เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หนี้พุ่ง เชื่อมั่นลด

ข่าววันที่ : 7 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20180712102008_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 ธ.ค. 2561

          ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,203 ตัวอย่างเกี่ยวกับสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 พบว่าจำนวนหนี้เฉลี่ยครัวเรือนในปี 2561 มีมูลค่า 3.16 แสนบาท/ครัวเรือน ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจเมี่อปี 2552 เพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ที่มีหนี้เฉลี่ย 2.99 แสนบาท/ครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 64.7% ลดลงจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 74.6% และหนี้นอกระบบ 35.3% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2560 มีสัดส่วน 26.4%
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนในปี 2561 จะสูงสุดนับตั้งแต่มีการสำรวจมา แต่หากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนแล้วยังไม่น่ากังวล เพราะจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการ ก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น รถยนต์ บ้าน และการลงทุนประกอบกิจการ เช่น ลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบ เป็นต้น อีกส่วนมาจากการก่อหนี้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ครัวเรือน
          นอกจากนี้ หากดูการผ่อนชำระต่อเดือนพบว่าครัวเรือนมีความสามารถในการผ่อนชำระสูงขึ้น โดยปี 2561 ผ่อนชำระเฉลี่ย 1.59 หมื่นบาท/ครัวเรือน/เดือน เพิ่มขึ้น 3.15% เทียบกับปี 2560 ที่มีการผ่อนชำระ 1.54 หมื่นบาท/ครัวเรือน/เดือน
          ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ครัวเรือนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ เช่น ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้ การดูแลค่าครองชีพและควบคุมราคาสินค้า ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แก้ไขปัญหาการว่างงานและการเสริมอาชีพ จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ และจัดการขึ้นทะเบียนคนจน เป็นต้น
          สำหรับผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,243 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยประจำเดือน พ.ย. 2561 พบว่าดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภค (CCI) อยู่ที่ 80.5 ลดจากเดือน ต.ค. 2561 อยู่ที่ 81.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน 54.3 ลดจาก 55.6 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต 92.0 ลดจาก 92.6
          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ย. 2561 เท่ากับ 67.5 ลดจากเดือน ต.ค. 2561 อยู่ที่ 68.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน 75.6 ลดจาก 76.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 98.4 ลดจาก 99
          ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลง เป็นผลจากความกังวลปัญหานักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลต่อรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สถานการณ์สงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต และราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำโดยเฉพาะราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน
          "การสำรวจรอบนี้ไม่ได้ รวมการที่สหรัฐและจีนได้เจรจาพักรบสงคราม การค้าเป็นเวลา 90 วัน รวมทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเริ่มหยุดการทรุดตัว มาตรการที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันให้เกษตรกร รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับลดลง ทำให้แรงกดดันค่าครองชีพเริ่มคลายตัว แต่กำลังซื้อก็จะยังกระจุกตัวแค่บางกลุ่ม ทำให้คนยังมองเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ เพราะหากดูจากอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย.ที่ขยายตัวไม่ถึง 1% และเงินเฟ้อพื้นฐานโตแต่ 0.7%" ธนวรรธน์ กล่าว
          อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน ธ.ค.น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากผู้บริโภครับทราบข่าวการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนที่มีท่าทีผ่อนคลายลง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยอาจจะมีแนวโน้มเดินทางมามากขึ้นจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Visa on Arrival)
          สำหรับมาตรการช็อปช่วยชาติของรัฐบาล คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากการลดหย่อนภาษีรวม 1 หมื่นล้านบาท รวมกับการเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอีก 2,000-3,000 ล้านบาท (รวมกับยอดเงินในบัตรเดิม) จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดจาก 2 ส่วนนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) เพิ่มขึ้น 0.2-0.3% ทำให้ปีนี้จีดีพีเติบโตได้ประมาณ 4.2%
          สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2562 ทางศูนย์พยากรณ์ฯ ยังมองเศรษฐกิจไทยเติบโตระดับ  4-4.5% การส่งออกเติบโต 4-6% และอัตราเงินเฟ้อ 1.2-1.7% โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเป็นหลัก หากยืดเยื้อจีดีพีจะขยายตัวในกรอบ 4-4.2% แต่หากเจรจาไม่ได้ข้อยุติและมีการขึ้นภาษีรอบใหม่ จะทำให้จีดีพีต่ำกว่า 4% โดยจะประเมินตัวเลขอีกครั้ง


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 7 ธันวาคม 2561