เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แนะเตรียมรับมือราน้ำค้าง ระบาดในผักกาด-กะหล่ำ

ข่าววันที่ : 14 ก.พ. 2562


Share

tmp_20191402103910_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 14 ก.พ. 2562

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ในตอนกลางคืนจะมีอากาศเย็นอุณหภูมิลดลงและตอนกลางวันมีแดดแรงกรมวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด อาทิ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า ผักกาดขาวผักกาดหอม และบรอกโคลี ให้เตรียมรับมือการระบาดของโรคราน้ำค้างที่พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืชระยะต้นกล้าใบเลี้ยงจะเกิดจุดแผลสีน้ำตาล ทำให้ลำต้นเน่าหรือแคระแกร็นระยะต้นโตจะพบอาการเริ่มแรกบริเวณด้านบนใบเป็นจุดแผลสีเหลือง หรืออาจเป็นปื้นสีเหลือง กรณีสภาพอากาศชื้นตอนเช้า ถ้าพลิกดูด้านใต้ใบมักพบเส้นใยเชื้อราสีขาวหรือเทาคล้ายปุยฝ้าย หากพบโรคระบาดรุนแรง แผลจะลามขยายใหญ่ ทำให้เนื้อใบเป็นสีน้ำตาลและแห้งตาย ส่วนในกะหล่ำดอกและบรอกโคลีถ้าพบเชื้อราเข้าทำลายรุนแรง ก้านดอกจะยืดและดอกอาจบิดเบี้ยวเสียรูปทรงได้

          เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์สะอาด มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส(ต้มน้ำจนเดือดแล้วเติมน้ำอุณหภูมิปกติลงไปผสมอีก 1 เท่า)นาน20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล 35%ดีเอส อัตรา 10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัมการปลูก ควรให้มีระยะห่างพอสมควร เพื่อให้อากาศ ความชื้นถ่ายเทได้ ไม่ให้โรคระบาดได้เร็ว หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรควรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือในแปลง และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดเชื้อราสาเหตุโรคหลีกเลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำในพื้นที่แปลงเดิม ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนและควรทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้กับต้นเป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่กับต้นปกติทุกครั้ง

          ถ้าพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นสารเมทาแลกซิล 25%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50%ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพีอัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4%ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  เว็บไซต์แนวหน้า   14 กุมภาพันธ์ 2562