เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ภัยแล้งซัดเคลมนาข้าว 555 ล. ประกันปาดเหงื่อรอลุ้นน้ำท่วม

ข่าววันที่ : 7 ต.ค. 2562


Share

tmp_20190710093141_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 ต.ค. 2562

          สมาคมประกันวินาศภัยไทย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร ตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือแล้ว รวม 2 ครั้ง จำนวน 555 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 5.19 แสนไร่ โดยเกษตรกรได้รับเงินค่าสินไหมแล้ว 88,503 ราย จังหวัดที่ได้รับความเสียหายสูงสุด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงรายและเพชรบูรณ์ ตามลำดับ


          เหล่านี้แค่เฉพาะเคลมจากภัยแล้งเท่านั้น ยังไม่นับเคลมจากภัยพิบัติน้ำท่วมที่เพิ่งเกิดล่าสุด เกือบ 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคอีสานและเหนือตอนล่าง ซึ่งแม้ส่วนใหญ่ในหลาย ๆ จังหวัดเข้าสู่ช่วงเตรียมฟื้นฟูหลังน้ำลดแล้วก็ตาม โครงการประกันภัยข้าวนาปีและพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ สำหรับปีนี้ คงจะไม่คุ้มทุนตามที่ภาคธุรกิจเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นเช่นเดียวกัน เพราะเป็นโครงการที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือ ซึ่งธุรกิจปฏิเสธยากมาก


          นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่าตามที่สมาคมโดยบริษัทประกันภัย 24 แห่ง ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ซึ่งล่าสุด สมาคมได้รับรายงานข้อมูลรับประกันภัยในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2562 ของทุกภาค (ยกเว้นภาคใต้ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภัย 15 ธ.ค. 2562)


          ผลปรากฏว่าการรับประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) มีพื้นที่เอาประกันภัยทั่วประเทศ 27.99 ล้านไร่ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,379 ล้านบาท และการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) มีพื้นที่เอาประกันภัย 2.43 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัยรับรวม 30.59 ล้านบาท รวมการรับประกันภัยทั้งสองส่วน (Tier 1+Tier 2) มีพื้นที่เอาประกันภัยรวม 30.42 ล้านไร่ คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,410 ล้านบาท


          สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ผลผลิตทางเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก สมาคมในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี จึงเร่งประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร สรุปยอดข้อมูลความเสียหายเพื่อจ่ายค่าสินไหมให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่เหล่านี้ โดยมียอดจ่ายสินไหมไปแล้ว รวม 2 ครั้ง (ข้อมูล ณ 25 ก.ย. 2562) จำนวนกว่า 555 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 5.19 แสนไร่ ใน 8 จังหวัด รวมจำนวนเกษตรกร 88,503 คน


          แยกเป็นการจ่ายสินไหมทดแทน 2 ส่วน คือ การประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) 532 ล้านบาท และประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) 23.18 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับค่าสินไหมสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย และเพชรบูรณ์ ตามลำดับ ซึ่งสมาคมได้โอนเงินสินไหมให้กับเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรียบร้อยแล้ว


          นายอานนท์ กล่าวว่าโครงการประกันภัยข้าวนาปี เกิดมาจากการที่รัฐบาลมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตางธรรมชาติ โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปีการผลิต 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงระบบประกันภัยพืชผล (Agriculture Insurance) และตระหนักถึงประโยชน์ของการนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง


          โครงการประกันภัยข้าวนาปี จึงเริ่มจากการมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2554 เพียง 1.06 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 1.69% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ กระทั่งปี 2561 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเข้าโครงการ จำนวน 27.59 ล้านไร่ คิดเป็น 51.24% ของพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด นับจากเริ่มโครงการปี 2554-2561 รวมเป็นเวลา 8 ปี คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 5,930 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 11 มี.ค. 2562) จึงถือว่าโครงการประกันภัยข้าวนาปีนั้น สามารถช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


          รวมทั้ง สมาคมได้พัฒนาระบบการจ่ายสินไหมให้กับเกษตรกรโดยเชื่อมข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี กับ ธ.ก.ส. และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พร้อมกับการประเมินความเสียหายรายแปลงในพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ กับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้สมาคมสามารถจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดีมาตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา


          สำหรับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและพายุโซนร้อนคาจิกิที่ผ่านมาในเกือบ 30 จังหวัดทั่วประเทศจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางสมาคมมีความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยได้ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการสรุปยอดความเสียหายและพร้อมจ่ายค่าสินไหมให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติในครั้งนี้อย่างรวดเร็วต่อไป


          โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีบริษัทประกันภัย 24 แห่ง เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ กรุงเทพประกันภัย, กรุงไทยพานิชประกันภัย, จรัญประกันภัย, เจพีประกันภัย, ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย), ทิพยประกันภัย,เทเวศประกันภัย, ไทยพัฒนาประกันภัย, ไทยไพบูลย์ประกันภัย, ไทยศรีประกันภัย, นวกิจประกันภัย, นำสินประกันภัย, บางกอกสหประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, ฟอลคอนประกันภัย, มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์, เมืองไทยประกันภัย, วิริยะประกันภัย, อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย, สยามซิตี้ประกันภัย, สินมั่นคงประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย, แอกซ่าประกันภัยและแอลเอ็มจีประกันภัย


          ทั้ง 24 บริษัทเหล่านี้ เป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งปีนี้ได้พัฒนาให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายเบี้ยประกันภัยและสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้นและมีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” อีก 1 ภัย จากเดิมที่ครอบคลุม 7 ภัย ได้แก่ ภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแบ่งการรับประกันภัยเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การรับประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) เบี้ยประกันภัย 85 บาท/ไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (ซึ่งเบี้ยประกันภัยลดลงจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่) โดยมีวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่


          ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาท/ไร่ และการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) คิดเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย คือ ถ้าเป็นพื้นที่สีแดง มีความเสี่ยงสูง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาสและพัทลุง คิดเบี้ยประกันภัย 25 บาท/ไร่, พื้นที่สีเหลือง มีความเสี่ยงภัยปานกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี บึงกาฬ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุโขทัย อ่างทอง และ อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 15 บาท/ไร่ และพื้นที่สีเขียว 56 จังหวัดที่เหลือจ่ายเบี้ยประกันภัย 5 บาท/ไร่ โดยมีวงเงินคุ้มครองส่วนเพิ่ม 240 บาท/ไร่ และภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาท/ไร่


          ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัยทั้ง Tier 1 และ Tier 2 ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองรวม 1,500 บาท/ไร่ และ 750 บาท/ไร่ จากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  : นสพ.ดอกเบี้ยธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 - 13 ต.ค. 2562