เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ปี 63 โซนอันตราย ศก.ไทย ลงทุนเอกชนชะงัก-แรงงานรายได้ลด

ข่าววันที่ : 18 พ.ย. 2562


Share

tmp_20191811100402_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 18 พ.ย. 2562

             ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็กำลังเผชิญหน้าความท้าทายจากผลกระทบต่าง ๆ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงความเสี่ยงจาก geopolitics ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล่าสุด สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2562 หัวข้อ “Thai Economy 2020 : Looking Ahead” โดยมี นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย และจากผลกระทบสงครามการค้าที่ต่อเนื่องก็ได้เริ่มส่งผ่านไปสู่ภาคการผลิต การลงทุน การส่งออก และการจ้างงาน ที่เริ่มเห็นการลดชั่วโมงทำงาน ลดโอที

             พร้อมกันนี้ก็มี 2 นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งอย่าง นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร และนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ร่วมสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2563

 

             ปี”63 เศรษฐกิจโลกโตต่ำสุด

             นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ฉายภาพว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คงไม่ถึงขั้นถดถอย ปัจจัยหลักมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะเติบโตเพียง 3% หรือเติบโตต่ำสุดตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลก

             “สงครามการค้าโลกคงไม่จบง่าย ๆ อย่างที่หลายคนคาดหวังให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกถอดถอน สงครามการค้าจะได้จบลง เนื่องจากเดิมสหรัฐต้องการลดขาดดุลการค้าสหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่ครั้งนี้สหรัฐกดดันไม่ให้เศรษฐกิจจีนโตเร็ว เพื่อไม่ให้จีนขึ้นเป็นมหาอำนาจ และ trade war ครั้งนี้ยังเป็นเรื่องของ tech war ด้วย จะส่งผลให้สงครามดำเนินไปอีกยาว”

             แต่เชื่อว่าสุดท้ายการค้าโลกจะไม่ทรุดหนักกว่านี้ ถึงจุดหนึ่ง คนจะปรับตัวได้ บนข้อแม้ว่าข้อตกลงภาษีระหว่างทั้ง 2 ประเทศต้องชัดเจน ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนช่วงไตรมาส 1/2563 หรือเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งขั้นต้นของสหรัฐ

 

             “ชิม ช้อป ใช้” เกาไม่ถูกที่คัน

             นายอมรเทพกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโตได้ที่ 2.5-3% คล้ายคลึงปีนี้ที่คาดว่าจะโต 2.8% ปีหน้าจะยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยเพียงแต่โตช้าลง ขณะที่มองว่า “พระเอก” ในปี 2563 จะมาจากท่องเที่ยวและส่งออก เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยที่กระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่แม้ว่ากลุ่มทัวร์จีนลดลง แต่ที่มาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ซึ่งมีกำลังซื้อสูง สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 60%

             ขณะที่การส่งออกจากคาดว่าสงครามการค้าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/63 ส่งผลให้นักลงทุนสามารถกลับมาค้าขายกันได้อีกครั้ง จึงคาดว่าการส่งออกที่ตลาดคาดว่าจะทรุดตัวลง อาจจะไม่ได้ติดลบอย่างที่คาด ส่วนหนึ่งเพราะมีการย้ายฐานการลงทุนมาจากประเทศจีน เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าด้วย

             นายอมรเทพกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ภาครัฐต้องมาพิจารณาว่า “นโยบายที่ทำเกาถูกที่คันหรือไม่” นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการประคองกำลังซื้อระดับล่างเท่านั้น ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จำเป็นเพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยปัญหาจริง ๆ อยู่ในระดับล่าง ขณะที่ “ชิม ช้อป ใช้” เป็นลักษณะให้เงิน อาจทำให้ประชาชนเสพติด ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก อาจกระตุ้นกำลังซื้อ แต่น่าจะมีมาตรการอื่นควบคู่ด้วย อย่างเฟส 3 ไม่ได้แจกเงิน แต่สนับสนุนให้คนออกมาใช้จ่ายจริง ๆ ให้เกิดการหมุนของเงินก็น่าสนใจ

 

             เอกชนลงทุนติดลบ-แรงงานรายได้ลด

             นายอมรเทพกล่าวว่า ความเสี่ยงภาคเศรษฐกิจไทยวันนี้ คือ หยุดลงทุนเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการค้าโลก ขณะที่กำลังการผลิตยังเหลือ ครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงว่าลงทุนภาคเอกชนจะติดลบ มีโอกาสฉุดรายได้นอกภาคเกษตร ทั้งเรื่องของรายได้โอทีจะลดลงต่อในปีหน้า

             ปัญหาสงครามการค้าจะลามถึงเศรษฐกิจในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนที่จะอ่อนแอลง เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนยังคงอ่อนแอ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากรายได้นอกภาคเกษตรจากการตัดโอทีทำให้กำลังซื้ออ่อนแอลง

             “ปี 2563 ตัวขับเคลื่อนสำคัญคงจะฝากความหวังไว้ที่นโยบายการคลัง ทั้งงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายได้มากขึ้น และการลงทุนที่น่าจะมีประสิทธิผลมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญนโยบายการคลังไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่จะต้องอัดฉีดมากขึ้น แต่เป็นเรื่องประสิทธิภาพในการใช้นโยบาย”

 

             ไทยลงทุนต่ำ-บาทแข็งที่สุดในปฐพี

             นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาการลงทุนของไทยชะลอตัวลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บาทแข็งค่า โดย 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เทียบกับสกุลเงินทั่วโลกพบว่า เงินบาทแข็งค่าถึง 20% เรียกว่า “แข็งที่สุดในปฐพี” ส่งผลให้สินค้าไทยที่ไปซื้อขายกับประเทศต่าง ๆ แพงขึ้นราว 20% ทำให้กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน

             ขณะที่ “การบริโภค” หรือกำลังซื้อในประเทศปีนี้อ่อนแอลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ที่ปีนี้ยอดขายโตติดลบ ทำให้การบริโภคโตหนืดลง ส่งผลไปยังยอดขายตามร้านค้า ร้านอาหารด้วย สิ่งที่ห่วงคือเมื่อบริษัทเหล่านี้ลดกำลังผลิต จะกระทบแรงงาน ตั้งแต่ลดโอที ระยะหลังจะเป็นการปรับลดกำลังคน ให้หยุดงานมากขึ้น ข่าวปลดคนงานเริ่มเยอะขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจจากปลายปีนี้เข้าไปสู่ต้นปีหน้า

 

             ความเสี่ยงระยะปานกลางถึงยาว

             นายพิพัฒน์มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563 มีความเสี่ยงเติบโตช้า มีปัจจัยความไม่แน่นอนสูง อย่างสงครามการค้าที่มีโอกาสที่จะจบหรือไม่จบก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงกับเมกะเทรนด์เรื่องของการดิสรัปชั่น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมและการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฏจักรภาคธุรกิจ

             “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างประชากรที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด และการบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่สามารถทำตัวแบบเดิม ๆ ได้ อย่างเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งผลกระทบอาจไม่ได้มาจากเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระทบการทำธุรกิจเช่นกัน เช่น สื่อ ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินก็ได้รับผลกระทบ”

 

             “ศุภวุฒิ” เสี่ยงเศรษฐกิจไหลลงต่อ

             นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร (KPP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายในงานสัมมนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ว่า เศรษฐกิจโลกตามที่ IMF ประเมินล่าสุดชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของโลกอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่คาดหวังว่าในปีหน้าสงครามการค้าจะคลี่คลาย รวมถึงคาดว่าภาคบริการและบริโภคของอเมริกาจะยังสามารถยันเศรษฐกิจได้อยู่ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะฟื้นได้บ้าง แต่เป็นการฟื้นตัวแบบ “precarious” หรือหมิ่นเหม่ คือยังไม่ค่อยมั่นใจ

             อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกไม่เริ่มฟื้นตัวช่วงกลางปีหน้า แนวโน้มก็จะไหลลงต่อ เพราะส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 และเริ่มมีทิศทางฟื้นตัว แต่หากกลางปีหน้าไปแล้วไม่ฟื้น เชื่อว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย “จากความไม่แน่นอนต่าง ๆ และการเมืองของสหรัฐช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีอาจส่งผลให้นโยบายฝั่งสหรัฐยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ถ้าทรัมป์ต้องการหาเสียงว่าเขาเข้มกับจีน และให้ขึ้นภาษีนำเข้าอีกรอบ ยิ่งทำให้เกิดความผันผวนและเศรษฐกิจม้วนเป็นขาลงต่อไปได้”

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562