เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

"เทพรัตน์ไพลิน 63" อัญชันพันธุ์ใหม่ คุณสมบัติเทพให้ผลผลิตสูงเก็บเกี่ยวเร็ว

ข่าววันที่ : 17 ธ.ค. 2562


Share

tmp_20191712094451_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 ธ.ค. 2562

           นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า อัญชัน เป็นพืชออกดอกเกือบตลอดปี อย่างไรก็ตาม แม้เป็นพืชที่ผสมตัวเอง แต่ในธรรมชาติมักพบผสมข้ามสายพันธุ์โดยแมลงสูงมากจึงทำให้มีการกระจายตัวทางพันธุกรรม  โดยอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไปพบมีความแปรปรวนทางพันธุกรรม ทำให้ลักษณะกลีบดอกไม่สม่ำเสมอ มีกลีบดอกตั้งแต่ 3-5 กลีบปะปนในต้นเดียวกันและมีทั้งซ้อนและไม่ซ้อนกัน ทำให้ได้ผลผลิตและสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารสำคัญช่วยต้านอนุมูลอิสระ และชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอัญชัญไม่คงตัวและไม่สม่ำเสมอ 

           ในปี 2554 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ปรับปรุงอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป โดยปลูกและคัดเลือกอัญชันพันธุ์ปลูกทั่วไป ใช้การคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์  คัดแยกเป็นสายพันธุ์ โดยคัดเลือกต้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตดอกเร็ว ผลผลิตสูง ลักษณะดอก มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ซ้อน และให้ปริมาณแอนโทไซยานินรวมสูงสุดหรือไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม  และปลูกทดสอบพันธุ์ร่วมกับพันธุ์ปลูกทั่วไปในแปลงของเกษตรกร เพื่อให้ได้อัญชันพันธุ์แท้ที่มีความสม่ำเสมอของลักษณะดอก และให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไปอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์

           อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่าการปรับปรุงพันธุ์อัญชันประสบความสำเร็จ ได้อัญชัญพันธุ์ใหม่เสนอเป็นพันธุ์พืชแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ใช้ชื่อว่า“อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63” มีลักษณะเด่นตามที่ต้องการคือ ให้ผลผลิตดอกสดสูงถึง 2,122 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป และยังเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกได้เร็วกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 6 วัน  มีปริมาณแอนโทไซยานินรวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม  และลักษณะเด่นสำคัญคือ ลักษณะดอกมีกลีบดอกใหญ่ 5 กลีบซ้อนเวียน ซึ่งการมีจำนวนกลีบดอกที่เท่ากันและสม่ำเสมอในต้นเดียวกัน จะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มน้ำหนักดอก ในขณะเดียวกันถ้าจำนวนกลีบดอกไม่เท่ากัน น้ำหนักแต่ละดอกก็จะต่างกัน ผลผลิตโดยรวมจะไม่คงตัว ทำให้ได้ผลผลิตไม่คงที่

           ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรกระจายเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูกแล้วหลายจังหวัด โดยเมล็ดพันธุ์คัด 2 กิโลกรัม ถ้าปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ 10 ไร่  ผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์หลักได้ 1,000 กิโลกรัม เมื่อนำเมล็ดพันธุ์หลักไปปลูกต่อสามารถผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยายได้ 500 ตัน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรให้คำแนะนำการปลูกแก่เกษตรกร กรณีปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ตรงตามพันธุ์ และเพื่อรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โดยปลูกให้มีระยะห่างจากพันธุ์อื่น ป้องกันการผสมข้ามโดยแมลง  ซึ่งทำให้เมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อแปรปรวนได้  ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรนำอัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 ที่ได้รับจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรไปปลูกขยายเป็นการค้า ส่งออกดอกอัญชันไปประเทศเกาหลีเพื่อนำไปแปรรูปเป็นชา  ถือเป็นการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้อีกทาง เกษตรกรที่สนใจพันธุ์อัญชันเทพรัตน์ไพลิน 63 สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรโทร.0-5699-0035 

           นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เพื่อร่วมกำหนดแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกลือทะเลไทยให้เหมาะสมชัดเจน ครอบคลุมสอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานในปัจจุบันและมีประสิทธิภาพ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกลือทะเลไทย จัดทำมาตรฐานเกลือทะเล ทำร่างพ.ร.บ.เกลือทะเล พิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเกลือทะเลไทยต่อไป รวมทั้งแก้ปัญหาที่เกษตรกรชาวนาเกลือประสบทั้งภัยธรรมชาติและการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ นอกจากนี้ กรมฯตั้งสำนักเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยขึ้น เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นต่อไป ทั้งนี้ ปกติแล้วการผลิตเกลือสมุทรจะมีช่วงผลิตได้ในหน้าแล้ง (1 พฤศจิกายน-30 เมษายน ของปีถัดไป) ดังนั้น กรมฯจึงขอให้เกษตรกรชาวนาเกลือมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2562/63 กับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อรับสิทธิ์รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยแจ้งขึ้นทะเบียนปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรการทำนาเกลือสมุทรได้หลังจากวันที่ปล่อยน้ำเข้าแปลงแล้ว 1 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ตามที่เกษตรกรได้แจ้งไว้ภายในไม่เกิน 60 วัน ต่อไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 17 ธ.ค. 2562