เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ธพว. วางเป้าลด "เอ็นพีแอล" ต่ำ 10%

ข่าววันที่ : 8 มี.ค. 2562


Share

tmp_20190803103253_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 8 มี.ค. 2562

          ธพว. ตั้งเป้าลดสัดส่วนเอ็นพีแอลปีนี้ต่ำกว่า 10%  จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 14%   เผยมีแผนขายหนี้ออกกว่า  8 พันล้าน พร้อมปรับขั้นตอนบริหาร เอ็นพีแอล หยุดต่ออายุการปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้เกิน 15 ปี หากครบกำหนดดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งฟ้องร้องและขายทรัพย์ทอดตลาดทันที

          นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)  เปิดเผยว่า  ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลให้ต่ำกว่าระดับ 10% หรือ ให้ยอดคงค้างเอ็นพีแอลลงไปอยู่ที่ ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน ที่สัดส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่กว่า 14% มียอด คงค้างเอ็นพีแอลรวม 1.7 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารอยู่ระหว่างการขายหนี้เสียทอดตลาดให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์นำไปบริหารต่อกว่า 3 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างการบังคับคดียึดทรัพย์และ ขายทอดตลาดอีกกว่า 5 พันล้านบาท

          ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีการปรับกระบวนการบริหารเอ็นพีแอลเก่าๆ โดยการไม่ต่ออายุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับ โครงสร้างหนี้เกิน 15 ปี โดยหากครบกำหนดเตรียมดำเนินการตามกระบวนการ กฎหมายทันที ทั้งการฟ้องเรียกหลักทรัพย์ การบังคับขายทอดตลาด เพื่อให้การบริหารหนี้เสียมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการปรับประเพณีใหม่ในการบริหารหนี้ของธนาคาร เพื่อให้เกิดวินัยมากขึ้น ในการชำระหนี้ ซึ่งหากดูกลุ่มลูกหนี้ที่มี การปรับโครงสร้างหนี้เกิน 15 ปี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 3 พันล้านบาท ที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันและรอการขายทอดตลาด มาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่กว่า 2 พันล้านบาท

          "หากลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เราจะไม่ยอมให้ต่อการปรับโครงสร้างหนี้แบบยืดเยื้อไปอีก หลังจาก 15 ปี จะปล่อยให้ เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายทันที หลายคนมองว่าแบงก์รัฐยังไงก็ไม่ฟ้อง  ไม่ยึด ดังนั้นเราต้องสร้างประเพณีใหม่ ต้องมีวินัยในการอยู่ร่วมกัน ก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งลูกค้าและธนาคาร และจะช่วยลดเอ็นพีแอลเก่าที่อยู่ในพอร์ตด้วยที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.4 หมื่นล้านบาทให้ลดลงได้"


          นอกจากการปรับกระบวนการบริหารหนี้เสียแล้ว ในด้านการปล่อยสินเชื่อ ก็ต้องมีความรัดกุม รอบคอบมากขึ้น โดยปีนี้ที่ธนาคารตั้งเป้าไม่ให้เกิดหนี้เสีย เกินระดับ 0.21% หรือ 21 บาท ในวงเงินการปล่อยสินเชื่อทุก 1 พันบาท ส่วนเป้าหมายการเข้าไปปล่อยสินเชื่อปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยกู้ใหม่ 5.7 หมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยสินเชื่อผ่านสาขา 3.5 หมื่นล้านบาท และปล่อยผ่านรถบริหารเคลื่อนที่ หรือ รถม้าของธนาคาร 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนการให้บริการสินเชื่อในอนาคต ธนาคาร จะมุ่งไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้นด้วย

          ทั้งนี้ล่าสุดธนาคารได้ขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังจำนวน 8 พันล้านบาท โดยคาดว่าเงินเพิ่มทุนจะเข้ามาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ราว 4 พันล้านบาท  และอีก 4 พันล้านบาทจะเข้ามาในช่วงปีหน้า โดยวัตถุประสงค์ในการขอเพิ่มทุน ก็เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อ มากขึ้น


          ส่วนกรณีมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ปัจจุบัน ธนาคารเพิ่งมีการลงนามจัดจ้าง บริษัทภายนอกให้มีการศึกษาผลกระทบจาก IFRS9 แต่คาดว่ากระทรวงการคลังก็น่าจะผ่อนปรนในการให้แบงก์รัฐเลื่อนใช้ เกณฑ์ดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี นับจาก วันที่มีผลบังคับใช้ปี 2563 เพื่อให้แบงก์รัฐมีความพร้อมมากขึ้น


          เขากล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการสรรหา กรรมการผู้จัดการคนใหม่ หลังจาก ตนครบวาระ ขณะนี้มีผู้ที่สนใจสมัครตำแหน่งนี้ทั้งสิ้น 6 คน โดยเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด โดยคาดว่าหลังจากนี้ น่าจะเป็นกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ ดังนั้นคาดว่ากระบวนการสรรหาน่าจะจบได้ ภายในเดือนนี้
 


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 8 มีนาคม 2562