เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เทคนิคการใส่ปุ๋ย "ชมพู่พันธุ์สตรอเบอร์รี่"

ข่าววันที่ : 14 มี.ค. 2562


Share

tmp_20191403133156_1.png

วันที่ ปรับปรุง 14 มี.ค. 2562

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ รายงาน

          "ชมพู่พันธุ์สตรอเบอร์รี่" เป็นชมพู่สายพันธุ์จากไต้หวันที่ สวนคุณลี อ.เมือง จ.พิจิตร โทร. 08-1886-7398 นำเข้าสายพันธุ์เข้ามาปลูกในประเทศไทยมาหลายปี จนประสบผลสำเร็จ ในการปลูกเพื่อจำหน่ายผล ได้ กก. ละ 200 บาทออกจากสวน โดยลักษณะเด่นของชมพู่พันธุ์สตรอเบอร์รี่ คือ รสชาติหวานกลมกล่อม ผลใหญ่ 4-6 ผลต่อกิโลกรัม ติดผลดกมาก ผิวผลสีแดงสด แต่ชมพู่จะอร่อยคุณภาพดี ผู้ปลูกจะต้องรู้จักการห่อผลและใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมแก่ต้นชมพู่ โดย การห่อผลทำให้ผิวสวยป้องกันการทำลายจากแมลงวันทอง ก่อนห่อผลจะฉีดพ่นฮอร์โมนช่วยบำรุงดอก เช่น โบร่า เพื่อช่วยผสมเกสรง่ายและติดผลดก ฉีดพ่นสัก 3 ครั้ง คือ ช่วงเริ่มออกดอก ดอกเริ่มบาน และ หลังเกสรดอกเริ่มโรย การห่อผลชมพู่ จะทำควบคู่กับการปลิดเลยในเวลาเดียวกัน ในการห่อผลนี้เกษตรกรจะเลือกถุงพลาสติกแบบมีหูหิ้วสีขาวขุ่นเจาะ 3-6 รู เพื่อให้น้ำออกและระบายอากาศ ก่อนห่อคุณสำเริง จะใช้วิธีฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง คือ สารไซเพอร์เมททริน อัตรา 10 ซีซี เพื่อฆ่าแมลงศัตรูที่อาจจะเกาะที่ผล เช่น เพลี้ยไฟ+ฮอร์โมน จิบเบอเรลลิน อัตรา 2 ซีซี เพื่อทำให้ทรงผลชมพู่ยาวและขยายขนาดผล+สารแคลเซียม 30 ซีซี เพื่อช่วยบำรุงผล ผสมทั้งหมดในน้ำ 5 ลิตร โดยจะแบ่งใส่ในกระบอกฉีดน้ำหรือฟ็อกกี้

          เมื่อปลิดผลเสร็จ จะฉีดด้วยสารและฮอร์โมนดังกล่าว แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกมีหูหิ้ว ขนาด 7x15 นิ้ว โดยจะผูกปากถุงด้วยเงื่อนชั้นเดียว การคัดเลือกไว้ผลต่อช่อนั้น แนะนำว่าควรเลือกไว้ผลที่ทรงสวยที่สุดเพียง 3-5 ผลต่อช่อเท่านั้น ถ้าไว้จำนวนผลต่อช่อมากกว่านี้จะทำให้ผลชมพู่มีขนาดผลเล็ก หลังจากห่อผลได้ราว 1 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวชมพู่ขายได้ ซึ่งรวมเวลาตั้งแต่แทงช่อดอกจนเก็บเกี่ยวได้จะใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือนพอดี การเก็บเกี่ยวหากทิ้งชมพู่ไว้เกินอายุการเก็บเกี่ยวจะทำให้ผลชมพู่แตกหรือร่วงเสียหายได้ การเก็บนั้นควรใช้กรรไกรตัดขั้ว จะสะดวกและรวดเร็ว จะเก็บมาทั้งถุงที่ห่อชมพู่แล้วใส่เข่งที่กรุด้วยกระสอบปุ๋ย เพื่อป้องกันความคมของภาชนะที่จะทำให้ผิวชมพู่บอบช้ำได้ จากนั้นจึงทำการคัดเลือกชมพู่ โดยเริ่มที่แกะถุงห่อชมพู่ออก คัดคุณภาพโดยคัดผลแตก ผลเป็นโรคและแมลงทำลาย ทั้งนี้รวมทั้งผลที่มีรูปร่างผิดปกติออก คัดขนาด

          เรื่องของการให้ปุ๋ยและน้ำมีความสำคัญมาก ช่วงติดผลจะเน้นการให้ปุ๋ยน้อยแต่ให้บ่อยครั้ง อย่างที่สวนคุณลี จะใส่ปุ๋ยทุก ๆ 10 วัน จะเน้นปุ๋ยที่มีสูตรตัวกลางและตัวหน้าสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากปุ๋ยที่มีตัวหน้าจะช่วยขยายขนาดผล ส่วนสูตรตัวท้ายสูงจะช่วยเรื่องของความหวาน การให้น้ำก็ต้องให้อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของผลชมพู่ จนสังเกตว่าผลชมพู่มีขนาดใหญ่ สีผิวเริ่มเปลี่ยนสี ก็จะหยุดการให้น้ำหรือประมาณ 7-10 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยว หรือถ้าหากมีผลชมพู่หลายรุ่นบนต้นก็ควรลดปริมาณการให้น้ำลง เป็นต้น

          ช่วงพัฒนาผล หลังจากชมพู่ติดผลแล้วนั้น ผลจะมีการพัฒนาในระยะแรก จะมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 + 15-0-0 อัตรา 1 ต่อ 1 ส่วน ผสมปุ๋ยให้เข้ากัน ให้ปริมาณ 200-300 กรัม/ต้น ตามขนาดต้น หลังผลใหญ่ขึ้นแล้วก่อนที่เก็บผล 1 เดือน เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง เช่น สูตร 13-13-21, 19-9-34, 13-10-21 ปริมาณ 300-500 กรัม/ต้น และสามารถใส่ได้ทุกเดือนในช่วงที่เลี้ยงผล ส่วนปุ๋ยทางใบ จะใช้ปุ๋ยที่เพิ่มคุณภาพผล เช่น ปุ๋ยสูตร 0-0-60, ปุ๋ย "ไฮโปส" ที่ช่วยสร้างเนื้อ เพิ่มความหวาน และทำให้ชมพู่ทับทิมจันท์เข้าสี ทำให้ชมพู่สีแดงเข้มด้วย โดยจะฉีดชมพู่ตั้งแต่ห่อผลเสร็จไปตลอดทุก ๆ 7 วัน โดยอัตราที่ใช้ คือ ไฮโปส อัตรา  500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ความหวานของชมพู่จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลิตชมพู่

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 14 มีนาคม 2562