสมคิด กล่าว

          เร่งออมสิน-ธ.ก.ส.อนุมัติเงินกู้

          สำหรับมาตรการที่เน้นความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีในระยะถัดไป ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรการต่างๆออกมา นอกจากต้องดูเรื่องการหาตลาดเพิ่มเติม กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีด้านอื่นๆ เช่น มาตรการส่งเสริมการตลาดผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ (E-commerce) เพื่อเป็นช่องทางสำคัญการค้าขายของเอสเอ็มอีให้มากขึ้น

          ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท  กระทรงการคลังได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน เร่งการประชุมคณะกรรมการของธนาคารทั้งสองแห่งขึ้นกว่าปกติ เพื่อที่จะได้อนุมัติเงินกู้ลงไปยังกองทุนหมู่บ้าน

          เน้นปล่อยสภาพคล่องผ่านแบงก์

          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอครม.เป็น 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี โดยมาตรการที่ออกมาถือว่า เป็นมาตรการในซีรี่ย์ที่ 2 เพื่อช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มที่ได้รับความลำบากจากเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ มาตรการที่ออกมาในส่วนของเงินช่วยให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และลดต้นทุนทางการเงินต่างๆ

          ส่วนมาตรการทางภาษี เป็นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในสาขาที่มีโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต โดยการลดหย่อนภาษีให้บางส่วน  รายละเอียดต้องรอการพิจารณาจากครม. ส่วนมาตรการทางการเงินจะใช้การปล่อยกู้ผ่านกลไกทางสถาบันการเงินทั้งหมด

          ชง5มาตรการช่วยเอสเอสเอ็มอี

          แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวว่าในการประชุมครม.วันนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอให้ครม.พิจารณา มาตรการการเงินการคลัง เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี ระยะเร่งด่วน 5 มาตรการ 1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการเอสเอ็มอีรายใหม่ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 2.86% เป็นระยะเวลา 7 ปี  ให้กระทรวงการคลัง จะตั้งงบประมาณชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน วงเงินรวมไม่เกิน 20,020 ล้านบาท  ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2560 และปีต่อๆ ไป

          2.ข้อเสนอทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยปรับปรุงเงื่อนไขการค้ำประกันให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมเพิ่มวงเงินค้ำประกันอีก 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ครม.เคยอนุมัติไว้เมื่อเดือนก.ค. 2558 จำนวน 8 หมื่นล้านบาท ทำให้วงเงินค้ำประกันเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้วงเงินสินเชื่อของโครงการเพิ่มจาก 240,000 ล้านบาท เป็น 260,000 ล้านบาท

          ให้ บสย. ปรับเพิ่มค่าชดเชยความเสียหายให้ธนาคารพาณิชย์จาก 21% เป็น 22.5% โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยความเสียหายให้กับ บสย. ตามภาระที่เกิดขึ้นจาก แต่ให้ใช้งบประมาณ 13,800 ล้านบาท ที่ครม.เคยอนุมัติก่อนหน้านี้

          ดึง3แบงก์รัฐตั้งกองทุนร่วมลงทุน

          3.มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอี ผ่านโครงการร่วมลงทุน ของธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารกรุงไทย โดตั้งกองทุนร่วมลงทุนวงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยจะทยอยใส่เงินเข้ากองทุนปีละ 2,000 ล้านบาท

          4.ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 3 แสน 1 บาทขึ้นไป จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องเสียภาษี 15-20% ลงมาเหลือ 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใช้ คือหลัง วันที่ 1 ม.ค.2558 จนถึงรอบบัญชีที่ 31 ธ.ค.2559 คาดรัฐจะสูญเสียรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท

          5.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่หรือ New Start-UP โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมเป้าหมานที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2558 ถึง 31 ธงค.2559 เป็นเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน

          6.ให้กรมสรรพากรเร่งยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว

          "คาดมีเอสเอ็มอีได้รับประโยชน์กว่า 3 หมื่นล้าน มีเงินหมุนเวียนในมาตรการนี้กว่า 2แสนล้านบาท"

          เร่งปล่อยกู้ Policy Loan 1.5 หมื่นล.

          นางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่าธนาคารจะเร่งดำเนินการรับคำยื่นขอกู้ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy Loan อัตราดอกเบี้ย 4% ให้เต็มวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนก.ย.นี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนทั้งพนักงานสินเชื่อ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มาขอกู้  หลังจากนี้รัฐบาลได้ให้ธนาคารออมสินทำซอฟท์โลนออกมาอีก

          "เดือนนี้จะพยายามรับคำขอกู้ให้เต็มวงเงิน แล้วค่อยไปดูการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้จบเป็นโครงการไป ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความสับสน เพราะหลังจากนี้จะมีซอฟท์โลนของออมสินออกมาอีก"

          ธพว.พร้อมเพิ่มวงเงินกองทุนร่วมลงทุน

          ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือแบงก์รัฐ 3 คือ เอสเอ็มอีแบงก์ ออมสิน และกรุงไทย ไปจัดทำกองทุนร่วมลงทุน กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติมแห่งละ 2 พันล้าน พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบาย

          ข้อดีของกองทุนร่วมลงทุนคือ ทำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในการทำธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย อีกทั้งการมีธนาคารของรัฐร่วมถือหุ้นในกิจการ ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการส่งออก ทำให้กิจการนั้นๆได้รับการยอมรับมากขึ้น

          เปิดตัวปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านเดือนนี้

          แหล่งข่าวจากการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะเปิดตัวโครงการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบ วงเงินดังกล่าวเป็นของธนาคารออมสิน 3 หมื่นล้านบาท และธ.ก.ส. 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 7 ปี  การทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 ธ.ค.นี้

          ส่วนดอกเบี้ยนั้น  2 ปีแรก ดอกเบี้ย 0% ส่วนปีที่ 3-7 คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินของแต่ละธนาคารบวก 1.0% ทำให้ดอกเบี้ยของธ.ก.ส.อยู่ในระดับ 2.92% และดอกเบี้ยของออมสินคิดในอัตรา 3.1%

          ส่งธ.ก.ส.ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกทบ.

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้อนุมัติวงเงินกู้กองทุนละ 1 ล้านบาท ให้กับหมู่บ้านที่ได้รับการจัดชั้น A-B ที่ ธ.ก.ส.ดูแลอยู่ประมาณ 20,500 กองทุน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ โดยให้ธ.ก.ส. ทำงานร่วมกับคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) และกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในการเข้าไปดูแลการใช้เงินของสมาชิกกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ ครม.ได้อนุมัติ

          นอกจากนี้ ที่ประชุม  ให้ธ.ก.ส.เร่งลงไปทำงานกับกองทุนหมู่บ้านที่ต้องส่งแผนฟื้นฟูในระดับCและDที่ยังไม่ได้รับการเพิ่มทุนระยะที่ 2 ประมาณ 18,000 กองทุน เพื่อให้มีการปรับปรุงการทำงาน และเพิ่มทุนในระยะที่ 2 ได้เร็วที่สุด

          ออมสินพร้อมปล่อยกู้3หมื่นล้าน

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่าธนาคารได้เตรียมความพร้อม )ล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท คาดสามารถปล่อยกู้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

          "ธนาคารไม่กังวลเอ็นพีแอล เพราะกลุ่มAและB เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง แ กองทุนหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545-2546  มีความเข้มแข็งมาก ประกอบกับการคัดเลือกประชาชนนั้น กองทุนหมู่บ้านเข้าถึงผู้กู้ได้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่" นายชาติชาย กล่าว

          สำหรับโครงการนี้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย โดยปลอดดอกเบี้ย 0% นาน 2 ปี ธนาคารจะคัดเลือกหมู่บ้านที่จัดกลุ่มอยู่ในกลุ่ม Aและ B ที่มีอยู่ทั้งหมด 59,000 หมู่บ้าน ส่วนอีก 18,000 หมู่บ้านจัดอยู่ในกลุ่มCและD

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการประกอบธุรกิจ โดยกระทรวงไอซีที จะส่งเสริมการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านระบบดิจิทัล  

          ส่วนของการท่องเที่ยวต้องสร้างสิ่งทีเรียกว่า E-tourism ส่วนนโยบายสำคัญต่างๆของกระทรวงไอซีที เช่น เรื่องบรอดแบรนด์แห่งชาติ และการจัดทำศูนย์ข้อมูล (data center) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนให้ความสำคัญ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 กันยายน 2558