เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ระวังเงินร้อน ทะลักตลาดหุ้น

ข่าววันที่ : 5 ส.ค. 2562


Share

tmp_20190508095829_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 5 ส.ค. 2562

          กูรูจับท่าที "บอร์ดกนง." ในการประชุม 7 ส.ค. หลังเฟดลดดอกเบี้ยลง 0.25% เตือนระวังเงินร้อนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่และไทยเป็นรายสัปดาห์ ชี้บาทอ่อนระยะสั้น ผู้ส่งออกอย่าชะล่าใจ เผย 7 เดือนต่างชาติขายตราสารหนี้สุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท
          การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบเกือบ 11 ปีนับจากปี 2551 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ แม้จะไม่ปรากฏสัญญาณใดๆ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่บ่งชี้ถึงโอกาสในการลดดอกเบี้ยครั้งต่อไป แต่ก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในรอบ 2 ปี ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.4% จากสิ้นปี 2561 ที่เคลื่อนไหวในระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์มาอยู่ที่ 30.88 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ขณะที่ยอดคงค้างการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติลดลง 13,354 ล้านบาทจากสิ้นปีก่อนมาอยู่ที่ 9.73 แสนล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสะสม 58,986 ล้านบาทนั้น
          สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5 ของปี 2562 จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งตลาดการเงินคาดการณ์ว่ากนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อไปจากความกังวลต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นเป็นหลัก ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ก็อาจจะไม่มีน้ำหนักพอ เพราะการลดดอกเบี้ยอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้แต่จะเพิ่มความเสี่ยงในเศรษฐกิจระยะยาว ขณะที่ธปท.ยังมีเครื่องมือทางการเงินอื่น นอกเหนือจากดอกเบี้ยนโยบายที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ระยะสั้นที่อาจจะติดตามสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ว่า สินทรัพย์ต่างๆจะปรับฐานจากคาดการณ์เดิมอย่างไร หลังจากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ขณะเดียวกันมีความไม่แน่นอนว่า "เฟด" จะยืนดอกเบี้ย โดยปรับลดเพียง 1 ครั้งจะเพียงพอหรือไม่ เพราะมีความผันผวนที่รออยู่ในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่จะทยอยออกมา หากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนไม่มีผลหารือเชิงบวก
          "เฟดออกมาเบรกคาดการณ์ของตลาด โดยลดดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2562 และประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณจะปรับลดดอกเบี้ยเป็นชุดๆในรอบต่อไป ทำให้ตลาดเบรกทำกำไรระยะสั้น แต่แนวโน้มความไม่แน่นอนอาจส่งผลให้เป็นไปได้ที่จะเห็นทั้งเงินทุนไหลออกและไหลเข้า จากช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ต่างชาติขายพันธบัตรแล้ว 1.33 หมื่นล้านบาท และเข้าซื้อหุ้นสะสม 5.89 หมื่นล้านบาท"
          ส่วนแนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาติจะขึ้นกับเหตุการณ์หลังจากนี้ซึ่งต้องติดตามเป็นรายสัปดาห์ ขณะที่ระยะกลางและระยะยาวตลาดยังกังวลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญ ภาคธุรกิจไทยที่ส่งออกอย่าชะล่าใจว่า เงินบาทอ่อนค่า เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาตรงกันข้ามย่อมส่งให้เงินดอลลาร์มีโอกาสกลับมาอ่อนค่าลงได้อีก
          นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลกลุ่มงานโกลบัลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่แบ่งรับแบ่งสู้เรื่องดอกเบี้ย แต่ตลาดรอดูตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯที่จะออกมาในคืนวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 หากมากกว่าตลาดคาด เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง โดยในช่วงที่เหลืออีก 5 เดือนก่อนสิ้นปีนี้ เงินลงทุนต่างชาติยังผันผวนพอสมควร ขณะที่ประชุมกนง.ทั้งปีนี้เชื่อว่ากนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ และตลาดเฝ้าติดตามทิศทางเฟดในระยะต่อไป และการหารือการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2562  รวมถึงปัจจัย Brexit และดูมาตรการรัฐบาลในประเทศไทยด้วย
          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ปัจจัยภายในประเทศที่ต้องติดตามคือ จับตาที่ประชุมกนง.วันที่ 7 สิงหาคมว่า จะสื่อสารอย่างไร แม้จะไม่ลดดอกเบี้ยในรอบดังกล่าว แต่ท่ามกลางความผันผวนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเฟดปรับลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้า กนง.จะรับมืออย่างไร
          "นักลงทุนให้น้ำหนักการลดดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต ซึ่งต้องระมัดระวังเงินร้อนที่พร้อมจะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ขณะที่ตลาดยังหวังผลเจรจาสหรัฐฯกับจีนในเดือนกันยายน ซึ่งการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยแล้วเตรียมขึ้นภาษีตอบโต้จีน โดยหวังว่า ผลการเจรจาทางการค้าจะไม่กระทบเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯรุนแรงในอนาคต"
          'ท่ามกลางความผันผวนและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ กนง.จะรับมืออย่างไร'


ที่มา  :  ฐานเศรษฐกิจ  วันที่ 5 สิงหาคม 2562