ปฏิวัตินโยบายการเกษตรไทย "ลักษณ์" ถอดประสบการณ์เพื่อความอยู่ดีกินดี
ข่าววันที่ : 8 มิ.ย. 2558
Share

tmp_20150806094609_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 8 มิ.ย. 2558

          โดยระบุว่า เป็นโครงการที่บิดเบือนกลไกตลาด และยังสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างยับเยิน ทิ้งหนี้เน่ากว่า 500,000-600,000 ล้านบาท ที่ยังไม่รู้จะต้องชดใช้กันไปอีกกี่ปี ยังไม่รวมสต๊อกข้าวเน่าอีกพะเรอเกวียนกว่า 16 ล้านตันที่ยังต้องหาทางเคลียร์หน้าเสื่อ และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ “ราคาข้าวตกต่ำ”

          อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการยกเครื่องและรื้อนโยบายประชานิยมดังกล่าวด้วยการ “หักดิบ” และผลักดันโครงการใหม่ที่หันไปเน้นการลดต้นทุนการผลิต ยืนบนขาตนเองแทนนั้น ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่สามารถทำให้เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ที่ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ด้วยอาชีพเกษตรกรรมสลัดหลุดพ้น “โซ่ตรวน” ในอดีตลงไปได้ ตรงกันข้ามกลับสร้างความเดือดร้อนยากลำบากในการดำรงชีวิตจากรายได้ที่ลดลง

          ดูเหมือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการ “เปลี่ยนผ่าน” จากเคย “แบมือ” รอรับการอุดหนุนจากภาครัฐในเกือบทุกๆ ด้าน มาสู่การยืนบนลำแข้งตนเอง จะเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่รัฐบาลยังไม่สามารถผ่าทางตันลงไปได้

          มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น นโยบายลดต้นทุนการผลิต ลดค่าเช่าที่นา หรือให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการจ่ายเงินชดเชยการผลิตให้ชาวนาและชาวสวนยางพาราไร่ละ 1,000 บาทไปแล้ว ยังถูกร้องให้ทำเพิ่มขึ้นๆ ไม่สิ้นสุด ขณะที่การดันราคาสินค้าเกษตร เช่นข้าว ยางพาราให้สูงขึ้นยังทำไม่ได้

          โดยล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ขอเวลา 1 เดือนจากวันนี้ เพื่อเคลียร์สต๊อกข้าวเสื่อม 12 ล้านตันออกจากระบบ และสัญญาว่าราคาข้าวจะปรับขึ้นได้ 1,000 บาทต่อตัน แต่เท่าที่ “ทีมเศรษฐกิจ” เฝ้าติดตามดูการทำงานของรัฐบาล เรายังไม่เห็นชัดเจนถึง “แสงสว่างปลายอุโมงค์”

          เมื่อผ่านมา 1 ปีเต็ม กับคำถามที่ว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเดินมาถูกทางหรือไม่ และอะไรคือปัญหารากเหง้าที่ทำให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยยังวนเวียนกับ “วัฏจักรแห่งความยากจน” ไม่สิ้นสุด

          “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ลักษณ์ วจนานวัช” ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะผู้คร่ำหวอดที่คลุกคลีอยู่กับวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ชาวนามานานทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยในเกือบทุกด้าน ก่อนจะประมวลเป็นข้อคิดที่น่าจะเป็น “โมเดล” หนึ่งของการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยไม่ต้องหวนกลับไปมองเรื่อง “ประชานิยม” อีกต่อไป ดังนี้ :

          “โซนนิ่งข้าว” ล้างวงจรราคาต่ำ

          “ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” ประเดิมบทสนทนากับ “ทีมเศรษฐกิจ” โดยยอมรับว่า “ในขณะนี้ การแก้ไขให้สถานการณ์ราคาสินค้า ทั้งข้าว และยางพาราตกต่ำให้สำเร็จโดยเร็วเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำอยู่เหนือการควบคุม ทุกฝ่ายไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลเอง จึงต้องร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยยืนหยัดในตลาดโลกได้”

          ขณะเดียวกัน เราต้องมามองจุดด้อยของภาคเกษตรของไทยเองด้วย ว่าผลผลิตของเราเป็นอย่างไร ขณะความต้องการซื้อของตลาดโลกเป็นอย่างไร ที่ผ่านมา ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงแล้วว่า ประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรมากเกินไป อย่างกรณีข้าว เรามีเหลืออยู่ในสต๊อกของรัฐบาลมากเกินไป เพราะในหนึ่งฤดูการผลิตจะใช้เวลาเพาะปลูกเพียง 4-5 เดือน ยังไม่ทันขายสต๊อกเก่าผลผลิตใหม่ก็ออกมาแล้ว

          “ทำให้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นยุคทองของผู้ซื้อที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้ผลิต สิ่งที่ตามมาคือ ราคาสินค้าเกษตรถูกกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น ข้าว และยางพารา ถูกกดราคารับซื้อในทุกวงจร”

          อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะไม่กลับไปใช้วิธีแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรแบบหนักหน่วงเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลชุดที่แล้วอีก ดังนั้น การขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ภายใต้การทำงานของกลไกตลาดจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดค่าเช่าที่ทำกินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยลดภาระที่หนักอึ้งของพี่น้องเกษตรกรให้ทุเลาเบาบางลงแล้วก็ตาม

          แต่หากปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพียงอย่างเดียว นายลักษณ์ ระบุว่า อาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5–10 ปี ในการระบายสต๊อกข้าวสารของรัฐบาล 16–17 ล้านตันนี้ออกไป นอกจากนั้น เรายังสูญเสียโอกาสที่จะขายข้าวลอตใหม่ในราคาสูงๆ เพราะสต๊อกเก่านี้ค้ำคออยู่ และเป็นตัวถ่วงบรรยากาศในการขายข้าว

          ในช่วงเวลานี้ เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มอาวุธและเครื่องมือให้แก่เกษตรกรไทยอย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยนำเอาระบบการจัดการเพาะปลูกหรือ “โซนนิ่ง” เข้ามาใช้ เพื่อจำกัดปริมาณข้าวให้เหมาะสม และคัดสรรพันธุ์ข้าวที่จะปลูกในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร

          “เพราะประเทศไทยมี 77 จังหวัด เรามีหลายพื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวคุณภาพดีที่ตลาดมีความต้องการสูงได้ เช่น ข้าวหอมมะลิ จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือภาคเหนือตอนบนที่ได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์จากสหภาพยุโรปขายได้ในราคาสูงถึงตันละ 24,000-25,000 บาท โดยไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว”

          ส่วนข้าวทั่วไป หรือที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่เพาะปลูกในเขตภาคกลางในเวลานี้นั้น ต้องมีการพัฒนาการผลิตขึ้นไปเป็นข้าวเพื่อบุกตลาดส่งออกไปแข่งขันราคากับข้าวจากประเทศเวียดนามและพม่า เพราะตลาดข้าวกลุ่มนี้จะเน้นไปที่ราคาถูก ดังนั้น ข้าวไทยต้องสามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งได้

          รัฐบาลจึงต้องให้การสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างจริงจังด้วยการเพิ่มผลผลิตไปพร้อมๆ กับลดต้นทุนการผลิต จากปัจจุบันที่เกษตรกรภาคกลางผลิตข้าวได้ 800 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ เพิ่มผลผลิตให้ได้ 1,200 กก.ต่อไร่ จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งทันที เพราะข้าวของเรามีคุณภาพสูงกว่าข้าวเวียดนามและพม่า

          “ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรไทยทั่วประเทศต้องรวมตัวกัน พัฒนาทั้งเรื่องขององค์ความรู้ แหล่งเงินทุน และเครื่องมือเครื่องจักร เหมือนในอดีตที่ชาวนาไทยมีการ “ลงแขก” ร่วมกันเก็บเกี่ยว ขณะที่รัฐบาลก็ต้องนำความรู้มาประยุกต์ และหาแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรไทยผลิตข้าวคุณภาพดีให้ได้ พร้อมทั้งหาตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือ Niche Market ควบคุมการผลิตสินค้าไม่ให้ออกสู่ตลาดมากจนเกินไป”

          แนะกฎเหล็ก 3 ข้ออุ้มเกษตรกรไทย

          พร้อมกันนั้น ยังมีข้อเสนอแนะอีก 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่ ประการแรก คือ การรวบรวมพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องเชิญชวนชาวนารวมตัวเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เพื่อให้การใช้เครื่องมือ เครื่องจักรเข้ามาช่วยทุ่นแรงในการทำงาน สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ร่วมกันวิธีการนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนาที่ไปรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต

          โดยพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการจัดที่ดินผืนใหญ่ คือ บริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกบางส่วน โดยพื้นที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทาน 12.5 ล้านไร่ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันใช้เครื่องจักรทางการเกษตรร่วมกัน มีวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุด มีอัตราผลตอบแทนต่อไร่สูง ทนทานต่อภัยแล้งหรือแมลงและศัตรูพืชได้

          และหากขาดเงินทุนสามารถขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.ได้ ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อวิสาหกิจชุมชนอยู่ที่ 5% ต่อปี

          “ข้าวที่ผลิตได้จากพื้นที่ภาคกลาง คือ ข้าวที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก หากเราสามารถทำให้ต้นทุนถูกลงผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น หากเราไม่รีบวางแผนนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว โอกาสที่จะทำได้สำเร็จคงยากยิ่งขึ้นเพราะนับวันผู้คนในภาคเกษตรจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ”

          ประการที่ 2 คือ Power Marketing หมายถึง “การรวมพลังงานของชาวนา” เพื่อปลดปล่อยศักยภาพในการซื้อและขายสินค้าของชุมชน เช่น การรวมตัวของวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มแม่บ้าน รวมถึงระบบสหกรณ์ที่ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับอำเภอและจังหวัด แต่ยังไม่ได้ลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน ทำให้ศักยภาพของชุมชนขาดการรวมตัว และขาดอำนาจในการต่อรองซื้อสินค้าและปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ทำให้ “Power Marketing” ไม่ได้ถูกนำใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

          “หากเกษตรกรมีการรวมตัวกันอย่างหนักแน่น สั่งซื้อสินค้าครั้งเดียวในปริมาณที่มากๆ จะเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการต่อราคาจากผู้ผลิตได้โดยตรง พ่อค้าคนกลางที่เคยได้เปรียบเกษตรกรรายย่อยก็หมดหนทางในการฉกฉวยความได้เปรียบ” นายลักษณ์กล่าว

          ประการสุดท้าย ประการที่ 3 รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตร ภายใต้การรวมตัวของเกษตรกรในรูปของวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า เพราะปัจจุบันการกำหนดราคาสินค้าเกษตร มาจากเกษตรกรตัวจริงไม่ถึง 10% สินค้าเกษตรเกือบทั้งหมด เช่น ข้าว ยางพารา ผลไม้ น้ำมันปาลม์ ปัจจุบันล้วนถูกกำหนดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง

          ปลุกระบบสหกรณ์คุมกลไกตลาด

          ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตรอย่างรุนแรง เพราะตราบใดที่เกษตรกรขายสินค้าให้แก่พ่อค้าคนกลางโดยตรง การแข่งขันทางด้านราคาจะไม่มีวันเกิดขึ้น สิ่งที่รัฐบาลควรรีบทำคือ

          การจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรกับพืชทุกชนิด เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตไปขายให้แก่ผู้ซื้อหลายๆ ราย ณ จุดนัดพบที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้เกิดการต่อรองด้านราคา และการแข่งขันทางด้านคุณภาพของสินค้า ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบ

          “เชื่อหรือไม่ว่า ประธานาธิบดีปักจุงฮี ของเกาหลีใต้ เคยส่งคนมาดูงานเรื่องสหกรณ์ที่ประเทศไทยเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผ่านมา 25 ปี เกษตรกรไทยของเรายังย่ำอยู่กับที่ ขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ได้นำเรื่องระบบสหกรณ์ไปใช้อย่างจริงจัง จนทำให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรมีอำนาจเหนือพ่อค้าคนกลางมากถึง 50% มูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือกที่ผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นข้าวสารและถึงมือผู้บริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 90% ซึ่งในส่วนนี้เกษตรกรของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับประโยชน์ถึง 80% ขณะเกษตรกรของญี่ปุ่นได้รับผลประโยชน์โดยตรงถึง 60%

          หากเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มอำนาจในการต่อรองสินค้ากับพ่อค้าคนกลางได้ถึง 50% วิถีชีวิตของเกษตรกรไทย น่าจะอยู่ดีกินดีในระดับที่ใกล้เคียงกับเกษตรกรของยุโรปและญี่ปุ่น”

          ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ดูเรื่องราคาข้าวเปลือกถูก แต่ข้าวสารแพง และควานหาไอ้โม่งสูบเลือดเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ล่าสุดนั้น ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวกับเราว่า ปัจจุบันสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท ขณะที่ราคาจำหน่ายข้าวสารหอมมะลิขายถังละ 550-560 บาท หรือตกตันละ 36,000 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาขายได้ตันละ 7,500 บาท แต่ผู้ประกอบการนำไปขายเป็นข้าวถุง 5 กก.ในราคา 85-100 บาท คิดเป็น กก.ละ 17-20 บาท หรือตันละ 17,000-20,000 บาท

          แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเอากำไรจากชาวนา แล้วยังไปขูดรีดเอากับผู้บริโภคอีก!!!

          “แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีเพียงคนไทยเท่านั้นที่กินข้าวแพง คนญี่ปุ่นก็กินข้าวแพงและแพงกว่าคนไทยด้วยซ้ำ แต่คนญี่ปุ่นยอมกินข้าวแพง เพราะเขารู้ดีว่าราคาที่สูงจะตกอยู่ในมือเกษตร ไม่ใช่พ่อค้ากลาง และวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นให้เกียรติชาวนาเป็นอันดับสอง ในฐานะผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศรองจากซามูไร ตรงกันข้ามบ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับชาวนา ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ย่ำแย่และน่าสงสาร ลูกหลานไม่มีใครอยากเป็นชาวนาเหมือนพ่อแม่ตัวเอง”

          ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาจึงไม่ตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยตราบใดที่เกษตรกรยังถูกเอารัดเอาเปรียบทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ขาดอำนาจต่อรองในสินค้าที่ตนเองเป็นผู้เพาะปลูก ก็เท่ากับว่า “ล้มเหลว”

          “หากรัฐบาลไม่รีบเข้ามาแก้ไขเรื่องดังกล่าว ผมคิดว่า ยิ่งนานวัน การแก้ไขปัญหาก็ยิ่งยากมากขึ้น พ่อค้าคนกลางเหล่านี้ ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้นและในที่สุดเกษตรกรไทยจะตกเป็นเบี้ยล่างตลอดไป”

          แนะรัฐแก้ปัญหาเกษตรอย่างยั่งยืน

          นายลักษณ์ ให้มุมมองบทบาทของภาครัฐที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรว่า ต้องเริ่มต้นที่การเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิต พร้อมๆ กับการลดความเสี่ยงทางด้านเกษตรกรรม แต่ประเด็นต่างๆเหล่านี้ รัฐบาลจะทำเพียงคนเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

          โดยภาครัฐควรทำแผนงานระยะยาวต่อเนื่อง 5-10 ปี ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันระบบชลประทานของไทยมีเพียง 20% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศ 12.5 ล้านไร่

          อีกปัญหาที่สำคัญ คือ “ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกษตรกรไทยยังประสบกันทุกปี” ซึ่งเรื่องนี้ ธ.ก.ส.ได้พยายามผลักดัน “โครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร” มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร โดยเป็นโครงการนำร่องในบางพื้นที่กับพืชบางชนิด เช่น ข้าวและข้าวโพด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะหากผลผลิตเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ โครงการจะจ่ายเงินชดเชยทันที โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณจากรัฐบาล

          “ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลแต่ละสมัยต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากภัยพิบัติเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.จึงคิดว่าทำไมไม่เอาเงินก้อนนี้มาสร้างเป็นภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรก โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการรับความเสี่ยงด้วย ชาวบ้านก็จะมีความมั่นใจในการลงทุน และดูแลพืชผลเกษตรของตน หากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงก็มีประกันภัยที่พร้อมจะจ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งในปี 2558 นี้จึงเป็นปีแรกที่ ธ.ก.ส.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเต็มที่วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”

          ในกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 6 ประเภท คือ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บและไฟไหม้ จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,111 บาทต่อไร่ และหากได้รับความเสียหายจากศัตรูพืชและโรคระบาดจะได้รับเงินชดเชย 555 บาทต่อไร่ ขณะที่เบี้ยประกันจะแบ่งเป็นตามระดับความเสี่ยงภัยของพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ 60 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 100 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลอุดหนุนตั้งแต่ 64.12 บาท จนถึง 383.64 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.จ่ายสมทบให้อีกไร่ละ 10 บาท

          ท้ายที่สุด “ลักษณ์ วจนานวัช” ฝากความหวังว่า “เกษตรกรไทยสามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง และพร้อมที่จะส่งผ่านความรู้และความสามารถที่สะสมมาอย่างยาวนาน

          ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่าไปจนถึงคนรุ่นลูกหลาน เพื่อรักษาอาชีพเกษตรกรให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป”.

          ทีมเศรษฐกิจ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.thairath.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2558