ธ.ก.ส.ลุ้นยอดขายประกันข้าว ปี'59เพิ่ม5ล้านไร่-ตั้งกองทุน
ข่าววันที่ : 17 มิ.ย. 2558
Share

tmp_20151706101954_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 มิ.ย. 2558

          ลุ้นสิ้นโครงการทำได้ตามเป้า 1.5 ล้านไร่ พร้อมผลักดันปี'59 ทำโครงการใหญ่ขยายเป็น 5 ล้านไร่ ดันตั้งกองทุนดูแลแทน ขายเบี้ย ประกันผ่านสหกรณ์/องค์กรเกษตรกร

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2558 และ ธ.ก.ส.ได้เริ่มจำหน่ายเบี้ยประกันภัยมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดจนถึง ณ วันที่ 8 มิ.ย. มีเกษตรกรซื้อประกันภัยข้าวนาปีแล้วคิดเป็นพื้นที่จำนวน 1.09 แสนไร่ คิดเป็นจำนวนเบี้ยรับทั้งสิ้น 48 ล้านบาท

          "ตอนนี้ประกันภัยข้าวนาปีได้รับการตอบรับดีมาก เริ่มขายได้มากขึ้น วันหลัง ๆ ตกวันละกว่า 1 หมื่นไร่ โดยภาคที่ขายได้มาก ก็จะเป็นอีสานล่าง กับภาคเหนือตอนล่าง ส่วนภาคอื่นก็กำลังทยอยตามมา ทั้งนี้ สำหรับภาคกลางจะขายถึงวันที่ 14 ส.ค. ส่วนภาคใต้จะถึงวันที่ 11 ธ.ค.ปีนี้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า ปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายจำหน่ายเบี้ยประกันภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกรวม 1.5 ล้านไร่ ซึ่งหากได้รับการตอบรับดีต่อเนื่อง ก็น่าจะได้ใกล้เคียงเป้าหมาย

          อย่างไรก็ดี คาดว่าอย่างน้อยปีนี้ก็น่าจะขายเบี้ยประกันได้มากกว่าปีก่อนที่ได้เพียง 8.5 แสนไร่ เนื่องจากมีหน่วยงานร่วมผลักดันมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมจัดงาน ซึ่งเมื่อ วันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อหากลยุทธ์สร้าง ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในการทำ ประกันภัยนาข้าวให้มากขึ้น โดยเบื้องต้น จะมีการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ ระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย.นี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา

          แหล่งข่าวยอมรับว่า ปีนี้การเริ่มโครงการก็ถือว่าช้าไป เพราะจริง ๆ แล้วควรเริ่มขายประกันได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. และจะมีการทำสัญญาเงินกู้เพื่อทำการผลิตรอบใหม่ ซึ่งหากสามารถเริ่มจำหน่ายเบี้ยประกันได้ในช่วงนั้น ก็จะจำหน่ายได้มากขึ้นกว่าการตามไปขายภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. (นายลักษณ์ วจนานวัช) ก็ต้องการให้ขายเบี้ยประกันให้ได้ตาม เป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ในปีนี้ โดยหากทำได้ ปีหน้าจะเสนอโครงการที่ใหญ่ขึ้น คือ ขยายพื้นที่เป้าหมายเป็น 5 ล้านไร่ และดำเนินการในรูปแบบกองทุน ซึ่งเป็นโมเดลของประเทศญี่ปุ่น โดยจำหน่ายผ่านกลไกสหกรณ์ หรือองค์กรเกษตรกรแทนที่จะให้ ธ.ก.ส.ขายเบี้ยประกันเหมือนที่ผ่านมา

          "ถ้าทำรูปแบบกองทุน พอได้เบี้ยมา ส่วนหนึ่งก็จะรีอินชัวรันส์ไปให้บริษัทประกัน แต่บางส่วนก็ให้กองทุนรับไว้เอง ซึ่งเมื่อเพิ่มพื้นที่มากขึ้น เบี้ยประกันก็ต้องลดลงด้วยโดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ที่จะเปลี่ยนผ่าน เกษตรกรควรจะจ่ายแค่ 10-20 บาทต่อไร่" แหล่งข่าวกล่าว

          สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนา ปี 2558 นี้ จะให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรลูกค้าผู้เอาประกันภัย ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้ง ช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด โดยแบ่งเป็น 5 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยง เพื่อจัดเก็บเบี้ยประกันภัยในอัตราที่แตกต่างกัน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งแต่ 60-100 บาทต่อไร่ และรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรในส่วนที่เหลือ 64.12-383.64 บาทต่อไร่

          ขณะที่ ธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการในอัตราไร่ละ 10 บาท เป็นจำนวนเงิน 15 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัย วงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาท ต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภทดังกล่าวและวงเงินความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนใช้เกณฑ์การประเมินความเสียหายที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการปี 2554 - 2557

          ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการ รวมทั้งใช้เงินทดรองราชการจ่ายเงินอุดหนุน ค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลโดยจะขอชดเชย เงินจากรัฐบาลในส่วนของเงินอุดหนุนค่าเบี้ย ประกันภัยตามจำนวนที่จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 268,012,225.26 บาท

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 2558