สมคิด ชง 2 แพคเก็จ กระตุ้นเศรษฐกิจ-อัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี
ข่าววันที่ : 8 ก.ย. 2558
Share

tmp_20150809105708_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 8 ก.ย. 2558

          เมื่อวันที่ 7 ก.ย.58 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ว่า ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ จะเสนอแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเสริมสภาพคล่องเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ที่จะขอให้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะให้กระทรวงการคลังออกมาตรการทางภาษีเพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

          สำหรับมาตรการในช่วงที่ 2 คือ จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมไปศึกษาการหาตลาดผ่านออนไลน์ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ส ทั้งนี้ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากจะต้องรอเสนอแพ็คเกจช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ครม.พิจารณาก่อน พร้อมยืนยันการใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วยเหลือจะไม่กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และจะใช้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งขณะนี้ถือว่าเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ปีงบประมาณ 59 ขณะที่การใช้เงินในปีงบประมาณ 58 ไม่ได้สูงมากนัก จึงไม่น่ากังวล

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมธนาคารอนุมัติวเงิน 30,000 ล้าน ปล่อยกู้กองทุนหมู้บ้านฯ อัตราดอกเบี้ยกู้ร้อยละ 0 เป็นเวลา 2 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีกองทุน เกรด A และ B ที่ธ.ก.ส.จะสนับสนุนได้ 20,500 กองทุน ซึ่งต้องปล่อยกู้ให้หมดภายในเดือนต.ค.นี้ และมั่นใจว่าไม่มีปัญหาในเรื่องของหนี้เสีย เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านชั้นดีมากและดี

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมปล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งธนาคารออมสินได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบปล่อยสินเชื่อวงเงิน 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถปล่อยได้ทั้งหมดภายในปีนี้ สำหรับโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย โดยปลอดดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 2 ปี โดยธนาคารจะคัดเลือกหมู่บ้านที่จัดกลุ่มอยู่ในกลุ่ม A และ B ที่มีอยู่ทั้งหมด 59,000 หมู่บ้าน ส่วนอีก 18,000 หมู่บ้าน จัดอยู่ในกลุ่ม C และ D โดยธนาคารไม่กังวลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพราะกลุ่มA และ B มีความเข้มแข็ง

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.siamrath.co.th วันที่ 8 กันยายน 2558