เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ขันนอตบัตรคนจน เร่งเพิ่มประสิทธิภาพ

ข่าววันที่ : 12 มี.ค. 2562


Share

tmp_20191203090750_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 มี.ค. 2562

          กนกวรรณ บุญประเสริฐ

          กระทรวงการคลังส่งสัญญาณเดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เป็นโครงการภายใต้นโยบายของรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำช่วยคนไทยที่ด้อยโอกาสทางสังคมได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน โดยเตรียมจะเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ได้พิจารณาเดินหน้าโครงการนี้ต่อเพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้แล้ว  จะทำให้การดำเนินนโยบายสวัสดิการ มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนขึ้น

          ทั้งนี้ ภาพรวมรัฐบาลได้ทำโครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐมาแล้ว 3 รอบ ใช้งบไปแล้ว กว่า 1.2 แสนล้านบาท เริ่มจากรอบแรกปี 2560 ใช้งบ 4.19 หมื่นล้านบาท มีผู้เข้าโครงการ 11.4 ล้านบาท เป็นการโอนเงินเข้าบัตรฯ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซื้อของร้านธงฟ้า ค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ค่าโดยสารรถ บขส.

          ต่อมาปี 2561 มีการลงทะเบียนรอบ 2 สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง เพิ่มอีก 3.1 ล้านคน รวมเป็นผู้ถือบัตรฯ กว่า 14.5 ล้านคน ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล รวมงบที่ใช้ในรอบนี้อีกกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และรอบที่ 3 เป็นมาตรการของขวัญปีใหม่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบ 3.87 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือผู้มีบัตรคนจนเพิ่มเติมอีก 4 มาตรการ ระหว่างเดือน ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562  ได้แก่ ช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ได้เงิน 1,000 บาท/คน จ่ายครั้งเดียว เงินช่วยค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 400 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 10 เดือน และของขวัญปีใหม่ได้หมด 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท และช่วยจ่ายค่าไฟฟ้า 230 บาท/เดือน  ค่าน้ำประปา 100 บาท/เดือน

          ล่าสุดทางกรมบัญชีกลาง ประเมินว่าเงินในกองทุนประชารัฐฯ จะมีไม่พอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2562 จึงได้เตรียมเสนอของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นล้านบาท ใส่กองทุนประชารัฐฯ เพื่อดูแลผู้ถือบัตรทั้ง 14.5 ล้านคน เพราะคาดว่าเงินในกองทุนจะใช้หมดภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2562 นี้

          ขณะที่ภาพรวมเงินกองทุนประชารัฐ ตามพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มาตรา 6 กำหนดให้กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้คือ เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้  เงินอุดหนุนที่รัฐจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เงินที่ได้รับจากการดำเนินงานของกองทุน  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้  เงินที่ได้รับจากต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ  เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายอื่น  ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน และเงินอื่นๆ ที่ได้รับมาเพื่อดำเนินการกองทุนนี้

          ทำให้การใส่เงินเข้ากองทุนประชารัฐในระยะนี้ จำเป็นต้องมาจากช่องทางงบประมาณเพียงอย่างเดียว เพราะยังไม่มีแหล่งเงินจากช่องทางอื่น ซึ่งสาเหตุที่ขอจัดสรรงบเพิ่มเนื่องจากรัฐบาลได้จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมหลายโครงการ จนทำให้งบที่ได้รับจัดสรรจากงบประจำปีไม่เพียงพอ ทั้งโครงการให้เงินสวัสดิการช่วงปีใหม่คนละ 500 บาท การช่วยเหลือค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท การช่วยเหลือค่าเช่าบ้านแก่ ผู้สูงอายุคนละ 400 บาท การช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมถึงมีการขยายโครงการบัตรสวัสดิการภายใต้ไทยนิยมยั่งยืนให้กับประชาชนอีก 3.1 ล้านราย และการขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการระยะสองอีก 6 เดือนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

          แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังจะพอใจผลดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ณ สิ้นปี 2561 ที่ ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ เข้าร่วมมาตรการอบรมอาชีพ 4.15 ล้านราย ติดตามผลได้ 2.6 ล้านราย ในจำนวนนี้ แยกเป็นผู้มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท/ปี 1.15 แสนราย ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท อีก 1.45 ล้านราย ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยคนให้พ้นเส้นแบ่งความยากจนได้ 1 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีกราว 1 ล้านราย  ได้ส่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เป็นผู้พัฒนาอาชีพต่อจนกว่าจะมีรายได้เกิน 3 หมื่นบาท/ปี ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรายงานผลจากมาตรการอบรมอาชีพให้ชัดเจนว่าสำเร็จมากน้อยเพียงใด

          แต่ในส่วนของการทำมาตรการของขวัญปีใหม่ชุดหลัง จนต้องเสนอขอตั้งวงเงินเพิ่มปาดหน้ารัฐบาลใหม่ยังไม่มีการประเมินผลมาตรการชุดนี้

          ซึ่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิจัย เรื่องออกแบบพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาวิเคราะห์ว่า ควรลงทะเบียนอย่างไร ให้สวัสดิการอะไรบ้าง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้มีรายได้น้อย และเป็นหลักให้การทำโครงการต่อไปในอนาคตมีหลักการที่ดีมารองรับ คาดว่าผลการศึกษาจุฬาฯ จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนข้างหน้า ทันกับที่รัฐบาลใหม่เข้ามาและการเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่พอดี

          ส่วนการลงทะเบียนรอบใหม่นั้น จะปรับเงื่อนไขบางประการ อาทิ รายได้จากเดิมกำหนดเป็นต่อหัวไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี และอาจจะเปลี่ยนเป็นรายได้ของครอบครัวแทน หลังพบบางบ้านมีคนลงทะเบียนถือบัตรกัน 3-4 คน/ครัวเรือนอย่างไรก็ดี ในการเดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไปในอนาคต ควรมีการคัดกรองคนลงทะเบียน 14.5 ล้านคน ที่มาลงทะเบียนในรัฐบาลนี้ก่อนว่า มีใครควรออกจากเกณฑ์การได้รับความช่วยเหลือเพราะมีรายได้หลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนแล้วบ้าง และควรเพิ่มการคัดกรองคนที่ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในรอบแรก

          เพราะหากมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบใหม่เพิ่ม ก็ยิ่งจะเพิ่มจำนวนคนเข้ามารับสวัสดิการเพิ่ม ทำให้เป็นภาระต่องบประมาณมหาศาล ที่ผ่านมาใช้เงินเป็นแสนล้านบาทในช่วงไม่ถึง 2 ปี ซึ่งเชื่อว่าจากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาโครงการให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่การหว่านเงินเพื่อหาเสียง เพราะหากวางหลักการไว้ไม่ดี จะกลายเป็นช่องให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไป ทำโครงการนี้เพื่อหาเสียง จนผิดวัตถุประสงค์ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 12 มีนาคม 2561