เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

บทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

ข่าววันที่ : 19 มี.ค. 2562


Share

tmp_20191903092711_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 19 มี.ค. 2562

          ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

          บทบาทสถาบันการเงินของรัฐมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติมาโดยตลอด ยิ่งในยุคหลังๆ ยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่เดิมมาสถาบัน การเงินของรัฐมีหน้าที่ลดช่องว่างทาง การเงินช่วยรัฐพัฒนาระบบการเงินของประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

          แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐทำหน้าที่ที่หลากหลายมากขึ้นและไม่ใช่แค่การกระตุ้นระบบเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่รวมถึงการสนองนโยบายรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ การกระตุ้น เศรษฐกิจระยะยาว และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงแก้ปัญหาความยากจนก็เป็นบทบาทที่เห็นได้จากสถาบันการเงินของรัฐด้วย

          โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของความมุ่งมั่น ที่จะแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งมีธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. เป็นแกนหลัก มี ผู้มาลงทะเบียนทั้งประเทศกว่า 11 ล้านราย

          โดยในส่วนของธนาคารออมสินได้กำหนดเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน  ซึ่งภายในปี 2563 คาดว่าจะสามารถพัฒนาผู้มีบัตรได้กว่า 1 ล้านคน ผ่านกลไก 3 สร้าง  "สร้างความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ สร้างตลาดเพื่อเป็นแหล่งหารายได้ และสร้างประวัติทางการเงินเพื่อให้มีเครดิตในการใช้บริการทางการเงินกับสถาบันการเงิน"ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืน  ซึ่งผลลัพธ์จากโครงการนี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งด้วยจำนวนผู้ที่ถือบัตรที่ได้รับการพัฒนาและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

          โดยผลประเมินของธนาคารออมสินที่สำรวจจากผู้ถือบัตรที่พัฒนาแล้ว 502,586 ราย พบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.05 และเป็นผู้ถือบัตรที่มีรายได้ปี 2561 พ้นเส้นความยากจน (รายได้มากกว่า 30,001-100,000 บาท/ปี) จำนวน  ถึงร้อยละ 38.99  เป็นผู้ถือบัตรที่มีรายได้หลุดพ้นจากเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อย (รายได้มากกว่า 100,001 บาท/ปี) ถึงร้อยละ 9.44    ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยคุณภาพชีวิตคนฐานรากปี 2561 ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสิน ที่ระบุว่า ประชาชนฐานรากมีดัชนีคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 0.7180  โดยกลุ่มผู้ถือบัตรที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสินมีดัชนีคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 0.6385 และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีคุณภาพชีวิตในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นลูกค้าธนาคารออมสินพบว่ามีดัชนีคุณภาพชีวิตอยู่ที่ 0.6392 สูงกว่ากลุ่มผู้มีบัตรที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคาร

          นอกจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว  ยังมีโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบที่รัฐมอบหมายให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ป็นแกนกลางในการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ  โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ  เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบที่มีภาระดอกเบี้ยสูงซึ่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยในส่วนของธนาคารออมสินพบว่ามีผู้มาขอสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบรวม 281,264 ราย จากผู้ลงทะเบียน 519,087 ราย โดยธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อให้ 258,725 ราย  คิดเป็นเงินกว่า 23 ล้านบาท

          ขณะที่ในส่วนของการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว  สถาบันการเงินเฉพาะกิจก็ได้รับมอบหมายให้ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย โดยมีกลไกสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตเข้มแข็ง พัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินนอกจากการสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการในเรื่องของเงินทุนแล้ว  ยังมีการบ่มเพาะแนวคิด สร้างเครือข่าย และต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหอการค้าจังหวัด  โดยมีศูนย์ธุรกิจ SMEs ของธนาคารออมสินทั่วประเทศ ช่วยหนุนเสริมให้ธุรกิจ SMEs แจ้งเกิดได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน  ดังนั้นหากจะฟันธงว่าปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐเป็นกลไกของการเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติในทุกภารกิจก็ไม่น่าจะผิดจากความเป็นจริง

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 19 มีนาคม 2562