ฟื้นรากหญ้า
ข่าววันที่ : 17 ก.ย. 2558
Share

tmp_20151709110507_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 ก.ย. 2558

          นโยบายดังกล่าวมีมาตรการอยู่หลายส่วน

          หนึ่ง...มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ระดับเกรดเอ และเกรดบี จากกองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท

          โดยนายกฯเป็นประธานกดปุ่มปล่อยกู้เงินให้กองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศไปแล้ว ล่าสุด มีกองทุนทยอยขอเข้าโครงการนี้กว่า 10,000 กองทุน

          ทั้งนี้ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ให้กับกองทุนเป็นเวลา 7 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา และให้ทำนิติกรรมสัญญาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

          กำหนดให้กองทุนปล่อยกู้ให้กับสมาชิกกองทุนโดย 2 ปีแรกจะปลอดดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3-7 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกร้อยละ 1 ต่อปี และห้ามกองทุนฯนำเงินกู้ไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม

          หนึ่ง...มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

          มาตรการนี้ กระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพหลัก โดยจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล รวมเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท

          ทั้งนี้ ต้องเร่งรัดใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และต้องเป็นโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัด เช่น โครงการซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ ซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง ปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ

          หรือโครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาดรองรับ การเปลี่ยนอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน

          หรือโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ

          หนึ่ง...มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด วงเงิน 40,000 ล้านบาท

          โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุน วงเงินในการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่  31 ธันวาคม 2558 โดยขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

          รัฐบาลหวังว่ามาตรการเหล่านี้พอจะช่วยกระตุ้นให้คนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้บ้าง ในสภาวะที่ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ในสถานการณ์ภัยแล้งยาวนาน ที่ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศรายได้ลดฮวบ กำลังซื้อในตลาดหดหาย ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศซบเซา

          จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปโอบอุ้มกลุ่มคนเหล่านี้ ให้มีทางเลือกที่จะทำอาชีพเสริม เพื่อหารายได้มาชดเชย ซึ่งจะส่งผลให้มีกำลังซื้อมากขึ้น อาจจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศพอจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง

          ทั้งนี้ เพราะรายได้จากการส่งออกหมดหวังจะพึ่งพา การอัดฉีดงบลงทุนของรัฐบาลก็เชื่องช้าเกิน

          แต่มาตรการเหล่านี้หากจะช่วยพลิกฟื้นรากหญ้าให้กลับมามีชีวิตชีวาได้จริง อาจต้องยอมหลับตาข้างหนึ่ง โดยไม่กำหนดเงื่อนไขเข้มงวดมากเกินไป ไม่เช่นนั้นท่อเงินกู้จะตัน ไม่ออกไปหมุนเวียนตามที่คาดหวังไว้

          แต่ก็อย่าปล่อยปละมากไป มิเช่นนั้นจะกลายเป็นหนี้เสีย มหาศาลในภายภาคหน้า

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 กันยายน 2558