เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ต้องสร้างทีมงานให้อยู่ได้ในทุกสภาวะ

ข่าววันที่ : 11 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20181112095427_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 11 ธ.ค. 2561

          ธีรพล แซ่ตั้ง
          tsctheone_t@hotmail.com

 

          ไม่มีใครที่จะสามารถ บ่งบอกอนาคต สภาวะทางเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทยได้อย่างแม่นยำทุกเรื่องทุกประเด็น สิ่งที่บรรดา กูรูผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา พอจะทำได้ก็คือ คาดการณ์ถึงความน่าจะเป็น ซึ่งถูกบ้าง ใกล้เคียงบ้าง ผิดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา
          ยิ่งในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องของโลกยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงยิ่งเร็วและแรง คาดเดายากยิ่งขึ้น ในส่วนของประเทศไทย หลังเลือกตั้งในปีหน้า การเมืองจะส่งผลกระทบด้านบวกหรือด้านลบมากกว่ากันก็ยากที่จะฟันธง
          แต่สิ่งที่คนทำธุรกิจทั่วไป รู้และต้องย้ำกับตัวเองเสมอว่า อย่ารอสภาวะ การเมืองนิ่ง อย่าพึ่งพิงรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ (ยกเว้นกลุ่มทุนใหญ่ที่มี สายสัมพันธ์กับการเมืองที่จำเป็นต้องเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกัน) ทุกคนทุกธุรกิจต่างก็ ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด เร็วที่สุด
          อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 3 เรื่องที่ เป็นเรื่องที่ "ไม่ควรทำ" และเรื่องที่ "ควรทำ" เกี่ยวกับทีมงานของท่านที่อยากจะฝากไว้ให้คิดคือ
          เรื่องที่ "ง่ายที่สุด" ที่บรรดาผู้นำองค์กร หรือผู้จัดการที่บริหารหน่วยงานมักจะรีบตัดสินใจและลงมือทันที ก็คือ การเพิ่มคนในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจดีและองค์กรมีการเติบโต ขยายตัว...
          อ่านดูแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาวะนั้นอยู่แล้วใช่มั๊ยครับ ? ในเมื่อองค์กรเติบโต งานมีมาก คนก็ต้องเพิ่มมากขึ้น.....อย่าด่วนสรุปสิครับ..อ่านให้จบแล้วคิดต่ออาจมีมุมมองใหม่ๆก็ได้นะครับ! เรื่องที่ "ยากและลำบากใจมากที่สุด" ที่บรรดาผู้นำและผู้จัดการ มักจะ ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และ "ลงมือกระทำ"กับพนักงานแทบจะทันทีก็คือ... เมื่อสภาวะเศรษฐกิจแย่หรือองค์กรเริ่มมีจำนวนคนมากกว่าปริมาณงาน หรือมีปัญหาอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่... ก็คือ การลดคน ลดพนักงาน ลดทุกชั้น ทุกแผนก จะลดแหลกทุกแผนกแบบในห้างกี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ความหนักหนาของสถานการณ์ ! (แต่ถ้าลองคิดดีๆ ปัญหาใหญ่ๆ ส่วนมากที่ทำให้องค์กรวิกฤติ เกิดจากพนักงานระดับปฏิบัติการ หรือเกิดจากระดับบริหาร ? )
          ทั้ง 2 เรื่อง ถ้าลองคิดต่อ... เรื่องแรกที่ว่าง่าย คือการเพิ่มคนตามสภาวะการเติบโต มักจะกลายเป็น เรื่องที่ "มักง่าย" ด้วยการเน้นการเพิ่มคนในเชิงปริมาณ...รับคนอย่างลวกๆ แบบสุกเอา เผากิน และมักจะอ้างว่าไม่มีเวลาในการฝึกฝน พัฒนา รับมาแล้ว ให้เรียนรู้แบบฉาบฉวย ไม่กี่วัน หรือบางที่ไม่กี่ชั่วโมง ก็ให้ลงไปลุยงานเลย !
          ผลที่ตามมาก็คือ จำนวนพนักงานมีมาก แต่คุณภาพของงานต่ำ และแทนที่พนักงานใหม่ที่รับมาจะช่วยสร้างงาน ก็มักจะสร้างปัญหาให้ตลอด เพราะความไม่พร้อมในการ รับและสร้างทีมงาน!
          ส่วนเรื่องที่สอง...ที่ว่ายากและลำบากใจ ลองคิดดีๆ ส่วนมากสาเหตุก็เกิดจาก เรื่องแรกที่มักง่ายในการรับคน เมื่อมีคนไร้คุณภาพมากกว่าคนที่มี ศักยภาพ ถึงเวลาก็ต้องลงมือ ลดคนแบบฉุกละหุก และเป็นการลดขวัญกำลังใจ ของคน(ที่ยังไม่รู้อนาคต)ว่าหวยจะออกที่ใครบ้างอีกต่างหาก !
          เราอาจจะเรียก เรื่องที่ยากและลำบากใจแบบนี้ว่าเป็นเรื่อง ที่ มักจะง่าย ในการตัดสินใจเพราะอาศัยความมักง่าย ก็น่าจะได้ใช่มั๊ยครับ?
          เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องที่ "ท้าทาย" มากที่สุด และเป็นเรื่องที่ "ควรทำ มากที่สุด" เช่นเดียวกัน ! ก็คือ การบ่มเพาะ หล่อหลอมคนที่เรามีอยู่ และสร้างกระบวนการบ่มเพาะ หล่อหลอมคนใหม่ที่จะเข้ามา โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยรูปแบบจะเน้นทั้งการ Training และ การ Coaching อย่างเป็นระบบ ในทุกระดับ และทำอย่างต่อเนื่อง ทำจนเป็นวัฒนธรรมของหน่วยงาน ขององค์กร ให้เป็น Coaching Culture Company !
          เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและวัดฝีมือของ ผู้นำ และ ผู้จัดการในยุคปัจจุบัน และอนาคต... ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพของคนที่เรามีอยู่ โดยแทบไม่จำเป็นต้องเพิ่มคน หรือถ้าต้องเพิ่มคนก็จะเพิ่มในจำนวนที่น้อย เท่าที่จำเป็น และเน้น คุณภาพ !
          สรุปแล้ว... เลิกกระทำกับพนักงานใน 2 เรื่องแรก แล้วลอง กระทำกับ พนักงานในเรื่องสุดท้าย แล้วทีมงานของท่าน จะช่วยกน่วยงานหรือองค์กร ของท่าน อยู่ได้ในทุกสภาวะ น่าจะดีกว่ามั๊ยครับ?!
          ธีรพล แซ่ตั้ง นักการตลาด รอบรู้เป็นพิเศษในการ กำหนดกลยุทธ์การตลาด การขาย การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทเลมาร์เก็ตติ้ง สแทร็ททิจี คอมมิวนิเคชั่น e-mail : tsctheone_t@hotmail.com www.thespecialistcoach.com


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 11 ธันวาคม 2561