แบงก์ออมสินหงุดหงิดสินเชื่อหดปรับกระบวนการอนุมัติหวังดันยอด
ข่าววันที่ : 9 มิ.ย. 2558
Share

tmp_20150906133339_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 9 มิ.ย. 2558

          ยอดสินเชื่อคงค้างธนาคารหดตัวลง เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่ รัฐวิสาหกิจ มีการออกตราสารทางการเงินอื่นๆ แล้วนำเงินมาใช้หนี้คืน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้ทยอยใช้หนี้ที่กู้ยืมผ่านอินเตอร์แบงก์ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันรวมกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินของคนลดลง เพราะกู้แบงก์ไม่ได้ ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย ยังพยายามรักษาระดับสินเชื่อไว้ที่เดิม

          ทั้งนี้เพื่อให้การอนุมัติสินเชื่อเกิดความคล่องตัว มากขึ้น ธนาคารเตรียมออกหนังสือเวียนเพื่อปรับกระบวนอนุมัติสินเชื่อในระดับสาขาใหม่ จากเดิมที่สาขาสามารถอนุมัติสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เปลี่ยนเป็นอนุมัติสินเชื่อที่มีหลักประกันได้ 3 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการระดับเขตอนุมัติ แต่กรณีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันให้ลดวงเงินจาก 3 ล้านเหลือ 1 ล้านบาท

          ขณะที่ระดับเขต สามารถอนุมัติสินเชื่อที่มีหลักประกันได้ถึง 10 ล้านบาท และไม่มีหลักประกันอนุมัติสูงสุดได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อป้องกันเรื่องความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอล และช่วยลดระยะเวลาในการรออนุมัติสินเชื่อ ของรายย่อยต้องรู้ผลไม่เกิน 5-20 วัน และรายใหญ่ต้องรู้ผลไม่เกิน 20 วัน จากของเดิมต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรู้ผล

          สำหรับยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารออมสิน ณ สิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 1.74 ล้านล้านบาท เงินฝากคงค้างอยู่ที่ 1.88 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2557 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.80 ล้านล้านบาท และเงินฝากคงค้างอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2.25 ล้านล้านบาท

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยอดสินเชื่อของธนาคารออมสิน ปรับตัวลดลงมาจากหลายสาเหตุ เนื่องจากเกณฑ์กำกับสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่กำหนดให้ผู้กู้ ต้องมีเงินได้สุทธิคงเหลือหลังค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 40% ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการปล่อยสินเชื่อระดับรากหญ้าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

          นอกจากนี้ผลจากการที่ธนาคารปรับเกณฑ์การใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี หรือเอ็มแอลอาร์ เปลี่ยนเป็นลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ เอ็มอาร์อาร์ ซึ่งทำให้ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยของธนาคารสูงกว่าธนาคารรัฐแห่งอื่น แม้บางโครงการจะเป็นสินเชื่อแบบ เอ็มอาร์อาร์ลบ แต่ภาพรวมดอกเบี้ยยังสูงกว่าธนาคารรัฐแห่งอื่นอยู่ราว 0.50% ส่งผลให้ลูกหนี้ในโครงการสินเชื่อองค์กรชุมชน สินเชื่อที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารระดับตำบล สินเชื่อเทศบาล มีบางแห่งทยอยขอชำระหนี้เพื่อออกไปกู้ธนาคารอื่น

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 มิถุนายน 2558