เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

กูรูฟันธง กนง. "คงดอกเบี้ย" จับตาต้นปีหน้า "ลด" อีกครั้ง

ข่าววันที่ : 17 ธ.ค. 2562


Share

tmp_20191712091818_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 ธ.ค. 2562

           ซึ่งการประชุมในรอบนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2562 โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่า กนง. น่าจะยัง “คง” ดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพื่อรอดูผลหลังจากได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ส่วนปีหน้ามีแนวโน้มว่า อาจจะเห็น กนง. ตัดสินใจ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง หากภาพรวมเศรษฐกิจยังชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้

           “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า การประชุมรอบนี้ กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีหน้าของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จะออกมาอย่างไร หาก ธปท. ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าไว้ต่ำกว่า 3% ก็มีโอกาสที่จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563

           "ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์เองก็เสียงแตก มองแนวโน้มดอกเบี้ยออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้แล้ว แต่อีกฝ่ายมองว่า ยังมีโอกาสปรับลดอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จึงต้องติดตามดูประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าของทางแบงก์ชาติว่าจะออกมาอย่างไร"

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้แล้ว เพราะแม้จะปรับลดลงไปอีกก็คงไม่มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว หลักๆ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มักชะลอการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นแม้ดอกเบี้ยจะลดลงไปมากกว่านี้ ก็คงไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการลงทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย 

           อีกประเด็น คือ เรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งต้องยอมรับว่าเงินบาทปีนี้แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว และถ้าดูดัชนีค่าเงินบาทแท้จริง(Real Effective Exchange Rate หรือ REER) พบว่าในปี 2562 ดัชนีค่าเงินดังกล่าวแข็งค่ามากกว่าช่วงก่อนเกินวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า แม้ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง ก็คงไม่ช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมากนัก และการแข็งค่าของเงินบาทถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่รั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

           “สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าการคาดการณ์ของหลายๆ ฝ่าย แต่เชื่อว่าการประชุม กนง. ในรอบนี้ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% เช่นเดิม เพื่อรอดูประสิทธิผลของการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

           อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าชะลอตัวลงค่อนข้างแรง และการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า คงมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ โครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินหลักๆ จะเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า อีกส่วน คือ การท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอน และถือเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากควบคุม

           “ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด ยิ่งทำให้คนตกใจ ส่งผลต่อการลงทุนที่ชะลอตัวหนักมากขึ้น และตรงนี้ก็เป็นผลย้อนกลับมาซ้ำเติบเศรษฐกิจให้ชะลอลงหนักกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ทรุดลงไปกว่านี้ คือ ต้องดึงความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ประเด็นนี้นโยบายการคลังจึงถือว่าสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยได้อย่างมาก ในขณะที่นโยบายการเงินเองก็ต้องมีส่วนช่วยเพิ่มด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยพื้นที่ของนโยบายถือว่ายังทำได้”

           “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า การประชุม กนง. รอบนี้เชื่อว่า จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% แต่แนวโน้มระยะข้างหน้ามีโอกาสเห็น กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เพราะเศรษฐกิจระยะข้างหน้ายังดูเปราะบาง

           “เราคิดว่ารอบนี้ยังไม่ลด และการประชุมเดือนถัดไปคือเดือนก.พ.2563 ก็อาจจะยังไม่ลด เชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี2562 ก่อน ซึ่งตัวเลขจะออกมาราวกลางเดือนก.พ. และกนง.เองก็คงอยากรอดูผลการส่งออกด้วย หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในเฟสแรกออกมาทำให้บรรยากาศการค้าดูดีขึ้นบ้าง”

           นายนริศ กล่าวว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นและการส่งออกยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเห็น กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.2563 แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยยาวตลอดทั้งปีของปีหน้าก็ตาม

 

ที่มา  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 17 ธันวาคม 2562