ภัยแล้งเกษตรกรงดรูดปรื๊ด
ข่าววันที่ : 3 มิ.ย. 2558
Share

tmp_20150306134748_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 3 มิ.ย. 2558

          นายมโนชัย สุดจิตร ผู้อำนวยการสำนักบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ออกบัตรสินเชื่อไป 4 ล้านบัตร แต่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพียง 2 ล้านบัตร คิดเป็นยอดสินเชื่อหมุนเวียนที่ระดับ 4.8 หมื่นล้านบาท

          สำหรับสาเหตุที่เกษตรกรยังไม่ยอมใช้บัตรสินเชื่อน่าจะเกิดจากปัญหา ภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรชะลอการผลิต จึงไม่ต้องการซื้อปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง, เกษตรกรยังไม่สนใจขยายวงเงินในบัตร เพราะครั้งแรกธนาคารจะเปิดวงเงินในบัตรเพียง 5,000-1 หมื่นบาท หากต้องการขอสินเชื่อเพิ่มต้องมาแจ้งเพื่อขออนุมัติวงเงินไม่เกิน 70% ของส่วนที่เหลือเพื่อขยาย, ลูกค้าที่อยู่ในโครงการพักหนี้ ธนาคารจะยังไม่ปล่อยกู้ใหม่จนกว่าจะออกจากโครงการ, มีลูกค้าส่วนหนึ่งที่อายุมากเลิกประกอบอาชีพเกษตรกรและอาจมีบางรายที่ไม่สะดวกในการซื้อสินค้าจากร้านค้าเครือข่าย ซึ่งขณะนี้ได้ขยายเพิ่มเป็น 1.1 หมื่นแห่งทั่วประเทศแล้ว

          ทั้งนี้ เตรียมหารือกับสาขาทุกแห่งให้ทำความเข้าใจกับลูกค้าเรื่องการเปิดวงเงิน และเตรียมเพิ่มร้านค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าให้มีคนใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มอีก 1 ล้านบัตร รวมเป็น 3 ล้านบัตร

          นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ไม่มีนโยบายให้ร้านค้ารูดบัตรแล้วจ่ายเป็นเงินสดให้เกษตรกร ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาจากการสุ่มตรวจและการร้องเรียนพบร้านค้าที่ทำผิดข้อตกลง โดยรูดบัตรแต่ไม่มีการซื้อสินค้าจริงและให้เป็นเงินสดแทน และได้สั่งยกเลิกการเป็นตัวแทนไปแล้วกว่า 100 แห่ง

          "ธนาคารมีการสุ่มตรวจตลอด อันไหนมีการรูดบัตรผิดปกติ เช่น มีการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงนอกฤดูกาลผลิต หรือปั๊มน้ำมันบางแห่งมีการรูดบัตรเพื่อซื้อน้ำมันครั้งละ 2,000 บาทบ่อยๆ แบบนี้ก็ต้องเข้าไปตรวจ ส่วนรายที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเพิ่ม เช่น ซื้อปุ๋ย ต้องจ่ายค่ารูดบัตรอีกกระสอบละ 20 บาท ถ้าเจอจะยึดเครื่อง 1 เดือน และถ้ายังทำอีกก็จะยกเลิกการเป็นร้านค้าในเครือข่ายของ ธ.ก.ส.ทันที" นายมโนชัย กล่าว

          อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเรื่องการรูดบัตรเป็นเงินสดตรวจสอบยาก เพราะเป็นการสมยอมของ 2 ฝ่าย สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบัตรสินเชื่ออยู่ที่ 3-5% หรือคิดเป็นวงเงินราว 2,000 ล้านบาท

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 มิถุนายน 2558