เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จาก "โพนยางคำ" สู่สหกรณ์ฯ หนองสูงแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์โคขุนเกรดพรีเมียม

ข่าววันที่ : 14 ก.พ. 2562


Share

tmp_20191402102714_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 14 ก.พ. 2562

          สุรัตน์ อัตตะ
          surat_a@nationgroup.com


          "กระผมมีความยินดีที่มาเป็นประธานเปิดโรงงานแปรรูปโคขุน เห็นแล้วก็สงสารเหมือนกัน แต่มันเป็นอาหารของโลก อันนี้ก็ต้องยอมรับกันก็มีความจำเป็นเรื่องของโปรตีนอะไรต่างๆ เหล่านี้ และยินดีที่จะสนับสนุนปศุสัตว์ของมุกดาหารให้ขยายตัวก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้รับไปแล้ว"

          บางช่วงบางตอนที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับชาวบ้านที่มารอต้อนรับระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์โคขุนของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา  จากนั้นจึงเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ โคขุนคุณภาพ ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวน 27.85 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ และตัดแต่งซากสัตว์ ห้องเย็น เก็บรักษาเพื่อบ่มเนื้อ เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตเนื้อคุณภาพเข้าสู่มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) โดยมี พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ธงชัย วังวงษ์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และสมาชิกสหกรณ์ ต้อนรับ

          ธงชัย วังวงษ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ การเกษตรหนองสูง ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ ระหว่างเยี่ยมชมโรงงาน ว่า สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2528 เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ จึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านเงินทุน โดยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนาปลูกข้าว ทำไร่และสวนยางพารา

          ต่อมาในปี 2543 สหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สมาชิกหันมาเลี้ยงโคขุนคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ โดยแบ่งกลุ่มตามห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ กลุ่มผู้เลี้ยงแม่พันธุ์กลุ่มผลิตลูกโค กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนและด้านการตลาด ซึ่งแต่เดิมโคขุนที่เลี้ยงจะส่งไปชำแหละที่สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด จ.สกลนคร ต่อมาเมื่อเกษตรกรได้หันมาเลี้ยงโคขุนมากขึ้น สหกรณ์จึงสร้างโรงชำแหละของสหกรณ์เองเมื่อปี 2549 ปัจจุบันมีสมาชิกเลี้ยงโคขุนจำนวน 1,030 ราย จำนวนโคที่ขึ้นทะเบียนขุน 4,200 ตัว ซึ่งนับว่าจำนวนการเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์มีปริมาณสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและยังมีการเชื่อมโยงธุรกิจกับสหกรณ์ที่เป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงโคขุนอีก 25 แห่งใน 15 จังหวัด จำนวนผู้เลี้ยงโคขุน 2,450 ราย จำนวนโค 14,000 ตัว

          ประธานสหกรณ์การเกษตรหนองสูง เผยต่อว่า ปัจจุบันสหกรณ์ได้ขยายธุรกิจการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนและมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์โคขุนที่ได้มาตรฐานสากล สามารถส่งเนื้อโคขุนจำหน่ายให้แก่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศปีละ 3,000 ตัว และได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2565 สหกรณ์จะขยายธุรกิจ เพิ่มปริมาณการแปรรูปโคขุนเป็น 5,000 ตัวต่อปี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคขุน พันธุ์ชาโลเล่ลูกผสม พันธุ์แองกัสและวากิว ลูกผสม และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคสีดำเพิ่ม

          "จากการประเมินรายได้เกษตรกรที่เลี้ยงโคขุน 10 ตัว จะมีรายได้ประมาณ 8 แสนบาทต่อปี แต่หากมีการพัฒนาต่อยอดการส่งเสริมตลาดโคขุนภายใน 4 ปีข้างหน้าเกษตรกรที่เลี้ยงโคขุน 10 ตัวจะมีรายได้ประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อปี ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงแม่โค 5 ตัว เพื่อผลิตลูกโคขุนจำหน่าย จากเดิมมีรายได้ 142,000 บาทต่อปี ก็จะมีรายได้ขึ้นเป็น 165,000 บาทต่อปี ภายในปี 2565 ซึ่ง จ.มุกดาหาร มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนที่มีคุณภาพให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน ในขณะที่โรงงานแปรรูปโคขุนของสหกรณ์จะช่วยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์โคขุนให้เพิ่มสูงขึ้น โดย จ.มุกดาหาร จะยกระดับธุรกิจการเลี้ยงโคขุนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์โคขุนของสหกรณ์ ให้เพิ่มสูงขึ้นจาก 300 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาทต่อปี"

          อย่างไรก็ตาม ธงชัยย้ำด้วยว่าสหกรณ์จะบริหารจัดการเครือข่ายการผลิตและการตลาดโคขุน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ช่วงต้นน้ำสหกรณ์จะดูตั้งแต่สายพันธุ์ มีทั้งโคบรามันห์ แองกัส วากิว และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งการเลือกสายพันธุ์โคขุนให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นหัวใจสำคัญของการเลี้ยงโคขุนในปัจจุบัน และระดับกลางน้ำ สหกรณ์จะรับซื้อโคขุนตามคุณภาพเนื้อที่ผลิตได้ และจะทำข้อตกลงซื้อขายโคขุนกับสมาชิกล่วงหน้า เหมือนเป็นการประกันราคาให้แก่เกษตรกรว่ามีตลาดรับซื้อแน่นอน ส่วนปลายน้ำ สหกรณ์มีโรงชำแหละ โรงตกแต่งโคขุน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ อาทิ เนื้อสเต๊ก เนื้อบด เนื้อกระจก ไส้กรอก เนื้อแดดเดียว เนื้อทุบ และลูกชิ้น

          "สำหรับเนื้อสเต๊กของสหกรณ์จะมีระดับเกรดไขมันให้เลือกได้ตามความชอบ ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อและการแทรกไขมันในเนื้อ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองและอาหารนานาชาติได้อย่างดี และเชื่อมั่นว่าในอนาคตสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนให้หลากหลายมากขึ้น จนเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อสเต็กชั้นดี ซึ่งช่องทางการจำหน่ายโคขุนของสหกรณ์ ปัจจุบัน สหกรณ์ได้เปิดร้านจำหน่ายโคขุนและร้านสเต๊กบริเวณด้านหน้าสำนักงานของสหกรณ์ และส่งผลิตภัณฑ์โคขุนกระจายไปตามเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดต่างๆ ร้านอาหาร ร้านค้า โรงแรมในจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียง"
          อย่างไรก็ตามในอนาคตสหกรณ์มีแผนจะโปรโมทผลิตภัณฑ์โคขุนของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ซึ่งเป็นโคขุนที่มีคุณภาพ ผ่านโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐาน HACCP GMP และฮาลาล โดยวางแผนจะไปจัดแสดงสินค้าในสถานที่ต่างๆ และจัดกิจกรรมนำเสนอเมนูอาหารจากวัตถุดิบโคขุน พร้อมทั้งเปิดช่องทางการจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และตั้งเป้าว่าจะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายช่องทางตลาดส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย หากสนใจจะลองชิมเนื้อโคขุนของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายการตลาดของสหกรณ์ โทร.08-3624-6823, 08-1872-5136

          ธงชัยยอมรับว่าปัจจุบันการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนแก่เกษตรกรบางส่วนยังประสบปัญหาเรื่องเงินทุนอยู่บ้าง ซึ่งระยะแรกต้องมีการลงทุนสูง ดังนั้นจึงต้องเร่งส่งเสริมระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สหกรณ์มีบทบาทเข้ามาดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรที่สนใจจะหันมายึดอาชีพการเลี้ยงโคขุน ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำและสนับสนุนในด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาธุรกิจโคขุนของสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง "วันนี้การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีชื่นชม และเห็นว่าการส่งเสริมการเลี้ยงโคขุนในพื้นที่ จ.มุกดาหาร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นอาชีพที่มั่นคงและช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และ จ.มุกดาหาร กำลังได้รับการยกระดับให้เป็นแหล่งผลิตโคขุนคุณภาพดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย" ประธานสหกรณ์การเกษตรหนองสูง ย้ำทิ้งท้าย

เกษตรกรอีสานเฮ! เลี้ยงโคขุนกำไรอื้อ
          ประมวล หนองสูง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด แห่งบ้านคำพอก ต.โนนยาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงโคขุนมากว่า 5 ปีแล้ว หลังจากลาออกจากลูกจ้างฟาร์มเลี้ยงไก่ก็หันมาเลี้ยง โคเนื้อ เนื่องจากชาวบ้านในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโคเนื้อ โดยเริ่มต้นจากเลี้ยง 3 ตัว ปัจจุบันมีอยู่จำนวน 40 ตัว แบ่งเป็นโคขุน 30 ตัว และแม่พันธุ์อีก 10 ตัว โดยใช้เวลาขุนประมาณ 15 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งตัวจะโตเต็มที่ จากนั้นจึงจำหน่ายให้แก่สหกรณ์การเกษตรหนองสูงเพื่อนำไปชำแหละแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

          "ปัญหาที่เจอก่อนหน้านี้คือแม่พันธุ์เลือดยังไม่นิ่ง ทำให้ขุนไม่ได้ หรือต้องใช้เวลานานแล้วคุณภาพเนื้อก็ไม่ดีด้วย แต่ในปัจจุบันเรื่องสายพันธุ์ไม่มีปัญหาได้ลูกผสมที่เลือดนิ่งแล้วนอกจากนี้ก็เป็นเรื่องอาหารเมื่อก่อนต้องซื้ออาหารเม็ดมาเลี้ยงทำให้ต้นทุน การเลี้ยงสูง แต่ปัจจุบันได้ผลิตอาหารเอง โดยซื้อ กากถั่วเหลือง กากมันเส้นจากโรงงานเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารโค ซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุนลงไปได้มาก" ประมวล เผยกับ "คม ชัด ลึก"


          เขาระบุอีกว่า ในส่วนการจำหน่ายโคขุนให้แก่ทาง สหกรณ์นั้นสนนราคาเฉลี่ยตัวละ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ย อยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโคเนื้อ พันธุ์บรามันห์ ส่วนถ้าเป็นพันธุ์วากิวจะได้กำไรเพิ่มอีกเท่าตัวหรืออยู่ที่ตัวละ 3 หมื่นบาท

          ส่วน ประวิทย์ นามเหลา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด กล่าวถึงแผนการตลาดของสหกรณ์ว่าขณะนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง โดยช่องทางแรกเป็นการขายยกซาก ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ประมาณ 60% โดยสหกรณ์จะรับซื้อโคขุนจากสมาชิก จากนั้นก็จะมาชำแหละจากนั้นก็จะหมักไว้ประมาณ 7 วันก่อนจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่วนเหตุผลในการหมักก็เพื่อจะทำให้เนื้อมีความนุ่มมากขึ้น ส่วนช่องทางที่สองจะจำหน่ายในรูปของชิ้นส่วน ซึ่ง ส่วนนี้จะมีประมาณ 30% และสุดท้ายจะเป็นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้จะมีเพียง 10% ขณะเดียวกันในปี 2562 ทางสหกรณ์ได้เตรียมยื่นขอ มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์จีเอ็มพี โดยวางเป้าอนาคตสำหรับการส่งออกตลาดต่างประเทศด้วย


          "ปัจจุบันสหกรณ์รับซื้อโคขุนจากสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 60 ตัวต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 240 ตัวต่อเดือน หลังมีอาคารโรงงานใหม่จะเพิ่มการแปรรูปโค ขึ้นอีกเท่าตัวคือ 480 ตัวต่อเดือน โดยจะรับซื้อโคจากสมาชิกในราคา 200-290 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ราคารับซื้อจะแยกไปตามเกรดของเนื้อโคมีตั้งแต่เกรด 2 ไปจนถึงเกรด 5 ซึ่งเป็นเนื้อระดับพรีเมียมราคารับซื้อ อยู่ที่ 290 บาทต่อกิโลกรัม โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไปกรุงเทพฯ เป็นหลักประมาณ 70% ส่วนอีก 30% จะขายในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน" ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง กล่าวทิ้งท้าย


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  14 กุมภาพันธ์ 2562