เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

กสิกรชี้รีไฟแนนซ์บัตรฯ ไม่กระทบลุยคุมหนี้เสีย

ข่าววันที่ : 17 ธ.ค. 2562


Share

tmp_20191712093343_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 ธ.ค. 2562

          แบงก์กสิกรไทย (KBANK) มองโปรแกรมรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตของแบงก์รัฐเป็นเรื่องที่ดี ไม่กังวลลูกค้าไหลออก และไม่กระทบกับตัวธุรกิจ ส่วนหนี้เสียแบงก์ยังคุมเข้มไม่ให้เกินเป้าหมาย ขณะที่สินเชื่อรวมปีนี้คาดเติบโตกรอบล่างที่ 5%


          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย (KBANK)  เปิดเผยว่าธนาคารไม่กังวลฐานลูกค้าจะไหลออก หลังจากธนาคารรัฐนำร่องเปิดรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตเป็นแบงก์แรกๆ เพื่อปรับลดยอดจ่ายขั้นต่ำเหลือเพียง 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% และไม่กระทบกับตัวธุรกิจ เนื่องจากมองว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์กับลูกค้า


          ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มองว่าไม่น่าจะมีการทำโปรแกรมรีไฟแนนซ์ดังกล่าว เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์ต่างคำนึงถึงความเสี่ยงต่อตัวธนาคาร ถ้าสถานการณ์นั้นมองว่าเกิดจากความไม่ปกติ เพราะธนาคารพาณิชย์ยังต้องอิงกับผลกำไรประกอบด้วยอย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์เอง จะเน้นสนับสนุนในเรื่องของโครงข่ายด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพเป็นหลัก


          สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงเน้นบริหารจัดการเองเป็นหลัก เชื่อว่าได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยวางกรอบหนี้เสียปี 2563 ที่ 3.6-4% ซึ่งธนาคารจะพยายามบริหารจัดการหนี้เสียดังกล่าวไม่ให้เกินกรอบที่วางไว้ ทั้งนี้ การจัดการหนี้เสียของลูกค้าธนาคารยังคงเน้นในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก พยายามดูข้อมูลให้ละเอียดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากอะไร ลูกค้าเจอปัญหาอะไร เพื่อจะได้จัดการปัญหาให้กับลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย


          "หนี้เสียในอดีตเมื่อ 2-3 ปีก่อน ถือว่าอยู่ในระดับสูงและขึ้นแรงมากเมื่อเทียบกับตอนนี้ สถาบันการเงินต่างเรียนรู้ศึกษาและแก้ไขหนี้เสียที่เกิดขึ้นกันตลอดเวลา การบริหารหนี้เสียแต่ละสถาบันการเงินก็มีวิธีการแตกต่างกันไป ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยก็มีการปรับเช่นกัน โดยจะขายออกน้อยลง อย่างในปี 2562 เน้นบริหารเองเป็นหลัก NPL มีแนวโน้มน่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 3.7% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยในปีหน้าตั้งเป้าหมายที่จะคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 4% ซึ่งธนาคารมีแนวทางการบริหารทั้งการขายออกไปและเก็บไว้บริหารจัดการเองตามความเหมาะสม" นายปรีดี กล่าว


          นายปรีดี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรวมปีนี้ คาดว่า สิ้นปี 2562 จะเติบโตไปตามกรอบที่วางไว้ 5-7% แต่จะแตะในช่วงกรอบล่างที่ 5% มากกว่า

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 17 ธ.ค. 2562