เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

"ฟอร์จูน พาร์ท" วอน ธปท. ดูแลเสถียรภาพค่าเงิน "บาทแข็ง" กดดันกำไร บจ.

ข่าววันที่ : 25 มิ.ย. 2562


Share

tmp_20192506084426_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 25 มิ.ย. 2562

          บจ. โอดพิษ "บาทแข็ง" ฉุดผลดำเนินงาน "ฟอร์จูน พาร์ท" วอน "แบงก์ชาติ" ดูแล ย้ำเงินบาทแข็งสุดในอาเซียนแล้ว ชี้กระทบการลงทุนโดยตรง เหตุต่างชาติเมินใช้ไทยเป็นฐานส่งออก ด้าน "เดลต้า" ยอมรับกระทบผลดำเนินงาน ไตรมาส 2 ส่อขาดทุนค่าเงิน ด้าน"จีเอฟพีที" เร่งทำเฮดจิ้ง 100%

          เงินบาทยังคงทยอยแข็งค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดวานนี้(24มิ.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 30.76 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังคงเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการ ส่งออก ยอมรับว่าได้รับผลกระทบที่มากขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแล

          นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการ ผู้จัดการ  บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้(FPI) กล่าวว่า เงินบาทไทยถือเป็นสกุลที่แข็งค่าสุดในอาเซียน กระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันที่ลดลง และยังกระทบต่อการตัดสินใจ เข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติด้วย โดยเฉพาะรายที่หวังจะใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกสินค้า จึงอยากให้รัฐบาลและ ธปท. เข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท "อยากให้ธปท.เข้ามาดูแลเสถียรภาพ ค่าเงินบาท เพราะตอนนี้แข็งค่าสุดในอาเซียน ซึ่งถ้าเราแข็งแล้วคนอื่นแข็งด้วย ผู้ส่งออกก็ไม่เดือดร้อน แต่ตอนนี้เราแข็งสุดในอาเซียน ทำให้ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนเพื่อใช้เราเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก แต่จะหันไป ลงทุนในประเทศอื่นแทน ทำให้เราเสียประโยชน์" นายสมพล กล่าว

          สำหรับบริษัท ได้รับผลกระทบจาก ค่าเงินบาทแข็งพอสมควร  เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกที่สูงปีนี้คาดอยู่ที่ 83 % และบริษัทได้มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินอยู่ที่ 2-3 เดือน เพราะค่าเงินบาทนั้นมีความผันผวนสูง แต่จากปีนี้บริษัทได้มีการลดต้นทุนการดำเนินงานต่อเนื่อง และ มีการเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่ม เนื่องจากได้งานโปรเจคใหม่เข้ามาเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของบริษัทลดลง

          ขณะที่มีมาร์จินที่สูงขึ้น และบริษัทเพิ่มการขายในประเทศมากขึ้น เป็น 16-17 % จากปีก่อนที่ 15 % จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้าช่วยเรื่องผลกระทบค่าเงินบาทได้ ดังนั้นมั่นใจว่า รายได้และกำไรปีนี้ของบริษัทจะปรับตัว สูงขึ้น จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,982.14 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ที่ 125 ล้านบาท


          นายอนุสรณ์  มุทราอิศ กรรมการ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบ ต่อผลประกอบการของบริษัทโดยตรง ซึ่งอาจกดดันกำไรงวดไตรมาส 2 ปี 2562 ที่อาจปรับลดลงด้วย เนื่องจากบริษัทมีรายได้ เกือบ 100% ในรูปเงินดอลลาร์ จึงทำให้บริษัทอาจมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (Fx) ส่วนมาตรการรับมือเงินบาทที่แข็งค่านั้น ที่ผ่านมาบริษัทพยายามให้ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่างๆ อยู่ในรูปของค่าเงินดอลลาร์ทั้งหมดทั้งในส่วนของการซื้อวัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ ที่เป็นเงินดอลลาร์ แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายบางส่วน ที่ยังเป็นสกุลเงินบาทอยู่ เช่น เงินเดือนพนักงานและต้นทุนค่าน้ำค่าไฟที่มีโรงงานอยู่ในไทย  บริษัทไม่ได้กังวลหรือเป็นห่วงเรื่องอัตรา แลกเปลี่ยนมากนัก เนื่องจากการดำเนินธุรกิจยังคงซื้อขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์ แต่การบันทึกงบโดยแปลงรายได้เป็นสกุลเงินบาทอาจทำให้บริษัทขาดทุนแค่ทางบัญชีเท่านั้น

          ส่วนแนวโน้มผลประกอบการทั้งปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ที่จะเติบโต 10-15% จากปีก่อนที่ทำได้ 53,937 ล้านบาท เนื่องจากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีอัตราการเติบโตดีและยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ประเภทระบบเครือข่าย Network System ที่ปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

          นางสาวจุฑามาส อิงโพธิ์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.จีเอฟพีที(GFPT) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจมีผลกระทบ ต่อบริษัทบ้าง เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วน รายได้จากการส่งออกราว 25% ของรายได้รวม ทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริษัทก็มีค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นสกุลเงินดอลลาร์จากการนำเข้า วัตถุดิบกากถั่วเหลืองในมูลค่าที่ใกล้เคียงกันเลยทำให้ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่มากนัก

          ทั้งนี้ในส่วนของการรับมือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นอกเหนือจากการบริหารรายได้และรายจ่ายให้อยู่ในสกุลเงินเดียวกัน (Natural Hedge) แล้ว บริษัทยังได้มีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) ในสัดส่วนเต็ม 100%

 

ที่มา  : กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 25 มิถุนายน 2562